รัฐบาลญี่ปุ่นได้ปฎิเสธที่จะเพิ่มการรับรองโรงงานแปรรูปไก่ของไทยที่เปิดเพิ่มขึ้นอีก 6 ราย นอกเหนือจากที่มีอยู่ทั้งหมด 54 รายโดยอ้างว่าถ้าหากเปิดเพิ่มให้ไทยจะต้องเปิดเพิ่มให้จีนด้วยแต่ถ้าไทยต้องการให้ญี่ปุ่นรับรองโรงงานไก่แปรรูปแห่งใหม่ทั้ง 6 แห่งไทยจะต้องตัดสิทธิโรงงานเก่าออกไปก่อนเพื่อไม่ให้เกินกว่า 54 โรงงานที่ญี่ปุ่นกำหนด นโยบายดังกล่าวข้างต้นดูเหมือนเป็นการกีดกันทางการค้าและจำกัดปริมาณการนำเข้าไก่แปรรูปจากไทย โดยมีข้อสังเกตุว่าอาจจะเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับการเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทยและญี่ปุ่นที่เลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนดหลังจากไทยมีรัฐบาลรักษาการมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2549
ดังนั้น กรมปศุสัตว์ จึงต้องใช้หลักเกณฑ์พิจารณาว่าโรงงานใดมียอดตัวเลขการส่งออกไก่ไปตลาดญี่ปุ่นในปี 2548 ต่ำกว่า 100 ตันก็จะถูกตัดสิทธิการรับรองโรงงาน โดยโรงงานที่ได้รับการรับรอง ได้แก่ บริษัท โอเวอร์ซีส์ โปรเซสซิ่ง จำกัด, บริษัท อัลเฟรโด เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด, บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนลเพ็ท ฟู้ด จำกัด, บริษัท พรีเซิรฟ์ ฟู้ดส์ สเปเชียลตี้ จำกัด, บริษัท ซี.พี.-โยเนะคิว จำกัด และบริษัท ซันฟู้ด อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
อนึ่งมี 2 ใน 10 โรงงานที่ถูกตัดสิทธิ์และได้ขอถอนตัวออกจากการตรวจรับรองของเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นและไทยได้ส่งรายชื่อโรงงานแห่งใหม่เข้าไปให้ญี่ปุ่นตรวจรับรองแทน ขณะที่โดยรวมแล้วโรงงานที่ถูกยกเลิกมี 5 โรงงานและมีโรงงานแห่งใหม่เข้ามายื่นขอการตรวจรับรองอีก 6 แห่งเป็นเหตุให้มีโรงงานเกินโควต้าอยู่อีก 1 แห่ง ดังนั้น กรมปศุสัตว์ได้ใช้วิธีการตัดสิทธิ์การรับรองนี้โดยพิจารณาจากเลขที่ใบคำขอรับการตรวจรับรองและได้จัดให้ไว้ให้รายชื่อไว้รอตรวจรับรองโรงงานในครั้งต่อไป
ประเด็นวิเคราะห์ :
นโยบายการรับรองของญี่ปุ่นในการนำเข้าไก่แปรรูปจากไทยได้มีผู้ตั้งข้อสังเกตุจากวงในของอุตสาหกรรมส่งออกไก่ว่านโยบายดังกล่าวดูคล้ายว่าจะเป็นการกีดกันทางการค้าและเป็นการจำกัดปริมาณการนำเข้าไก่แปรรูปจากไทยซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีข่าวในลักษณะนี้ออกมาก่อน ในทางกลับกันมีแต่ญี่ปุ่นต้องการจะซื้อเนื้อไก่จากไทยเพิ่มขึ้น ดังนั้น การดำเนินนโยบายนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับการเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นหรือ JTEPA ที่ถูกเลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนด
ที่มา: http://www.depthai.go.th