กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ศึกษาผลของการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีสหรัฐฯ-โอมาน ที่มีต่อประเทศไทย เนื่องจากขณะนี้ สหรัฐฯและโอมานสามารถสรุปผลการเจรจาฯ ได้แล้ว โดยลงนามไปเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2549 ภายใต้ความตกลงดังกล่าว สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมดของสหรัฐฯ และสินค้าเกษตรร้อยละ 87 จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า รวมถึงการค้าบริการในทุกสาขาด้วย
ผลจากการศึกษาสรุปว่า ความตกลง FTA สหรัฐฯ-โอมาน มีผลทางตรงไม่มากนักแต่จะมีผลโดยอ้อม คือ สหรัฐฯ มีเป้าหมายที่จะนำการจัดทำความตกลง FTA กับประเทศตะวันออกกลางรวมไว้ภายใต้ความตกลงใหญ่ USMEFTA ให้แล้วเสร็จภายในปี 2556 เพื่อการแสวงหาความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้าย และลดความขัดแย้งด้านการเมืองในภูมิภาค ซึ่งหากสำเร็จจะช่วยลดความผันผวนของราคาน้ำมันลง และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมทั้งของโลกและประเทศไทย
ประเทศโอมาน เป็นตลาดส่งออกสำคัญลำดับที่ 9 ของสหรัฐฯ จากจำนวน 15 ประเทศในตะวันออกกลาง และอยู่ลำดับที่ 53 ในตลาดส่งออกทั้งหมดของสหรัฐฯ ด้านการนำเข้าโอมานเป็นแหล่งนำเข้าลำดับที่ 7 ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและเป็นลำดับที่ 59 ของแหล่งนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ
การค้าระหว่างสหรัฐฯและโอมาน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 971.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้านการจัดเก็บอัตราอากรนำเข้าสินค้าของโอมานนั้นส่วนใหญ่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ คือ 0% และ 5% แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราอากรนำเข้าไม่ได้เป็นอุปสรรคในการขยายการส่งออกของสหรัฐฯ เข้าสู่ตลาดโอมานเท่าใดนัก แต่การที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญในการเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับโอมาน เพราะภูมิภาคนี้เป็นแหล่งทรัพยากรน้ำมันและก๊าซที่สำคัญของสหรัฐฯ รวมทั้งเหตุผลทางภูมิศาสตร์การเมือง
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-