จี้แบงก์ชาติดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทห่วงส่งออกปีหน้าแนะรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 3, 2006 16:38 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2550 ว่า มีโอกาสขยายตัว 4.7% จากปี 2549 ที่คาดว่าจะขยายตัว 4.5% เนื่องจากปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ ราคาน้ำมันมีแนวโน้มใกล้เคียงกับปี 2549  ขณะที่อัตราดอกเบี้ยโลกมีแนวโน้มปรับลดลงประมาณ 0.5-0.75%
นอกจากนี้การใช้จ่ายของภาครัฐจะช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มาก รวมถึงเศรษฐกิจโลก ปี 2550 ที่จะขยายตัว 4.9% และการค้าโลกขยายตัว 7.6 % โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน อินเดีย และเวียดนาม ขณะที่ปัจจัยการเมืองที่มีเสถียรภาพขึ้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการรวมถึงความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ คาดว่าการลงทุนจะดีขึ้นในปีหน้า
อย่างไรก็ตาม คาดว่า ปี 2550 การส่งออกจะขยายตัว 10% น้อยกว่าปี 2549 ที่ขยายตัวประมาณ 15.8% ในปี 2550 ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าระดับ 36.3 บาทต่อดอลลาร์ ส่งผลให้เงินบาทน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 36.5-37 บาทต่อดอลลาร์ในครึ่งปีแรก และ 36.1-36.5 บาทต่อดอลลาร์ในครึ่งปีหลังซึ่งจะส่งผลเชิงลบต่อการส่งออก
ดร.ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่าเศรษฐกิจประเทศไทยอยู่ในช่วงปรับตัวไปสู่เศรษฐกิจแนวใหม่ และราคาน้ำมันเริ่มมีการปรับตัวลดลง ขณะที่ภาครัฐจะขาดดุลงบประมาณปี 2550 ประมาณ 1 แสนล้านบาท และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทำให้การเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่คาดว่าจะนานถึง 9 เดือน เหลือเพียง 3 เดือน โดยสามารถเบิกจ่ายได้ในเดือนมกราคม 2550 ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย คาดว่าปัจจัยเหล่านี้ จะเอื้อให้เศรษฐกิจประเทศขยายตัว 4.5-5% ดีกว่าเดิมที่คาดไว้ 4% และปี 2550 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 4.5-5.5 % จากเดิมคาดไว้ 4.0-5.3% ซึ่งจะเป็นแรงต่อเนื่องต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2551 ต่อไป
ด้านนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จะมีผลต่อสินค้าที่มีการผลิตในประเทศสูงส่วนใหญ่ ได้แก่สินค้าเกษตร ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยควรดูแลเงินบาทให้มีเสถียรภาพไม่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพราะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรดึงการบริโภคภายในควบคู่กันไปด้วยการเพิ่มรายได้ให้ประชาชน เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในระบบดีขึ้น
ประเด็นวิเคราะห์
เศรษฐกิจไทยควรลดการพึ่งพาการส่งออกลง เพราะที่ผ่านมาการส่งออกเป็นตัวพยุงเศรษฐกิจมาโดยตลอด แต่ในภาวะที่อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่า เศรษฐกิจในตลาดคู่ค้าชะลอตัวจะทำให้มีปัญหา ควรกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศควบคู่กันไป นอกจากนี้ในส่วนของภาคเอกชน ต้องปรับตัวรองรับการแข่งขันที่ต้องแบกภาระต้นทุนเพิ่มจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นเร่งกระจายแหล่งตลาดส่งออกใหม่ ลดการพึ่งพิงตลาดอเมริกาลง
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ