บทสรุปภาวะการส่งออกของประเทศไทยเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2549

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 7, 2006 14:03 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. เศรษฐกิจไทยในปี 2549  คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.7-5.7* ในขณะที่ปี 2548  GDP ไทยขยายตัวที่ร้อยละ 4.7 แต่ขณะนี้มีสถานการณ์ผันผวนด้านการเมืองตั้งแต่รัฐบาลประกาศยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถตั้งรัฐบาลใหม่ ในขณะนี้แม้การเมืองจะมีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งในวันที่ 15 ตุลาคม 2549 แต่กว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่คงจะเป็นต้นปี 2550 จึงยังไม่มีนโยบายผลักดันเศรษฐกิจในขณะนี้ อย่างไรก็ตามคาดว่าภาวะการลงทุนในภาคเอกชนจะเริ่มดีขึ้นและคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 4-4.5 ในปี 2549
2. ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสำคัญอันดับที่ 24 ของโลก ในช่วง ม.ค.-ส.ค 2548 มีสัดส่วนการส่งออกประมาณร้อยละ 1.16 ของการส่งออกรวมในตลาดโลก
3. ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าสำคัญอันดับที่ 20 ของโลก ของช่วง ม.ค.-ส.ค. 2548 มีสัดส่วนการนำเข้าประมาณร้อยละ 1.25 ของการนำเข้าในตลาดโลก
4. การค้าของไทยในเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2549 มีมูลค่า 123,145.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.37 แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 60,558.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.60 หรือคิดเป็นร้อยละ 46.48 ของเป้าหมายการส่งออกที่ 130,288 ล้านเหรียญสหรัฐ การนำเข้ามีมูลค่า 62,587.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.94 ไทยเสียเปรียบดุลการค้า เป็นมูลค่า 2,029.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
5. สินค้าส่งออกสำคัญ 50 อันดับแรกซึ่งมีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 84.33 ของมูลค่าการส่งออกเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2549 ในจำนวนนี้มีสินค้าซึ่งมีมูลค่าการส่งออกเปลี่ยนแปลงสูง ดังนี้
- ทองแดงและของทำด้วยทองแดง,ยางพารา,เลนส์,ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 90.37, 53.42, 41.19, 31.85 และ 29.93 ตามลำดับ
6. การส่งออกสินค้าไทยไปภูมิภาคต่างๆ มีสัดส่วนและภาวะการส่งออก ดังนี้
การส่งออกสินค้าไทยไปภูมิภาคต่าง ๆ
มกราคม-มิถุนายน 2549
ภูมิภาคต่าง ๆ สัดส่วน มูลค่า %
ร้อยละ (ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เปลี่ยนแปลง
1. อเมริกาเหนือ (สหรัฐฯ แคนาดา) 16.4 9,908 18.6
2. ยุโรป (สหภาพยุโรป & ยุโรปตะวันออก) 14.1 8,538 11.6
3. เอเชียตะวันออก(ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี) 17.6 10,656 10.4
4. อาเซียน (9) 21.1 12,772 11.8
5. จีนและฮ่องกง 14.2 8,572 26.8
6. อินเดีย 1.3 759 1.7
7. อื่นๆ 15.4 9,352 27.4
6.1 การส่งออกไปภูมิภาคอเมริกาเหนือ (สหรัฐฯ แคนาดา) เดือน ม.ค — มิ.ย. 2549 มีมูลค่า 9,908 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 หรือคิดเป็นร้อยละ 47.59 ของเป้าหมายการส่งออกที่ 20,819 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2549 โดยการส่งออกไปสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.25 ส่วนการส่งออกไปแคนาดาเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.45
จากสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ 50 อันดับแรกพบว่าสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมากกว่าร้อยละ 100 มี 3 รายการได้แก่ เม็ดพลาสติก เครื่องคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น และน้ำมันสำเร็จรูป สินค้าอื่นๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากว่าร้อยละ 60 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ปูนซีเมนต์ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ สินค้าส่งออกไปสหรัฐที่มีมูลค่าลดลงมากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ วงจรพิมพ์
ตลาดแคนาดา เมื่อสังเกตจากสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดนี้ในช่วง ม.ค.-มิ.ย. 2549 มีมูลค่า 597.80 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.45 จากสินค้า 50 อันดับแรกส่งออกไปแคนาดาพบว่ามีสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นในอัตราสูง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 573.30 และสินค้าอื่นที่เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรพิมพ์ โทรทัศน์อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์
6.2 ยุโรป (สหภาพยุโรปและยุโรปตะวันออก) การส่งออกสินค้าไทยไปยุโรปในเดือน ม.ค — มิ.ย. 2549 มีมูลค่า 8,538 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 หรือคิดเป็นร้อยละ 52.15 ของเป้าหมายการส่งออกที่มูลค่า 16,372 ล้านเหรียญสหรัฐ
สหภาพยุโรป (15) สินค้าไทยส่งออกไปสหภาพยุโรปในเดือน ม.ค. — มิ.ย. 2549 มีมูลค่า 7,858 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.10 จากสินค้าสำคัญ 50 อันดับแรกส่งออกไปตลาดนี้พบว่ามีสินค้าที่สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 100 มี 1 รายการ คือ ทองแดงและของทำด้วยทองแดง เพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 50 มี 2 รายการ คือ ยางพารา และเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น มากกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารกระป๋องและแปรรูป เครื่องคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น อาหารสัตว์เลี้ยง อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด และเนื้อปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า
ยุโรปตะวันออก สินค้าไทยส่งออกไปยุโรปตะวันออกในเดือน ม.ค. — มิ.ย. 2549 มีมูลค่า 679.59 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.98 สินค้าที่สามารถขยายการส่งออกไปตลาดนี้ได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 ได้แก่ วงจรพิมพ์ เตาอบไมโครเวฟและเครื่องไฟฟ้าที่ให้ความร้อน แผงวงจรไฟฟ้า ผักกระป๋องและแปรรูป ก๊อก วาวล์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรพิมพ์ โทรศัพท์และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด,ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี และอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ สินค้าที่มีมูลค่าลดลง กว่าร้อยละ 30 ได้แก่ ข้าว,มอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและน้ำตาล
ตลาดในยุโรปตะวันออกที่ไทยสามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 100 ได้แก่ คาซัคสถาน สาธารณรัฐสโลวัก และเบรารุส โดยขยายตัวร้อยละ 145.08, 196.62 และ 439.50 ตามลำดับ ส่วนประเทศที่ขยายตัวมากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ ฮังการี โปแลนด์ และจอร์เจีย ประเทศที่มีสถิติลดลง ได้แก่ สโลวิเนีย โรมาเนีย อาเมเนียและยูโกสลาเวีย เป็นต้น
6.3 เอเชียตะวันออก (ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้) การส่งออกสินค้าไทยไปยังเอเชียตะวันออกในช่วง ม.ค. — มิ.ย. 2549 มีมูลค่า 10,656 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 หรือคิดเป็นร้อยละ 44.86 ของเป้าหมายการส่งออกที่ 23,750 ล้านเหรียญสหรัฐ
ญี่ปุ่น การส่งออกสินค้าไทยไปญี่ปุ่นในเดือน ม.ค. — มิ.ย. 2549 มีมูลค่า 7,788.99 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.93 จากสถิติสินค้าไทย 50 อันดับแรกส่งออกไปตลาดนี้มีสินค้าที่สามารถส่งออกได้เป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 50 มี 2 รายการคือ ทองแดงและของทำด้วยทองแดง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น มากกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ ยางพารา หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่าร้อยละ 20 ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด
ไต้หวัน การส่งออกสินค้าไทยไปไต้หวันในเดือน ม.ค. — มิ.ย. 2549 มีมูลค่า 1,644.10 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.84 จากสถิติสินค้าไทย 50 อันดับแรกส่งออกไปตลาดนี้มีสินค้าที่สามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 มี 4 รายการ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์,อุปกรณ์และส่วนประกอบ,ทองแดงและของทำด้วยทองแดง,น้ำมันสำเร็จรูป,อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น มากกว่าร้อยละ 60 ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า ผ้าผืน สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่าร้อยละ 40 ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอดและผลิตภัณฑ์เซรามิก
เกาหลีใต้ การส่งออกสินค้าไทยไปเกาหลีใต้ในเดือน ม.ค. — มิ.ย. 2549 มีมูลค่า 1,223 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.93 จากสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดนี้ 50 อันดับแรกมีสินค้าที่สามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 มี 3 รายการ ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป ทองแดงและของที่ทำด้วยทองแดง ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม สินค้าที่เพิ่มขึ้น มากกว่าร้อยละ 50 คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เครื่องตัดต่อและป้องกันวงจรไฟฟ้า และผักกระป๋องและแปรรูป สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ น้ำตาลทราย
6.4 อาเซียน(9) การส่งออกสินค้าไทยไปตลาดอาเซียนในเดือน ม.ค. — มิ.ย. 2549 มีมูลค่า 12,772.33 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.75 หรือคิดเป็นร้อยละ 44.58 ของเป้าหมายการส่งออกที่ 28,650 ล้านเหรียญสหรัฐ จากสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดนี้ 50 รายการแรก สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น สูงกว่าร้อยละ 100 มี 1 รายการคือ ทองแดงและของที่ทำด้วยทองแดง สินค้าที่เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป ยางพารา อุปกรณ์กึ่งตัวนำและไดโอด ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ อัญมณีและเครื่องประดับ หม้อ แปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ วงจรพิมพ์
ตลาดในกลุ่มอาเซียนที่ไทยสามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นทุกตลาดและตลาดที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 20 คือ อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา ลาว และบรูไน
6.5 จีนและฮ่องกง มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปจีนและฮ่องกงในเดือน ม.ค. — มิ.ย. 2549 มีมูลค่า 8,572 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 หรือคิดเป็นร้อยละ 42.98 ของเป้าหมายการส่งออกที่มีมูลค่า 19,943 ล้านเหรียญสหรัฐ
จีน การส่งออกสินค้าไทยไปจีนในเดือน ม.ค. — มิ.ย. 2549 มีมูลค่า 5,162.21 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.71 จากสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปจีน 50 อันดับแรกมีสินค้าที่สามารถขยายการส่งออกไปจีนได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 มี 8 รายการ ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง วงจรพิมพ์ เลนซ์ แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องพักกระแสไฟฟ้า และสายไฟฟ้าสายเคเบิ้ล สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่าร้อยละ 50 มี 2 รายการคือ เหล็ก เหล็กกล้า และเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้สัญญาณเสียง
ฮ่องกง การส่งออกสินค้าไทยไปฮ่องกงในเดือน ม.ค. — มิ.ย. 2549 มีมูลค่า 3,409.54 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.08 จากสถิติการส่งออกสินค้าไทย 50 อันดับแรกมีสินค้าไทยที่สามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 100 มี 6 รายการ ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องโทรสาร โทรพิมพ์ โทรศัพท์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เครื่องส่งวิทยุโทรศัพท์ สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากว่าร้อยละ 30 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ
อื่นๆ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับสัญญาณเสียงและส่วนประกอบ และส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน
6.6 อินเดีย การส่งออกสินค้าไทยไปอินเดียในเดือน ม.ค. — มิ.ย. 2549 มีมูลค่า 759.16 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับ 746.32 ล้านเหรียญสหรัฐของปี 2548 ในช่วงเดียวกันเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.72 หรือคิดเป็นร้อยละ 30.97 ของเป้าหมายการส่งออกที่มูลค่า 2,451 ล้านเหรียญสหรัฐจากสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดนี้ 50 อันดับแรก มีสินค้าที่ขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นสูงมากกว่าร้อยละ 100 มี 9 รายการได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ทองแดงและของที่ทำด้วยทองแดง หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า กระดาษ เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ เครื่องเทศและสมุนไพร และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม มากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารในครัวและบ้านเรือน แม่พิมพ์หุ่นแบบโลหะ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลำโพงขยายเสียงและส่วนประกอบ เมล็ดผักและสปอร์ที่ใช้สำหรับการเพาะปลูก
7. การนำเข้า
7.1 สินค้านำเข้ามีสัดส่วนโครงสร้างดังนี้
- สินค้าเชื้อเพลิง สัดส่วนร้อยละ 19.44 เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.73
- สินค้าทุน สัดส่วนร้อยละ 28.09 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.40
- สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สัดส่วนร้อยละ 40.78 ลดลงร้อยละ 1.36
- สินค้าบริโภค สัดส่วนร้อยละ 6.98 เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.65
- สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง สัดส่วนร้อยละ 3.04 ลดลงร้อยละ 7.7
- สินค้าอื่นๆ สัดส่วนร้อยละ 1.67 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.61
7.2 แหล่งนำเข้าสำคัญ 10 อันดับแรก
มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 66.60 ของมูลค่าการนำเข้าเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2549 ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ซาอุดิอาระเบีย และอินโดนีเซีย สัดส่วนร้อยละ 20.06, 10.13, 6.80, 6.42, 5.00, 4.45, 4.06, 3.94, 3.06 และ 2.77 โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ -4.34, 12.72, -1.45, -5.71, 8.83, 4.79, 11.74, 23.83, 1.69 และ 5.22 ตามลำดับ
8. สรุปข้อคิดเห็น
8.1 จากการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจของนายปีเตอร์ มอร์แกน หัวหน้าเศรษฐกรประจำภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิค ธนาคารเอช เอส บี ซี โดยภาพรวมยังคงมีการเจริญเติบโตต่อเนื่องเพราะผลจากการเจริญเติบโตของประเทศจีนโดยไม่รวมญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.9 และ 7.1 ในปี 2549 และ 2550 ตามลำดับ
เศรษฐกิจของจีนในปี 2549 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.4 และ 8.5 ในปี 2550 ตามลำดับ แต่เมื่อตัดประเทศจีนและญี่ปุ่นออกไปเศรษฐกิจเอเซียจะขยายตัวร้อยละ 5.2 ในปี 2549 และร้อยละ 4.7 ในปี 2550
อย่างไรก็ตาม H.S.B.C. มองว่าเศรษฐกิจเอเซียมีแนวโน้มชะลอตัวด้วยปัจจัย 2 ประการคือ
1) หากเศรษฐกิจของสหรัฐชะลอตัวลงจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มถดถอยลง ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 5.5 เพื่อชะลอความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์และการใช้จ่ายที่เกินตัวของสหรัฐ ในปัจจุบันจะส่งผลให้การขยายตัว GDP สหรัฐเติบโตเพียงร้อยละ 2.5 ในปี 2550
การชะลอตัวของสหรัฐจะส่งผลกระทบให้การส่งออกในภูมิภาคเอเซียได้เพราะความต้องการใช้จ่ายของสหรัฐอาจลดลง แต่ก็เชื่อว่าการลงทุนในภูมิภาคเอเซียจะยังมีการพัฒนาขึ้นได้เนื่องจากการเติบโตของจีนและญี่ปุ่นจะเข้ามาแทนที่ตลาดส่งออกในสหรัฐได้
2) อีกปัจจัยหนึ่งที่จะมีผลให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเซียชะลอตัวลงคือ มาตรการด้านการเงินที่รัดกุมเพื่อควบคุมเงินเฟ้อของประเทศในเอเซียโดยประเมินว่าในปี 2550 เงินเฟ้อในประเทศเอเซีย (ไม่รวมญี่ปุ่นและจีน) จะสูงขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 5.8
สำหรับประเทศไทยปัจจัยภายนอกคือจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของสหรัฐและภูมิภาคเอเซียรวมถึงราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและปัจจัยภายในได้แก่ ปัญหาการเมืองและนโยบายการเงินที่ค่อนข้างจะมีบทบาทที่โดดเด่นแต่ในระยะที่นโยบายการคลังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก และทิศทางค่าเงินบาทยังแข็งค่าได้อีกเนื่องจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ด้วยเหตุที่สหรัฐพยายามลดปัญหาการขาดดุลรวมทั้งธนาคารกลางญี่ปุ่นจะยกเลิกนโยบายคงที่ดอกเบี้ย 0% ทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นโดยคาดว่าสิ้นปี 2549 ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 37 บาทต่อดอลลาร์และสิ้นปี 2550 จะอยู่ที่ 36 บาทต่อดอลลาร์
8.2 นายเท็ตซึจิ บันโน่ ประธานหอการค้าญี่ปุ่นประจำประเทศไทย(เจซีซี) ได้กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับานายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและนายสาธิต ชาญเชาว์กุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ถึงสถานการณ์ทางการเมืองและภาวะการลงทุนในประเทศไทยว่านักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ 75% ยังมั่นใจที่จะขยายการลงทุนต่อในไทยโดยเห็นว่าในระยะยาวปัญหาการเมืองในไทยจะยุติได้เร็ววัน ส่วนอีก 25% ที่เป็นนักลงทุนรายใหม่เกิดความไม่มั่นใจและกังวลกับสถานการณ์การเมืองของไทยและมีความเป็นไปได้ที่จะลงทุนในประเทศอื่นแทน
ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนญี่ปุ่นยังมั่นใจอยู่และจะขยายการลงทุนเพิ่มถึงแม้จะมีปัญหาการเมืองอยู่ในขณะนี้ก็ตาม ส่วนนักลงทุนที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อมยังมีความอ่อนไหวอยู่
ทั้งนี้ หากสถานการณ์การเมืองของไทยคลี่คลายและชัดเจนยิ่งขึ้นสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็วน่าจะดึงความเชื่อมั่นของต่างชาติกลับมาได้ ส่วนปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในช่วง 1-2 ปีนี้ คือ 1. ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและราคาวัตถุดิบ
2. นักลงทุนญี่ปุ่นกังวลเรื่องการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ) ไทยและญี่ปุ่นที่เกิดความมล่าช้าและต้องการให้เดินหน้าต่อไป 3. การกังวลปัญหาการแข่งขันสูง
8.3 ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2549
- อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตและการส่งออกจะชะลอตัวลงเล็กน้อยเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกทรงตัว ราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับสูงและความไม่แน่นอนในภาวะปัญหานิวเคลียร์อิหร่านและการสู้รบในตะวันออกกลาง
- อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนมิถุนายนมีภาวะขยายตัวต่อเนื่องเพราะจากบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นแต่การส่งออกขยายตัวไม่มากนักเนื่องจากมีผลกระทบจากค่าเงินบาทและราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ส่วนเดือนกรกฎาคมจะชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
- อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ในเดือนมิถุนายนมีภาวะทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนเพราะการชะลอตัวลงของภาคอสังหาริมทรัพย์เนื่องจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูง
- อุตสาหกรรมยานยนต์ มีภาวะทรงตัวในเดือนมิถุนายนโดยประมาณการผลิตปริมาณ 108,000 คัน เป็นการจำหน่ายในประเทศร้อยละ 50 ของปริมาณการผลิต
- อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมมีภาวะการผลิตและการจำหน่ายในประเทศมีแนวโน้มลดลงเพราะเป็นฤดูฝน ส่วนการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการวางแผนขยายการส่งออกโดยเน้นตลาดอินโดจีน
- อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในเดือนมิถุนายน สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ายังคงได้รับผลกระทบจากปัจจัยทางเศรษฐกิจด้านลบ ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไตรมาส 2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยและจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมและจะขยายตัวเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 เพราะความต้องการสินค้า Consumer Electronic ของโลกที่ขยายตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะโทรศัพท์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการผลิตมอลต์ลิกเดอและมอลต์
ที่มา: http://www.depthai.go.th

แท็ก การส่งออก   GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ