ผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเพื่อเตรียมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 12

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 15, 2006 13:00 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          นายชนะ  คณารัตนดิลก รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เข้าร่วมในคณะผู้แทนไทย ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อเตรียมการประชุมด้านเศรษฐกิจสำหรับการประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 8-13 ธันวาคม 2549 ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์  ได้เปิดเผยผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้
1. ในวันที่ 8 ธันวาคม 2549 รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้พบปะหารืออย่างไม่เป็นทางการในช่วงการเลี้ยงอาหารค่ำ โดยรับทราบสถานการณ์ฉุกเฉินที่เมืองเซบูประสบพายุมรสุม รัฐบาลฟิลิปปินส์จึงมีความจำเป็นต้องเลื่อนการประชุมระดับผู้นำออกไปจัดในช่วงต้นปี 2550 อย่างไรก็ตาม ในการประชุมด้านเศรษฐกิจถือว่าประสบผลสำเร็จตามสมควร โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจได้ลงนามความตกลง/พิธีสารที่สำคัญภายในของอาเซียน 4 ฉบับในเรื่องการเปิดตลาดสินค้าและบริการ ซึ่งจะนำไปสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนที่ลึกซึ้งมากขึ้น ดังนี้
1.1 กรอบความตกลงว่าด้วยการรวมกลุ่มสาขาสำคัญของอาเซียน (ฉบับแก้ไข)
1.2 พิธีสารว่าด้วยการรวมกลุ่มรายสาขาของอาเซียน (ฉบับแก้ไข)
ทั้งสองฉบับเป็นการแก้ไขกรอบความตกลงฯ และพิธีสารที่ผู้นำอาเซียนและรัฐมนตรีเศรษฐกิจได้ลงนามไปเมื่อปี 2547 โดยจะเพิ่มเติมมาตรการใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจและปรับปรุงกรอบระยะเวลาการดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ 11 สาขานำร่อง (สาขาเกษตร ประมง ผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งทอ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาสุขภาพ ท่องเที่ยว และการบิน) ให้เข้มข้นและชัดเจนมากขึ้น เช่น การเพิ่มเติมขอบเขตสินค้าที่จะเร่งลดภาษีอีกกว่า 200 รายการ ในสาขาเกษตร สุขภาพ และอิเล็กทรอนิกส์ ในวันที่ 1 มกราคม 2550 จากเดิมที่กำหนดไว้ 4,272 รายการ การกำหนดเป้าหมายการเปิดตลาดการค้าบริการที่ชัดเจน และการส่งเสริมความร่วมมือใน ด้าน R&D ของทุกสาขา เป็นต้น
- ในการประชุมครั้งนี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจยังได้ให้การรับรองกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าแบบเฉพาะสำหรับสินค้าภายใต้การรวมกลุ่มสาขาสำคัญอีก 1,640 รายการ ซึ่งจะเริ่มลดภาษีเป็น 0 ภายในวันที่ 1 มกราคม 2550 เพื่อใช้เป็นทางเลือกนอกเหนือจากกฎการสะสมวัตถุดิบภายในร้อยละ 40 ที่อาเซียนใช้อยู่ในปัจจุบัน สำหรับสินค้าในสาขาสำคัญที่ยังจัดทำกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าแบบเฉพาะไม่เสร็จให้ดำเนินการต่อในปี 2550
1.3 พิธีสารอนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 5 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน อาเซียนได้จัดทำข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 5 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน (AFAS) เสร็จสิ้น ซึ่งประเทศสมาชิกมีข้อผูกพันที่จะต้องเปิดตลาดการค้าบริการเพิ่มเติมในทุกรอบของการเจรจา สำหรับสาขาบริการที่ไทยได้เสนอเปิดตลาดเพิ่มขึ้นในรอบนี้ ประกอบด้วย การรักษาในโรงพยาบาล บริการที่พักประเภท โมเตล และศูนย์ที่พักแบบต่างๆ การติดตั้งวางระบบคอมพิวเตอร์ การประมวลผลข้อมูล บริการโทรเลข โทรสาร บริการโทรคมนาคมเสริม เช่น Electronic mail, voice mail บริการด้านการแปล และบริการตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรอง โดยเงื่อนไขการเปิดตลาดยังคงอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายไทยที่กำหนดในปัจจุบัน
ทั้งนี้ สมาชิกบางประเทศยังไม่สามารถเปิดตลาดได้ตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ในการเจรจารอบนี้ ซึ่งจะได้มีการเจรจาต่อไป โดยให้เวลาอีกไม่เกิน 2 ปี แต่ยังไม่มีการตัดสินใจในระดับรัฐมนตรี
1.4 ข้อตกลงยอมรับร่วมสาขาวิชาชีพการพยาบาลของอาเซียน เป็นข้อตกลงเพื่ออำนวยความสะดวกระหว่างประเทศสมาชิกในการอนุญาตให้พยาบาลที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดสามารถจดทะเบียนหรือขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลในประเทศอาเซียนอื่นได้ ซึ่งในส่วนของไทยมีสภาการพยาบาล เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก
2. รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ร่วมหารือกับรัฐมนตรีการค้าของจีนและญี่ปุ่น โดยสาระสำคัญมี ดังนี้
2.1 รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและจีนได้ร่วมลงนามพิธีสารด้านเศรษฐกิจ 2 ฉบับ ได้แก่
1) พิธีสารฉบับที่สองเพื่อแก้ไขกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและจีน เพื่อให้คำรับรองทางกฎหมายสำหรับรายการสินค้าที่จะเร่งลดภาษีในส่วนแรก (Early Harvest Programme: EHP) ระหว่างฟิลิปปินส์และจีน
2) พิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและจีน เพื่อให้คำรับรองทางกฎหมายสำหรับประเด็นด้านการค้าสินค้าอ่อนไหวระหว่างเวียดนามและจีน และแก้ไขหลักการ/วิธีการคิดอัตราภาษีต่างตอบแทนสำหรับสินค้าอ่อนไหวระหว่างประเทศสมาชิกภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าให้ชัดเจน
สำหรับความตกลงว่าด้วยการค้าบริการระหว่างอาเซียนและจีน ได้เลื่อนการลงนามออกไปดำเนินการในช่วงการประชุมสุดยอด เนื่องจากต้องการให้ผู้นำเป็นสักขีพยานในการประกาศลงนามดังกล่าว เพราะเป็นความตกลงที่สำคัญของจีนและอาเซียน
2.2 รัฐมนตรีการค้าญี่ปุ่นได้เสนอให้อาเซียนพิจารณากรอบรูปแบบการเจรจาเปิดตลาดการค้าสินค้า ภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่งไทยได้แสดงความเห็นว่า ไม่ต้องการให้ญี่ปุ่นยกเว้นสินค้าสำคัญออกจากการเจรจา โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งจากประสบการณ์กับเกาหลีที่ยกเว้นสินค้าดังกล่าวทำให้ไทยไม่สามารถลงนามความตกลงกับเกาหลี ฝ่ายญี่ปุ่นยังเสนอให้อาเซียนสนับสนุนการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียน+6 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) และการจัดตั้งสถาบัน Economic Research Institute for ASEAN and East Asia (ERIA) เพื่อเป็นองค์กรสนับสนุนด้านนโยบายและวิชาการให้แก่ภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งจะได้มีการหารืออย่างเป็นทางการต่อไป
3. ประเด็นอื่นๆ
3.1 ขณะนี้ อาเซียนอยู่ระหว่างการยกร่างแผนแม่บท (Blueprint for Advancing AEC) ซึ่งเป็นเสมือนพิมพ์เขียวที่จะใช้เร่งรัดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนไปสู่การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี ค.ศ. 2015 โดยจะนำเสนอรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนพิจารณาในช่วงการประชุม AEM Retreat ในเดือนพฤษภาคม 2550 ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศบรูไนฯ
3.2 อาเซียนเห็นชอบที่จะเข้าร่วมการเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป ซึ่งคาดว่า จะเริ่มขึ้นกลางปีหน้า โดยเป็นการเจรจาในนามอาเซียน 10 ประเทศ และให้มีความยืดหยุ่นให้กับสมาชิกที่พัฒนาน้อยภายในกลุ่ม ขณะนี้ EU อยู่ระหว่างการขอความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกอยู่
3.3 รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเห็นชอบแนวทางการเจรจาเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย ที่ให้เจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในการเปิดตลาดอย่างเท่าเทียมกัน และให้มีการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่าง (S&D) สำหรับประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน (CLMV) ทั้งในเรื่องของกรอบระยะเวลาและระดับของการผูกพัน
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ