นายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวง การคลัง เปิดเผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลประจำเดือนพฤษภาคม 2549 ซึ่งต่ำกว่าประมาณการเป็นเดือนแรก แต่อย่างไรก็ดีในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2549 (ตุลาคม 2548-พฤษภาคม 2549) รัฐบาลยังคงจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการ 6,657 ล้านบาท และสูงกว่าปีที่แล้ว 70,728 ล้านบาท
1. เดือนพฤษภาคม 2549 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 236,043 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 3,105 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.3 (แต่สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 15.1) ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่าเป้าหมาย 5,930 ล้านบาท เนื่องจากการยื่นชำระภาษีตามแบบ ภ.ง.ด. 50 ของธุรกิจในกลุ่มสื่อสารโทรคมนาคม และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคต่ำกว่าปีก่อน เพราะมีภาวการณ์แข่งขันสูง
อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรยังคงสูงกว่าประมาณการที่สำคัญได้แก่ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 5,727 ล้านบาท (หรือร้อยละ 15.5) ทั้งนี้เนื่องจากราคาน้ำมัน ที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผลประกอบการของบริษัทที่ประกอบธุรกิจปิโตรเลียมดีขึ้น และภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการร้อยละ 6.3โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนของการบริโภคภายในประเทศยังคงขยายตัวในอัตราที่สูง โดยสูงกว่าประมาณการร้อยละ 14.2 (สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 5.8)
สำหรับกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และรัฐวิสาหกิจจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ ดังนี้
กรมสรรพสามิตจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 2,523 ล้านบาท (หรือร้อยละ 9.3) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีน้ำมัน ภาษียาสูบ ภาษีสุรา และภาษีรถยนต์ โดยภาษีน้ำมันได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนภาษียาสูบและภาษีสุราได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีเพื่อต้องการลดการบริโภคสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ส่งผลให้การบริโภคชะลอตัวลง ในขณะที่ภาษีรถยนต์ ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ปริมาณรถยนต์ที่เสียภาษีไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้
กรมศุลกากรจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,649 ล้านบาท (หรือร้อยละ 17.4) ทั้งนี้นอกจากจะได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากร และการนำเข้าที่ชะลอตัวลง ยังได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท ที่แข็งค่าขึ้น
รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 2,898 ล้านบาท (หรือร้อยละ 41.2) เนื่องจากมีรัฐวิสาหกิจบางแห่งนำส่งรายได้ก่อนกำหนด เช่น การไฟฟ้านครหลวง บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน เป็นต้น
2. ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2549 (ตุลาคม 2548 — พฤษภาคม 2549)
รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 918,514 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 6,657 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 8.3) ซึ่งเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่สูงกว่าประมาณการเป็นสาเหตุหลัก
ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บได้รวม 680,546 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 34,398 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 14.9) ภาษีที่เก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 13,303 และ 8,665 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.1 และ 21.2 ตามลำดับ (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.6 และ 39.8 ตามลำดับ)
2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บได้รวม 181,258 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 25,327 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.3 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.3)
2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บได้รวม 64,952 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 14,048 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.8 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 11.7) โดยอากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 14,920 ล้านบาท
2.4 หน่วยงานอื่น นำส่งรายได้รวม 102,402 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 15,881 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.4 เนื่องจากทั้งส่วนราชการอื่นและรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ โดยรายได้ส่วนราชการอื่นได้จากค่าภาคหลวงปิโตรเลียมที่สูงกว่าประมาณการถึง 5,784 ล้านบาท เนื่องจากราคาปิโตรเลียมปรับตัวสูงขึ้น
3. คาดการณ์แนวโน้มการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลปีงบประมาณ 2549
จากผลการจัดเก็บรายได้ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2549 ที่สูงกว่าประมาณการ จำนวน 6,657 ล้านบาท และแนวโน้มในช่วง 4 เดือนหลัง คาดว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลจะยังเป็นไปตามเป้าหมายที่ระบุไว้ในเอกสารงบประมาณ (1.36 ล้านล้านบาท)
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 54/2549 8 มิถุนายน 49--
1. เดือนพฤษภาคม 2549 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 236,043 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 3,105 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.3 (แต่สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 15.1) ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่าเป้าหมาย 5,930 ล้านบาท เนื่องจากการยื่นชำระภาษีตามแบบ ภ.ง.ด. 50 ของธุรกิจในกลุ่มสื่อสารโทรคมนาคม และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคต่ำกว่าปีก่อน เพราะมีภาวการณ์แข่งขันสูง
อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรยังคงสูงกว่าประมาณการที่สำคัญได้แก่ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 5,727 ล้านบาท (หรือร้อยละ 15.5) ทั้งนี้เนื่องจากราคาน้ำมัน ที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผลประกอบการของบริษัทที่ประกอบธุรกิจปิโตรเลียมดีขึ้น และภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการร้อยละ 6.3โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนของการบริโภคภายในประเทศยังคงขยายตัวในอัตราที่สูง โดยสูงกว่าประมาณการร้อยละ 14.2 (สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 5.8)
สำหรับกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และรัฐวิสาหกิจจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ ดังนี้
กรมสรรพสามิตจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 2,523 ล้านบาท (หรือร้อยละ 9.3) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีน้ำมัน ภาษียาสูบ ภาษีสุรา และภาษีรถยนต์ โดยภาษีน้ำมันได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนภาษียาสูบและภาษีสุราได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีเพื่อต้องการลดการบริโภคสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ส่งผลให้การบริโภคชะลอตัวลง ในขณะที่ภาษีรถยนต์ ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ปริมาณรถยนต์ที่เสียภาษีไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้
กรมศุลกากรจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,649 ล้านบาท (หรือร้อยละ 17.4) ทั้งนี้นอกจากจะได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากร และการนำเข้าที่ชะลอตัวลง ยังได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท ที่แข็งค่าขึ้น
รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 2,898 ล้านบาท (หรือร้อยละ 41.2) เนื่องจากมีรัฐวิสาหกิจบางแห่งนำส่งรายได้ก่อนกำหนด เช่น การไฟฟ้านครหลวง บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน เป็นต้น
2. ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2549 (ตุลาคม 2548 — พฤษภาคม 2549)
รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 918,514 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 6,657 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 8.3) ซึ่งเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่สูงกว่าประมาณการเป็นสาเหตุหลัก
ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บได้รวม 680,546 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 34,398 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 14.9) ภาษีที่เก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 13,303 และ 8,665 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.1 และ 21.2 ตามลำดับ (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.6 และ 39.8 ตามลำดับ)
2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บได้รวม 181,258 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 25,327 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.3 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.3)
2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บได้รวม 64,952 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 14,048 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.8 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 11.7) โดยอากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 14,920 ล้านบาท
2.4 หน่วยงานอื่น นำส่งรายได้รวม 102,402 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 15,881 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.4 เนื่องจากทั้งส่วนราชการอื่นและรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ โดยรายได้ส่วนราชการอื่นได้จากค่าภาคหลวงปิโตรเลียมที่สูงกว่าประมาณการถึง 5,784 ล้านบาท เนื่องจากราคาปิโตรเลียมปรับตัวสูงขึ้น
3. คาดการณ์แนวโน้มการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลปีงบประมาณ 2549
จากผลการจัดเก็บรายได้ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2549 ที่สูงกว่าประมาณการ จำนวน 6,657 ล้านบาท และแนวโน้มในช่วง 4 เดือนหลัง คาดว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลจะยังเป็นไปตามเป้าหมายที่ระบุไว้ในเอกสารงบประมาณ (1.36 ล้านล้านบาท)
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 54/2549 8 มิถุนายน 49--