บทสรุปภาวะการส่งออกของประเทศไทยเดือน ม.ค.-มี.ค. 2549

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 26, 2006 18:26 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. เศรษฐกิจไทยในปี 2549  คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.7-5.7* ในขณะที่ปี 2548  GDP ไทยขยายตัวที่ร้อยละ 4.7 แต่ขณะนี้มีสถานการณ์ผันผวนด้านการเมืองตั้งแต่รัฐบาลประกาศยุบสภาฯ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 จะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจขยายตัวลดลงโดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5-5.5
2. ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสำคัญอันดับที่ 24 ของโลก ในช่วง ม.ค.-ส.ค 2548 มีสัดส่วนการส่งออกประมาณร้อยละ 1.16 ของการส่งออกรวมในตลาดโลก
3. ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าสำคัญอันดับที่ 20 ของโลก ของช่วง ม.ค.-ส.ค. 2548 มีสัดส่วนการนำเข้าประมาณร้อยละ 1.25 ของการนำเข้าในตลาดโลก
4. การค้าของไทยในเดือน ม.ค.-มี.ค. 2549 มีมูลค่า 59,525.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.74 แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 29,560.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.31 หรือคิดเป็นร้อยละ 22.68 ของเป้าหมายการส่งออกที่ 130,288 ล้านเหรียญสหรัฐ การนำเข้ามีมูลค่า 29,965.00 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.73 ไทยเสียเปรียบดุลการค้า เป็นมูลค่า 404.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
5. สินค้าส่งออกสำคัญ 50 อันดับแรกซึ่งมีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 84.43 ของมูลค่าการส่งออกเดือน ม.ค.-มี.ค. 2549 ในจำนวนนี้มีสินค้าซึ่งมีมูลค่าการส่งออกเปลี่ยนแปลงสูง ดังนี้
- ทองแดงและของทำด้วยทองแดง,ส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน,ก๊าซปิโตรเลียมเหลว, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ,เลนส์, และยางพารา เพิ่มขึ้นร้อยละ 81.49, 48.95, 44.79, 44.40 และ 42.88 ตามลำดับ
6. การส่งออกสินค้าไทยไปภูมิภาคต่างๆ มีสัดส่วนและภาวะการส่งออก ดังนี้
การส่งออกสินค้าไทยไปภูมิภาคต่าง ๆ
ภูมิภาคต่าง ๆ สัดส่วน มูลค่า %
ร้อยละ (ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เปลี่ยนแปลง
1. อเมริกาเหนือ (สหรัฐฯ แคนาดา) 16.2 4,785 17.9
2. ยุโรป (สหภาพยุโรป & ยุโรปตะวันออก) 14.5 4,275 12.3
3. เอเชียตะวันออก(ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี) 17.6 5,217 10.7
4. อาเซียน (9) 21.4 6,313 14.7
5. จีนและฮ่องกง 14.2 4,211 30.8
6. อินเดีย 1.2 354 -12.3
7. อื่นๆ 14.9 4,407 26.2
สถิติการส่งออกสินค้าไทยไปแต่ละภูมิภาค
6.1 การส่งออกไปภูมิภาคอเมริกาเหนือ (สหรัฐฯ แคนาดา) เดือน ม.ค — มี.ค.2549 มีมูลค่า 4,785 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 หรือคิดเป็นร้อยละ 22.98 ของเป้าหมายการส่งออกที่ 20,819 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2549 โดยการส่งออกไปสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 ส่วนการส่งออกไปแคนาดาเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7
จากสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ 30 อันดับแรกพบว่าสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมากกว่าร้อยละ 100 มี 2 รายการได้แก่ เม็ดพลาสติกและปูนซีเมนต์ สินค้าอื่นๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากว่าร้อยละ 60 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ สินค้าส่งออกไปสหรัฐที่มีมูลค่าลดลงมากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ วงจรพิมพ์
ตลาดแคนาดาเมื่อสังเกตจากสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดนี้ในช่วง ม.ค.-มี.ค. 2549 มีมูลค่า 288.94 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.66 จาก 50 อันดับพบว่ามีสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นในอัตราสูง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 387.50 และสินค้าอื่นที่เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และสินค้าที่ลดลงกว่าร้อยละ 20 ได้แก่ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบและผลิตภัณฑ์พลาสติก
6.2 ยุโรป การส่งออกสินค้าไทยไปยุโรปในเดือน ม.ค — มี.ค. 2549 มีมูลค่า 4,275 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 หรือคิดเป็นร้อยละ 26.11 ของเป้าหมายการส่งออกที่มูลค่า 16,372 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกไปยุโรปแบ่งออกเป็น 2 ตลาดคือ
สหภาพยุโรป (15) สินค้าไทยส่งออกไปสหภาพยุโรปในเดือน ม.ค. — มี.ค. 2549 มีมูลค่า 3,909.10 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.28 จากสินค้าสำคัญ 30 อันดับแรกส่งออกไปตลาดนี้พบว่ามีสินค้าที่สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 50 มี 3 รายการคือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพาราและเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น มากกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ ไก่แปรรูป ส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
ยุโรปตะวันออก สินค้าไทยส่งออกไปยุโรปตะวันออกในเดือน ม.ค. — มี.ค. 2549 มีมูลค่า 365.73 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.06 สินค้าที่สามารถขยายการส่งออกไปตลาดนี้ได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 ได้แก่ เตาอบไมโครเวฟและเครื่องไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ผักกระป๋องและแปรรูป แผงวงจรไฟฟ้า ก๊อก วาวล์และส่วนประกอบ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรพิมพ์ โทรศัพท์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้าที่มีมูลค่าลดลง กว่าร้อยละ 30 ได้แก่ ข้าว เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน
ตลาดในยุโรปตะวันออกที่ไทยสามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 100 ได้แก่ ฮังการี คาซัคสถาน สาธารณรัฐสโลวัก และเบรารุส โดยขยายตัวร้อยละ 151.20, 126.27, 142.36 และ 335.38 ตามลำดับ ส่วนประเทศที่ขยายตัวมากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ โปแลนด์ ยูเครนและอาเซอร์ไบจาน ประเทศที่มีสถิติลดลง ได้แก่ โรมาเนีย สโลวิเนีย จอร์เจีย และอาเมเนีย เป็นต้น
6.3 เอเชียตะวันออก (ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้) การส่งออกสินค้าไทยไปยังเอเชียตะวันออกในช่วง ม.ค. — มี.ค. 2549 มีมูลค่า 5,217 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 หรือคิดเป็นร้อยละ 21.96 ของเป้าหมายการส่งออกที่ 23,750 ล้านเหรียญสหรัฐ
ญี่ปุ่น การส่งออกสินค้าไทยไปญี่ปุ่นในเดือน ม.ค. — มี.ค. 2549 มีมูลค่า 3,863.96 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.82 จากสถิติสินค้าไทย 50 อันดับแรกส่งออกไปตลาดนี้มีสินค้าที่สามารถส่งออกได้เป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 100 มี 1 รายการคือ น้ำมันสำเร็จรูป ส่วน สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น มากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เซรามิก เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ ของเบ็ดเตล็ดทำด้วยโลหะ สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่าร้อยละ 20 ได้แก่ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด เนื้อปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง แก้วและกระจก และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้
ไต้หวัน การส่งออกสินค้าไทยไปไต้หวันในเดือน ม.ค. — มี.ค. 2549 มีมูลค่า 750.61 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.60 จากสถิติสินค้าไทย 50 อันดับแรกส่งออกไปตลาดนี้มีสินค้าที่สามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 มี 3 รายการ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ทองแดงและของทำด้วยทองแดง น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น มากกว่าร้อยละ 60 ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องพักกระแสไฟฟ้า เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็งและปลาแห้ง
เกาหลีใต้ การส่งออกสินค้าไทยไปเกาหลีใต้ในเดือน ม.ค. — มี.ค. 2549 มีมูลค่า 602.79 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.85 จากสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดนี้ 50 อันดับแรกมีสินค้าที่สามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 มี 4 รายการ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล น้ำมันสำเร็จรูป ทองแดงและของที่ทำด้วยทองแดง เครื่องพักกระแสไฟฟ้า สินค้าที่เพิ่มขึ้น มากกว่าร้อยละ 50 คือ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผักกระป๋องและแปรรูป สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ น้ำตาลทราย ข้าวและรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
6.4 อาเซียน(9) การส่งออกสินค้าไทยไปตลาดอาเซียนในเดือน ม.ค. — มี.ค. 2549 มีมูลค่า 6,248.21 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.50 หรือคิดเป็นร้อยละ 21.80 ของเป้าหมายการส่งออกที่ 28,650 ล้านเหรียญสหรัฐ จากสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดนี้ 50 รายการแรกมีสินค้าที่สามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 422.30 มี 1 รายการ คือ อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น สูงกว่าร้อยละ 100 มี 2 รายการคือ ทองแดงและของที่ทำด้วยทองแดง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สินค้าที่เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป ยางพารา ส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ วงจรพิมพ์
ตลาดในกลุ่มอาเซียนที่ไทยสามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นสูงคือ ลาว และบรูไน โดยมีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.01 และ 41.60 ตามลำดับ ตลาดที่มีมูลค่าลดลงมีเพียงประเทศเดียวคือ อินโดนีเซีย ลดลงร้อยละ 23.30
6.5 จีนและฮ่องกง มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปจีนและฮ่องกงในเดือน ม.ค. — มี.ค. 2549 มีมูลค่า 4,211 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.8 หรือคิดเป็นร้อยละ 21.11 ของเป้าหมายการส่งออกที่มีมูลค่า 19,943 ล้านเหรียญสหรัฐ
จีน การส่งออกสินค้าไทยไปจีนในเดือน ม.ค. — มี.ค. 2549 มีมูลค่า 2,563.62 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.68 จากสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปจีน 50 อันดับแรกมีสินค้าที่สามารถขยายการส่งออกไปจีนได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 มี 12 รายการ ได้แก่ น้ำมันดิบ แผงวงจรไฟฟ้า น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง วงจรพิมพ์ แผงสวิทช์ และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เลนซ์ เครื่องพักกระแสไฟฟ้า สายไฟฟ้า สายเคเบิ้ล เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบ แม่พิมพ์ หุ่นแบบหล่อโลหะ ของเบ็ดเตล็ดทำด้วยโลหะสามัญ สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากกว่าร้อยละ 30 มี 1 รายการคือ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
ฮ่องกง การส่งออกสินค้าไทยไปฮ่องกงในเดือน ม.ค. — มี.ค. 2549 มีมูลค่า 1,647.09 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.67 จากสถิติการส่งออกสินค้าไทย 50 อันดับแรกมีสินค้าไทยที่สามารถขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 100 มี 5 รายการ ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องส่งวิทยุโทรเลขโทรศัพท์ เครื่องโทรสาร โทรพิมพ์ โทรศัพท์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา ทองแดงและของทำด้วยทองแดง สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น มากว่าร้อยละ 50 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง กล้องถ่ายรูปและอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สินค้าที่มีมูลค่าลดลง มากว่าร้อยละ 30 ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับใช้สัญณานเสียงและส่วนประกอบ
6.6 อินเดีย การส่งออกสินค้าไทยอินเดียในเดือน ม.ค. — มี.ค. 2549 มีมูลค่า 353.65 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับ 403.08 ล้านเหรียญสหรัฐของปี 2548 ในช่วงเดียวกันลดลงร้อยละ 12.26 หรือคิดเป็นร้อยละ 14.42 ของเป้าหมายการส่งออกที่มูลค่า 2,451 ล้านเหรียญสหรัฐจากสถิติการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดนี้ 50 อันดับแรก มีสินค้าที่ขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้นสูงมากกว่าร้อยละ 100 มี 7 รายการได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ทองแดงและของที่ทำด้วยทองแดง หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ กระดาษ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและครัวเรือน เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ น้ำมันสำเร็จรูป แม่พิมพ์หุ่นแบบหล่อโลหะ ผลิตภัณฑ์เซรามิก ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ก๊อก วาวล์และส่วนประกอบ เครื่องเทศและสมุนไพร สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม มากกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องคอมเพรสเซอร์และเครื่องทำความเย็น ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ผ้าปักและผ้าลูกไม้ ลำโพงขยายเสียงและส่วนประกอบ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป
7. การนำเข้า
7.1 สินค้านำเข้ามีสัดส่วนโครงสร้างดังนี้
- สินค้าเชื้อเพลิง สัดส่วนร้อยละ 18.52 เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.11
- สินค้าทุน สัดส่วนร้อยละ 29.75 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.69
- สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สัดส่วนร้อยละ 40.29 ลดลงร้อยละ 3.53
- สินค้าบริโภค สัดส่วนร้อยละ 7.19 เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.96
- สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง สัดส่วนร้อยละ 3.18 ลดลงร้อยละ 7.13
- สินค้าอื่นๆ สัดส่วนร้อยละ 1.07 ลดลงร้อยละ 22.99
7.2 แหล่งนำเข้าสำคัญ 10 อันดับแรก
มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 65.97 ของมูลค่าการนำเข้าเดือน ม.ค.-มี.ค. 2549 ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และโอมาน สัดส่วนร้อยละ 20.78, 9.64, 6.80, 6.29, 4.51, 4.32, 4.17, 3.82, 2.96 และ 2.69 โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ -2.73, 13.91, -2.56, -6.42, 10.74, -0.10, 21.30, 18.40, 7.32 และ 35.27 ตามลำดับ
8. สรุปข้อคิดเห็น
1. การส่งออกสินค้าไทยในไตรมาสแรกยังคงขยายตัวได้ดีทั้งตลาดหลักและตลาดใหม่แต่จากการประเมินสถานการณ์ทั่วไปการส่งออกในช่วงไตรมาส 2 จะค่อนข้างลำบากเนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก ได้แก่ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะมีผลให้ต้นทุนการผลิตและการขนส่งขยายตัวสูงขึ้นแต่หากค่าเงินของประเทศคู่แข่งสูงขึ้นด้วยก็จะไม่ทำให้สินค้าไทยได้รับผลกระทบมากนักหรือหากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในระยะสั้นก็จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบมากนัก นอกจากนี้ปัจจัยด้านสถานการเกี่ยวกับการเมืองในประเทศยังไม่นิ่งก็จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินการด้านนโยบายเศรษฐกิจการค้าที่เกี่ยวกับการจัดทำข้อตกลงเปิดเขตการค้าเสรีกับประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่นต้องชะลอลงไป
2. การส่งออกสินค้าไทยไปภูมิภาคต่างๆ ทั้ง 6 ภูมิภาคมีภาวะเพิ่มขึ้น 5 ภูมิภาคโดยภูมิภาคจีนและฮ่องกง เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.8 รองลงไปคือ อาเซียน ยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชียตะวันออก ส่วนอินเดีย ลดลงร้อยละ 12.3 เนื่องจากมีสินค้าไทยหลายรายการมีสถิติลดลง เช่น เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ และสายไฟฟ้า สายเคเบิ้ล เป็นต้น แต่ก็มีสินค้าหลายรายการที่สามารถขยายการส่งออกไปตลาดนี้มากกว่าร้อยละ 100 เช่น เคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น
3. จากข้อมูลของสำนักคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในไตรมาสแรก ม.ค.-มี.ค. 2549 มีโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุน 329 รายเทียบกับ 285 รายของปี 2548 ในช่วงระยะเวลาเดียวกันเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 โดยเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง 71 โครงการ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 60 โครงการ เกษตรกรรมและผลผลิตจากการเกษตร 51 โครงการและอื่นๆ 147 โครงการ ในจำนวนนี้เป็นโครงการเพื่อการส่งออกร้อยละ 30-79 มี 54 โครงการและการส่งออกร้อยละ 80-100 มี 88 โครงการ นักลงทุนจากต่างประเทศรายใหญ่ได้แก่ ญี่ปุ่น รองลงมาคือ ยุโรป ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และสิงคโปร์
4. สถานการณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในปี 2549 คาดว่าจะเติบโตต่ำกว่าร้อยละ 5 เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่
1) ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น ผนวกกับความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่านยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง หากเกิดสงครามขึ้นจะส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นไปอีกอาจจะถึง 75-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล
2) โครงการลงทุนขนาดใหญ่(เมกะโปรเจกต์) ต้องเลื่อนออกไป
3) กำลังซื้อและการลงทุนชะลอลงเนื่องจากภาวะดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นและความผันผวนทางการเมืองที่ยังไม่หยุดนิ่งปัจจัยที่สามารถกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อไปได้ ได้แก่
1) เศรษฐกิจโลก ในปี 2549 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3-4 และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญที่ยังมีแนวโน้มที่ดี เช่น สหรัฐอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 3.4 ,ญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 2.8, จีน ขยายตัวร้อยละ 9.2, สิงคโปร์ ขยายตัวร้อยละ 5.5, ฮ่องกง ขยายตัวร้อยละ 5.5, มาเลเซีย ขยายตัวร้อยละ 5.5, ออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 2.9, อินโดนีเซีย ขยายตัวร้อยละ 5.5, สหราชอาณาจักร ขยายต้วร้อยละ 2.5และไต้หวัน ขยายตัวร้อยละ 4.0 เมื่อเศรษฐกิจโลกและคู่ค้าสำคัญขยายตัวดีย่อมจะส่งผลให้ปริมาณการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น
2) การส่งออกและการท่องเที่ยวยังสามารถขยายตัวในเกณฑ์ดี จึงเชื่อว่าทั้ง 2 ปัจจัยนี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวต่อไปได้
ที่มา: http://www.depthai.go.th

แท็ก การส่งออก   GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ