นักวิชาการจี้รื้อ “FTA อาเซียน-จีน”เน้นค้าบริการรับจีนปฏิรูปเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 18, 2006 14:01 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          จากการที่ไทยลงนามจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี(FTA) ระหว่างอาเซียน-จีน ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2546 สำหรับสินค้าผัก-ผลไม้ และสินค้าอื่นทำให้มูลค่าการค้าระหว่างไทย-จีน ตั้งแต่เปิดตลาดขยายตัวร้อยละ 24.5 ในขณะที่ไทยยังเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าให้กับ จีนอย่างต่อเนื่องโดยปี 2548(มค.-กย.) ขาดดุลการค้า 1,718.62 ปี 2549(มค.-กย.) ขาดดุลการค้า 1,688.12 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นไทยจำเป็นต้องหาสาเหตุการขาดดุลการค้าตลอดจนแนวทางการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอเพื่อเจาะตลาดจีน
นายสมภพ มานะรังสรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์ฯ กล่าวในงานสัมมนา “จีน: หนึ่งประเทศ หลากหลายกฎเกณฑ์” เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2549 ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จีนจะกลายเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก โดยสะท้อนผ่าน 4 ดัชนี ได้แก่
1. อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) จีน เติบโตอย่างก้าวกระโดด ขณะนี้อยู่ที่ 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าอีกไม่เกิน 2 ปี จะแซงหน้าเยอรมนีซึ่งมีมูลค่าจีดีพี 2.79 และภายใน 5-6 ปี คาดว่าจีนจะแซงญี่ปุ่นซึ่งมีจีดีพี 4.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
2. มูลค่าการส่งออกของจีนจะกลายเป็นอันดับหนึ่งของโลกภายใน 1-2 ปี จากปัจจุบันมูลค่าการส่งออกของจีนเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐและเยอรมนี
3. จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2548 มีจำนวน 31 ล้านคน คาดการณ์ว่าใน 5 ปี จะเพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านคน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนจีนมีรายได้ดีขึ้นจากเศรษฐกิจของประเทศ
4. จำนวนชนชั้นกลางที่มีสัดส่วนสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจซื้อของจีนได้เพิ่มขึ้นจากปี 2547 มีจำนวน 70-80 ล้านคน และคาดว่าในปี 2557 จีนจะมีชนชั้นกลางถึง 250 ล้านคน
จากดัชนีดังกล่าว นายสมภพ วิเคราะห์ว่า นโยบายเศรษฐกิจจีนในอดีตมุ่งเน้นการใช้ “global supply chain management” โดยเร่งทำเอฟทีเอกับประเทศในกลุ่มอาเซียนทั้งหมด ต่างจากมหาอำนาจอย่างญี่ปุ่นและสหรัฐที่ทำเอฟทีเอในลักษณะทวิภาคี และสงวนสินค้าเกษตรเป็นสินค้าอ่อนไหว ขณะที่จีนเร่งเปิดเสรีสินค้าเกษตรนำร่องก่อนเป็นอันดับแรก แต่การเปิดรับระบบค้าเสรี กลับทำให้จีนต้องเผชิญกับปัญหาการใช้มาตรการกีดกันการค้าที่มิใช่ภาษี(NTBs) ดังนั้นทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของจีนในอนาคตจะเริ่มหันกลับสู่ภายในประเทศ โดยอาศัยปัจจัยภายในเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ
ขณะที่พื้นที่มณฑลด้านนอกติดชายฝั่งทะเลจีนจะหันไปพัฒนาธุรกิจบริการ ทั้งการท่องเที่ยว การเงิน การธนาคารแทน ทำให้ไทยมีโอกาสใช้ประโยชน์จากแถบนี้ลดลง เนื่องจากไทยยังขาดศักยภาพในการแข่งขันในธุรกิจบริการ
ประเด็นวิเคราะห์:
จากการที่จีนหันมาปฎิรูปเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหม่ขึ้นเป็นจำนวนมาก และกลุ่มนี้จะกลายเป็นคู่แข่งของผู้ประกอบการในอาเซียนในอนาคต จึงจำเป็นที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งหามาตรการเพื่อสนับสนุนและเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทย และเร่งขยายขอบเขตการทำเอฟทีเอ ในส่วนภาคบริการและการลงทุนของอาเซียน-จีน
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ