กรุงเทพ--13 มี.ค.--กระทรวงการต่างประเทศ
รัฐมนตรีต่างประเทศได้เข้าพบประธานาธิบดีคนใหม่ของชิลี และได้ตกลงกันที่จะผลักดันให้การเจรจาการค้าเสรีไทย-ชิลี ก้าวหน้าต่อไปในเร็วๆ นี้
ในช่วงเช้าของวันที่ 10 มีนาคม 2549 ดร. กันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเยือนชิลีในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของนาง Michelle Bachelet ประธานาธิบดีชิลีคนใหม่ ได้เข้าเยี่ยมคารวะว่าที่ประธานาธิบดี Bachelet ที่วิทยาลัยการทูตของชิลีในกรุงซานติอาโก ในโอกาสนี้ ดร. กันตธีร์ฯ ได้แสดงความยินดีที่นาง Michelle Bachelet ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของชิลี และเป็นประธานาธิบดีหญิงที่อาศัยคุณสมบัติส่วนตัวทำให้ชนะการเลือกตั้ง เป็นคนแรกของภูมิภาคลาตินอเมริกาด้วย และว่าที่ประธานาธิบดีชิลีก็ได้ขอบคุณที่ ดร. กันตธีร์ฯ ได้มาร่วมพิธี โดยเป็นแขกผู้มีเกียรติที่ได้เดินทางรอนแรมมาจากประเทศที่อยู่ห่างไกลจากชิลีมากที่สุด ในบรรดาผู้แทนระดับประมุขรัฐหรือผู้แทนพิเศษ 35 คนที่ได้มาชุมนุมกันในกรุงซานติอาโกในโอกาสนี้
ดร. กันตธีร์ฯ ยังได้กล่าวชื่นชมความสำเร็จทางเศรษฐกิจของชิลี โดยเห็นว่าเป็นปาฎิหาริย์ทางการพัฒนาเศรษฐกิจ หลังจากที่ชิลีได้ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในการดำเนินนโยบายการค้าเสรีเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนของชิลีมาแล้ว ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่ามีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ ระหว่างกันขึ้นไปอีก และเน้นความสำคัญของการสรุปการศึกษาความเป็นไปได้เรื่องความตกลงการค้าเสรีไทย-ชิลีให้ได้ผลภายในปีนี้ เพื่อปูทางไปสู่การเริ่มต้นเจรจาการค้าเสรีไทย-ชิลีต่อไป
อนึ่ง ประเทศไทยยังเห็นว่าชิลีจะสามารถเป็นประตูสำหรับเพิ่มการค้าการลงทุนในลาตินอเมริกามากขึ้น ในขณะที่ชิลีก็เห็นว่าไทยสามารถเป็นประตูสำหรับเพิ่มพูนความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน ดร. กันตธีร์ฯ ได้เสนอให้มีการสร้างเสริมพันธมิตรระหว่างผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อยของไทย (SMEs) กับบริษัทของชิลีด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งประธานาธิบดี Bachelet ก็เห็นด้วย นอกจากนั้นทั้งสองฝ่ายยังสามารถร่วมมือกันได้ในอุตสาหกรรมโรงแรม ภัตตาคาร และการท่องเที่ยว และ ดร. กันตธีร์ฯ ยังได้เชิญให้ประธานาธิบดีชิลีคนใหม่ รวมทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศชิลี (นาย Alejandro Foxley) มาเยือนประเทศไทยอีกด้วย
การเยือนชิลีครั้งนี้ของ ดร. กันตธีร์ฯ นับเป็นการเยือนเป็นครั้งที่สามแล้ว ครั้งแรกคือในปี 2543 ในฐานะที่ปรึกษาในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารี และได้ตามเสด็จมาเยือนประเทศนี้ ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2545 ในฐานะผู้แทนการค้าไทย ซึ่ง ดร. กันตธีร์ฯ ได้นำคณะข้าราชการและภาคเอกชนไทยมาสำรวจลู่ทางธุรกิจในชิลี ประเทศชิลีปัจจุบันเป็นประเทศที่มีอัตราความเจริญของรายได้ประชาชาติสูงที่สุดในลาตินอเมริกา และมักจะได้รับยกย่องว่าเป็นดาวดวงเด่นของภูมิภาคในด้านเศรษฐกิจและศักยภาพในอนาคต ในปีที่แล้ว World Economic Forum ได้จัดลำดับให้ชิลีมีความสามารถในการแข่งขันอยู่ในอันดับ 22 ของโลก
การเยือนชิลีของ ดร. กันตธีร์ฯ ในปี 2545 ได้ส่งผลคุณูปการคือ ทำให้แนวคิดเกี่ยวกับการส่งเสริมความสัมพันธ์เชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับชิลี ได้รับการสนับสนุนจากระดับผู้นำของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ ในการพบหารือทวิภาคีที่กรุงเทพฯ ในปี 2546 และที่ชิลีในปี 2547 นายกรัฐมนตรี ดร. ทักษิณ ชินวัตรและประธานาธิบดีลากอสของชิลีก็ได้แสดงความเห็นพ้องกันว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศทั้งสองจะเริ่มสร้างความเป็นพันธมิตรอันใกล้ชิด เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ผู้นำทั้งสองจึงได้ตกลงกันที่จะให้มีแผนปฏิบัติการร่วมระหว่างกันและให้ศึกษาความเป็นไปได้เรื่องการค้าเสรีไทย-ชิลี
ความสัมพันธ์อันยั่งยืนยาวนานระหว่างไทยและชิลี ได้รับแรงผลักดันหนุนส่งมากขึ้นในสองสามปีที่ผ่านมานี้ โดยเป็นผลจากความร่วมมือในด้านต่างๆ หลายสาขา และการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงหลายครั้ง
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--
-พห-
รัฐมนตรีต่างประเทศได้เข้าพบประธานาธิบดีคนใหม่ของชิลี และได้ตกลงกันที่จะผลักดันให้การเจรจาการค้าเสรีไทย-ชิลี ก้าวหน้าต่อไปในเร็วๆ นี้
ในช่วงเช้าของวันที่ 10 มีนาคม 2549 ดร. กันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเยือนชิลีในฐานะผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของนาง Michelle Bachelet ประธานาธิบดีชิลีคนใหม่ ได้เข้าเยี่ยมคารวะว่าที่ประธานาธิบดี Bachelet ที่วิทยาลัยการทูตของชิลีในกรุงซานติอาโก ในโอกาสนี้ ดร. กันตธีร์ฯ ได้แสดงความยินดีที่นาง Michelle Bachelet ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของชิลี และเป็นประธานาธิบดีหญิงที่อาศัยคุณสมบัติส่วนตัวทำให้ชนะการเลือกตั้ง เป็นคนแรกของภูมิภาคลาตินอเมริกาด้วย และว่าที่ประธานาธิบดีชิลีก็ได้ขอบคุณที่ ดร. กันตธีร์ฯ ได้มาร่วมพิธี โดยเป็นแขกผู้มีเกียรติที่ได้เดินทางรอนแรมมาจากประเทศที่อยู่ห่างไกลจากชิลีมากที่สุด ในบรรดาผู้แทนระดับประมุขรัฐหรือผู้แทนพิเศษ 35 คนที่ได้มาชุมนุมกันในกรุงซานติอาโกในโอกาสนี้
ดร. กันตธีร์ฯ ยังได้กล่าวชื่นชมความสำเร็จทางเศรษฐกิจของชิลี โดยเห็นว่าเป็นปาฎิหาริย์ทางการพัฒนาเศรษฐกิจ หลังจากที่ชิลีได้ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในการดำเนินนโยบายการค้าเสรีเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนของชิลีมาแล้ว ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่ามีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ ระหว่างกันขึ้นไปอีก และเน้นความสำคัญของการสรุปการศึกษาความเป็นไปได้เรื่องความตกลงการค้าเสรีไทย-ชิลีให้ได้ผลภายในปีนี้ เพื่อปูทางไปสู่การเริ่มต้นเจรจาการค้าเสรีไทย-ชิลีต่อไป
อนึ่ง ประเทศไทยยังเห็นว่าชิลีจะสามารถเป็นประตูสำหรับเพิ่มการค้าการลงทุนในลาตินอเมริกามากขึ้น ในขณะที่ชิลีก็เห็นว่าไทยสามารถเป็นประตูสำหรับเพิ่มพูนความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน ดร. กันตธีร์ฯ ได้เสนอให้มีการสร้างเสริมพันธมิตรระหว่างผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อยของไทย (SMEs) กับบริษัทของชิลีด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งประธานาธิบดี Bachelet ก็เห็นด้วย นอกจากนั้นทั้งสองฝ่ายยังสามารถร่วมมือกันได้ในอุตสาหกรรมโรงแรม ภัตตาคาร และการท่องเที่ยว และ ดร. กันตธีร์ฯ ยังได้เชิญให้ประธานาธิบดีชิลีคนใหม่ รวมทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศชิลี (นาย Alejandro Foxley) มาเยือนประเทศไทยอีกด้วย
การเยือนชิลีครั้งนี้ของ ดร. กันตธีร์ฯ นับเป็นการเยือนเป็นครั้งที่สามแล้ว ครั้งแรกคือในปี 2543 ในฐานะที่ปรึกษาในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารี และได้ตามเสด็จมาเยือนประเทศนี้ ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2545 ในฐานะผู้แทนการค้าไทย ซึ่ง ดร. กันตธีร์ฯ ได้นำคณะข้าราชการและภาคเอกชนไทยมาสำรวจลู่ทางธุรกิจในชิลี ประเทศชิลีปัจจุบันเป็นประเทศที่มีอัตราความเจริญของรายได้ประชาชาติสูงที่สุดในลาตินอเมริกา และมักจะได้รับยกย่องว่าเป็นดาวดวงเด่นของภูมิภาคในด้านเศรษฐกิจและศักยภาพในอนาคต ในปีที่แล้ว World Economic Forum ได้จัดลำดับให้ชิลีมีความสามารถในการแข่งขันอยู่ในอันดับ 22 ของโลก
การเยือนชิลีของ ดร. กันตธีร์ฯ ในปี 2545 ได้ส่งผลคุณูปการคือ ทำให้แนวคิดเกี่ยวกับการส่งเสริมความสัมพันธ์เชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับชิลี ได้รับการสนับสนุนจากระดับผู้นำของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ ในการพบหารือทวิภาคีที่กรุงเทพฯ ในปี 2546 และที่ชิลีในปี 2547 นายกรัฐมนตรี ดร. ทักษิณ ชินวัตรและประธานาธิบดีลากอสของชิลีก็ได้แสดงความเห็นพ้องกันว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศทั้งสองจะเริ่มสร้างความเป็นพันธมิตรอันใกล้ชิด เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ผู้นำทั้งสองจึงได้ตกลงกันที่จะให้มีแผนปฏิบัติการร่วมระหว่างกันและให้ศึกษาความเป็นไปได้เรื่องการค้าเสรีไทย-ชิลี
ความสัมพันธ์อันยั่งยืนยาวนานระหว่างไทยและชิลี ได้รับแรงผลักดันหนุนส่งมากขึ้นในสองสามปีที่ผ่านมานี้ โดยเป็นผลจากความร่วมมือในด้านต่างๆ หลายสาขา และการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงหลายครั้ง
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--
-พห-