นัดปิดรง.15 ธค.หนีบาทแข็ง ฉุดราคาสินค้าเกษตรดิ่งเหว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 12, 2006 14:11 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          นัดปิดรง.15 ธค.หนีบาทแข็ง ฉุดราคาสินค้าเกษตรดิ่งเหวจากการที่ค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งขึ้นไปจนถึงระดับ 35.53 บาท/เหรียญสหรัฐ ได้ส่งผลกระทบไปถึงผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอย่างชัดเจน และเริ่มกังวลว่าสถานการณ์ “อาจจะ” เลวร้ายยิ่งไปกว่าปี 2540
นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก ให้ความเห็นว่าผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยนกับการส่งออก สินค้าที่ได้รับผลกระทบสูงคือสินค้าเกษตร 2 รายการ ได้แก่ กุ้ง และผัก/ผลไม้ โดยรายการแรกเป็นกลุ่มที่ใช้วัตถุดิบในประเทศมากถึงร้อยละ 86.4 แต่มีการส่งออกร้อยละ 80 เท่ากับมีกำไรจากการส่งออกร้อยละ 4 เท่านั้น
นายเฉลิม รูปเล็ก เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย เปิดเผยว่า ปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าสับปะรดกระป๋องอย่างมาก เนื่องจากเมื่อคำนวณกลับเป็นเงินบาทแล้ว มีเม็ดเงินกลับสู่ประเทศน้อยลง จากเดิมที่เคยมีรายได้จากการส่งออกสับปะรดกระป๋องหีบละ 400 บาท เหลือแค่ 350 บาท ขณะที่ประเทศคู่แข่งอย่างอินโดนีเซีย/ฟิลิปปินส์ ปรับตัวแข็งค่าน้อยกว่าค่าเงินบาทของไทยมาก โดยตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป โรงงานแปรรูปสับปะรดกระป๋อง 34 แห่ง มีมติร่วมกันที่จะหยุดการผลิตอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าปัญหาผลกระทบจากค่าเงินบาทจะคลี่คลายลง
สหพันธ์พัฒนาเกษตรและอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยนายนุกุล ฉุนราชา ประธานสหพันธ์ฯ ได้ทำหนังสือถึงนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยอ้างว่ามติของสมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทย นอกเหนือไปจากการประกาศปิดโรงงานแล้ว ทางสมาคมยังแจ้งให้กับชาวไร่สับปะรดทราบว่า โรงงานฯจะปรับราคารับซื้อสับปะรดจากชาวไร่ลง ก.ก.ละ 1.50-2.00 บาท จากปัจจุบันที่รับซื้ออยู่ ก.ก.ละ 3.00-3.20 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต ส่งผลให้ชาวไร่สับปะรดต้องขาดทุนเป็นจำนวนมา
ในด้านผู้ส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งเปิดเผยว่า เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กำไร ที่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนหายไป ห้องเย็นรายใหญ่พยายามที่จะประคองตัวต่อไป ขณะที่ห้องเย็นรายเล็กเริ่มออกอาการไปไม่ไหวบ้างแล้ว โดยออร์เดอร์ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 ในขณะนี้ ไม่มีใครกล้ารับเพราะไม่รู้ว่าค่าบาทจะแข็งขึ้นไปกว่านี้อีกหรือไม่ ดังนั้นผลกระทบรุนแรงจะเกิดกับผู้ส่งออกกุ้งแช่เย็นแช่แข็งในอีก 3 เดือนข้างหน้า
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวภายหลังการหารือกับนางอรนุช โอสถานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หากเงินบาทแข็งค่ามากกว่านี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะแข็งค่าต่ำกว่า 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้การส่งออกข้าวประสบปัญหาขาดทุนเพราะเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ 100 % ขณะที่การปรับขึ้นราคาส่งออกทำได้ยากเพราะผู้ซื้อรับได้ในราคาจำกัด และจะกระทบรายได้เกษตรกรในที่สุด
นายสมบูรณ์ วัฒนวานิชย์กุล อุปนายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ภาวะอัตราแลกเปลี่ยนที่ปรับแข็งค่าขึ้นตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้คิดเป็นร้อยละ 14-15 ซึ่งแข็งค่ามากกว่าประเทศคู่แข่ง คิดเป็นร้อยละ 7-8 ส่งผลกระทบต่อการส่งออกมันสำปะหลัง ในส่วนของมันเส้นมีการส่งออกประมาณ 3.5 ล้านตัน แต่มีมูลค่าลดลง 1,200 ล้านบาท
ส่วนนายปรีชา เต็มพร้อม นายกสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย กล่าวว่า ภาวะอัตราค่าเงินบาทได้ส่งผลกระทบการส่งออกแป้งมันสำปะหลัง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาทแล้ว
ขณะที่นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาวะราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดที่ปรับตัวลดลงในขณะนี้ รัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างการติดตามตรวจสอบข้อมูลว่าเกิดจากสาเหตุใด หากเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเงินดอลลาร์ก็ถือว่า “เป็นเรื่องใหญ่” เป็นปัญหาที่รัฐต้องรีบเข้าไปดูแล หากเป็นผลกระทบจากปัญหาการแข็งตัวของค่าเงินบาทยังไม่น่าห่วงเท่าไหร่ เพราะค่าเงินบาทยังคงเปลี่ยนแปลงทุกวันและ ธปท.ก็กำลังเร่งวางแผนแก้ไขปัญหา
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวยืนยันว่าสภาพโดยรวมเศรษฐกิจไทยยังเติบโตในเกณฑ์ที่ดีต่อไป ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทในปีหน้าจะคงแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าของดอลลาร์
ประเด็นวิเคราะห์
จากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผลให้ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด เกษตรกรจึงได้รับผลกระทบตามไปด้วยเนื่องจากเป็นต้นทางการผลิต ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยต้องการให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการเพื่อบรรเทาปัญหา ได้แก่ การรับจำนำสินค้า การชดเชยภาษีให้กับผู้ส่งออก การทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง พิจารณาลดดอกเบี้ย “แพ้กกิ้งเครดิต” รวมถึงแก้ไขระเบียบศุลกากรหรือกรอกแบบฟอร์มหน่วยราชการต่าง ๆ ให้สามารถใช้เงินสกุลอื่นแทนดอลลาร์สหรัฐได้ เช่นสกุลยูโร เป็นต้น
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ