โอกาสสิ่งทอไทยในตลาดชิลี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 25, 2006 13:25 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          ชิลี  ประเทศ ที่ไทยไม่ควรมองข้ามโดยเฉพาะตลาดสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ถึงแม้ว่าจะมีส่วนแบ่งทางการตลาด 1 % 
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงรายงานการจัดอันดับประเทศที่มีศักยภาพการแข่งขันของปี 2006-2007 (The Global Competitiveness Report 2006-2007) ของ The World Economic Forum ว่าชิลีเป็นประเทศเดียวในลาตินอเมริกาที่ติดอันดับ 1 ใน 50 โดยอยู่อันดับที่ 27 ในขณะที่ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 35 ดังนั้น แม้ชิลีจะอยู่ห่างไกลและพูดภาษาสเปน แต่ผู้ค้าไทยก็ไม่ควรมองข้ามประเทศนี้
การค้าระหว่างไทยกับชิลีแม้จะมีมูลค่าไม่มาก คือเพียง 283 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2548 แต่อัตราการขยายตัวค่อนข้างสูง โดยในระยะ 8 เดือนแรกของปี 2549 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นเป็น 277 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นถึง 40 % สินค้าของที่มีลู่ทางในการขยายตลาดเข้าสู่ชิลีมีมากมาย สินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปก็เป็นหนึ่งในรายการสินค้าที่ไทยน่าจะสามารถขยายตลาดเข้าสู่ประเทศชิลีได้
ชิลีนำเข้าสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ในระหว่างปี 2545-2547 เฉลี่ยปีละประมาณ 876 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และปี 2548 นำเข้าเป็นมูลค่า 1,175 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้าจากไทยโดยเฉลี่ยประมาณ 4.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี หรือมีส่วนแบ่งการตลาดสินค้านี้ในชิลีประมาณ 1 % จำแนกเป็นรายการปลีกย่อยต่างๆถึงกว่า 200 รายการ แต่มีเพียง 4 รายการเท่านั้น ที่ไทยสามารถครองตลาดในชิลีได้มากกว่า 10 % ได้แก่ ด้ายฝ้าย (18.84%) ด้ายใยยาวสังเคราะห์ (16.07%) ด้ายใยสั้นสังเคราะห์ (20.53 %) และถุงเท้าเด็กถัก (26.20%)
“ทั้งนี้ เสื้อผ้าส่วนใหญ่ที่ชิลีจะนำเข้าจากบริษัท ALMACENES PARIS (บริษัทของฝรั่งเศส) และบริษัทนำเข้าของชิลีเอง เช่น ADIDAS, NIKE, และ PUMA ซึ่งก็เป็นบริษัทที่นำเข้าสินค้าจากไทยโดยตรงเช่นกัน คู่แข่งที่สำคัญในตลาดชิลีคือ จีน ซึ่งปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 50 รองลงมาได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน เกาหลีใต้ ฯลฯ ปัจจุบันจีนยึดครองตลาดล่างของชิลีไว้มากที่สุด ดังนั้น หากไทยมีเป้าหมายจะขยายตลาดสินค้านี้เข้าสู่ชิลี โอกาสของไทยคือต้องขยายไปยังตลาดบน โดยผลิตสินค้า Brand Name และมีคุณภาพดี” นางอภิรดี กล่าว
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ