พยากรณ์อากาศเกษตรรายปักษ์ ระหว่าง วันที่ 1-15 พฤษภาคม

ข่าวทั่วไป Thursday May 4, 2006 14:25 —กรมอุตุนิยมวิทยา

          พยากรณ์อากาศเกษตรรายปักษ์
ระหว่าง วันที่1-15 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ฉบับที่9/2549
สภาวะอากาศ
ในระยะครึ่งแรกของเดือนพฤษภาคมนี้จะเป็นช่วงที่เปลี่ยนจากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน ลักษณะอากาศจะแปรปรวน ส่วนบริเวณประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศร้อนอบอ้าวและมีฝนฟ้าคะนอง 20-40 % ของพื้นที่ สำหรับภาคใต้จะมีฝนฟ้าคะนอง 40-50 % ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน ทะเลอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร
ข้อควรระวัง
ในระยะครึ่งแรกของเดือนนี้ประเทศไทยตอนบน โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาจเกิดพายุฤดูร้อนได้ โดยจะมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ จึงขอให้ดูแลสิ่งปลูกสร้างให้แข็งแรงไว้ด้วย นอกจากนี้อาจมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงก่อตัวขึ้นบริเวณทะเลอันดามันซึ่งอาจทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลน และมีแนวโน้มการเคลื่อนตัวทางทิศเหนือค่อนไปทางตะวันออกเข้าใกล้ด้านตะวันตกของประเทศไทยได้ ซึ่งจะทำให้ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งคลื่นลมในทะเลจะมีกำลังแรงขึ้นด้วย ขอให้ติดตามข่าวอากาศประจำวันจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดต่อไปด้วย
สภาวะอากาศที่มีผลกระทบต่อการเกษตร
พืชสวน เนื่องจากในระยะนี้บางช่วงจะมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงดังนั้นเกษตรกรจึงควรผูกยึดและค้ำยันกิ่งและลำต้นไม้ผลเพื่อป้องกันการหักโค่นเมื่อมีลมแรง นอกจากนี้ควรดูแลบริเวณสวนให้โล่งเตียน อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน และป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา
สัตว์เลี้ยง เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในระยะนี้ ซึ่งอาจทำให้สัตว์อ่อนแอและเจ็บป่วยได้ง่าย ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรหมั่นสังเกตสัตว์เลี้ยงหากพบตัวที่ป่วยควรแยกออกจากกลุ่มแล้วรีบรักษาเพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่ไปยังตัวอื่นๆ
พืชไร่ สำหรับผู้ที่ปลูกพืชในระยะนี้ควรคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันเชื้อราด้วย นอกจากนี้ควรยกร่องแปลงปลูกให้สูงขึ้น และทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกเพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง
คำเตือน
เนื่องจากในระยะนี้เป็นช่วงที่เปลี่ยนแปลงฤดูจากฤดูร้อน เข้าสู่ฤดูฝน สภาพอากาศแปรปรวน ดังนั้นจึงควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย นอกจากนี้ควรเตรียมขุดลอกคูคลองและทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก เพื่อระบายน้ำในช่วงหน้าฝนที่จะมาถึงนี้
กลุ่มอุตุนิยมวิทยาเกษตร สำนักพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา โทร 02-3992322
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ