THE ECONOMIST INTELLIGENCE UNIT (EIU) ได้เผยแพร่การวิเคราะห์บทความที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจของจีนและอินเดีย ซึ่งในปัจจุบันทั้งสองประเทศเล่นบทจ๊อกกี้ควบม้าเป็นผู้นำในเอเชีย จนเป็นที่กล่าวขานและเกิดคำถามว่า ใครใหญ่กว่ากันในเอเชีย และไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า จีนใหญ่กว่าอินเดียแน่นอน เนื่องจากจีนเป็นแหล่งดึงดูดเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) มีมูลค่าถึง 60 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ/ปี เมื่อเทียบกับอินเดียที่มีมูลค่าเพียง 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ/ปี นอกจากนี้ จีนมีเศรษฐกิจที่เปิดกว้างมากกว่า การศึกษาและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ดีกว่า รวมทั้งมีการดำเนินมาตรการที่เกี่ยวกับโครงสร้างด้านการสื่อสารที่ชัดเจนกว่า โดยพิจารณาจากการใช้งานโทรศัพท์มือถือต่อหัว และการใช้งานด้าน Internet ถึงแม้ปัจจุบันอินเดียจะล้าหลังจีนก็ตาม แต่ทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลงได้
สิ่งที่จีนได้เปรียบอินเดีย โดยพิจารณาจากภาพรวมการค้า นั้น ในปี 2005 จีนมีการส่งออกรวม มูลค่า 763 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และการนำเข้า 628 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่อินเดียส่งออกรวมเพียง 98 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และการนำเข้า 150 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ การที่จีนมีการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากจีนได้มีการลงทุนในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานจำนวนมาก โดยเฉพาะมีการลงทุนที่เกี่ยวกับการสร้างถนน ท่าเรือ ท่าอากาศยาน และปัจจัยด้านพลังงาน เป็นต้น
สิ่งที่อินเดียได้เปรียบจีน คือ ในอีก 2-3 ทศวรรษหน้า อินเดียจะได้รับประโยชน์จากประชากรหนุ่มสาว ในขณะที่จีนจะต้องพยายามดิ้นรนเพื่อความร่ำรวยก่อนที่จะเข้าสู่วัยชรา และเผชิญกับความท้าทายของเศรษฐกิจและสังคมในขณะที่อัตราของคนชราเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ถึงแม้ระบบกฎเกณฑ์ที่ยุ่งยากของอินเดีย จะทำให้เกิดความล่าช้า แต่เป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาได้เป็นอย่างดี และอินเดียยังเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาพื้นฐานที่ดี ซึ่งรวมไปถึงการเปิดกว้างด้านการศึกษาของเด็กหญิงด้วย
ข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบในอนาคตของจีนและอินเดีย EIU ได้ประมาณการในช่วงระหว่างปี 2006-2030 ไว้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของอินเดียจะมีการเติบโตเฉลี่ยที่สูงกว่าจีนเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม จำนวนประชากรของอินเดียจะเพิ่มจำนวนเร็วกว่าจีน ดังนั้น คาดว่าในปี 2030 อินเดียจะล้าหลังจีนเล็กน้อยในเทอมของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว นโยบายภายในประเทศ เช่น การปฏิรูปด้านภาษี การลงทุนภาครัฐทางด้านสาธารณูปโภค และการศึกษา จะเป็นสิ่งที่นำมาพิจารณาว่าในอนาคตแต่ละประเทศจะสามารถนำมาใช้และสนับสนุนนโยบายทางเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างไร โดยจีนมีการลงทุนภายในประเทศมากกว่า ร้อยละ 40 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งสูงกว่าอินเดียที่ลงทุนเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น นอกจากนี้ นโยบายด้านภาษีของอินเดียที่มีการเก็บภาษีขายและภาษีสรรพสามิตในอัตราที่สูง ทำให้อินเดียมีต้นทุนในการผลิตสินค้าสูงกว่าจีน ดังนั้น การปฏิรูปด้านภาษีจึงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลอินเดีย ต้องนำมาพิจารณา
เปรียบเทียบความเสี่ยงด้านต่างๆ ของจีนและอินเดีย
จีน อินเดีย
ภาพรวม (Overall assessment) 47 51
ความเสี่ยงด้านหลักทรัพย์ (Security risk) 25 46
เสถียรภาพทางการเมือง (Political stability) 65 35
ประสิทธิภาพของรัฐบาล (Government effectiveness) 79 68
กฎเกณฑ์และระเบียบข้อบังคับ (Legal and regulatory) 68 60
เศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic) 10 25
การค้าต่างประเทศและการชำระเงิน (Foreign trade and payments) 32 50
นโยบายด้านภาษี (Tax policy) 31 56
ตลาดแรงงาน (Labour market) 64 61
ระบบการเงิน (Financial system) 38 42
โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) 59 72
Note : 100 = เสี่ยงที่สุด
Source : EIU Risk forecasts
เมื่อพิจารณาด้านความเสี่ยงของทั้งสองประเทศ จะพบว่า จีนและอินเดียต้องเผชิญกับความเสี่ยงในเรื่องที่เหมือนกัน ได้แก่ ประสิทธิภาพของรัฐบาล กฎเกณฑ์และระเบียบข้อบังคับ และตลาดแรงงาน โดยจีนต้องประสบกับความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในระยะยาว หากเกิดความบาดหมางทางการเมืองจะเกิดผลเสียอย่างร้ายแรงเพราะประเทศจะขาดกลไกที่เป็นสถาบันในการถ่ายโอนอำนาจ ในขณะที่อินเดียต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านนโยบายภาษีที่ยังไม่สอดคล้องกับการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ ซึ่งยังมีกฎเกณฑ์บางส่วนที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน
โดยสรุป ทั้งสองประเทศมีทั้งข้อได้เปรียบและเสียเปรียบที่แตกต่างกันไป ถึงแม้ปัจจุบันจีนจะเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของเอเชีย แต่ยังมีโอกาสที่เป็นช่องว่างสำหรับอินเดียให้เข้ามาชิงความได้เปรียบดังกล่าว นอกจากนี้ ยังเกิดคำถามอีกว่า หากยักษ์ใหญ่คู่นี้ทั้งจีนและอินเดียเป็นมิตรที่ดีต่อกันทางการค้าแต่ไม่ใช่คู่แข่งกัน จึงเป็นสิ่งที่ไทยควรคำนึงถึงว่า ไทยจะยืนอยู่ตรงจุดไหน และจะปรับตัวไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร ดังนั้น การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับจีนและอินเดีย จึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำ ถึงแม้ว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไทยจะมีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งสองประเทศดังกล่าวแล้วก็ตาม ไม่เพียงมีการจัดทำ FTA ระหว่างกันเท่านั้น แต่ไทยควรกระชับความสัมพันธ์ดังกล่าวให้แน่นแฟ้น ทั้งทางด้านการต่างประเทศหรือทางด้านเศรษฐกิจการค้า ตลอดจนการสร้างความร่วมมือทางด้านอื่นๆ ก็เป็นสิ่งที่สามารถกระชับความสัมพันธ์ดังกล่าวได้เช่นกัน
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-