เวียดนาม: คู่แข่ง การค้า-การลงทุน-ท่องเที่ยว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 18, 2006 11:24 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ศึกษาและเปรียบเทียบความสามารถทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับเวียดนามซึ่งมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่คล้ายคลึงกันใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การค้า การท่องเที่ยวและการลงทุน สรุปได้ดังนี้
1. การส่งออก ของเวียดนามในช่วง 10 ปีคือในปี 2539 เวียดนามมีมูลค่าการส่งออก 7,256 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นเป็น 32,233 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2548 หรือมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยสูงประมาณร้อยละ 20 ส่วนประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออก 55,941 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2539 เพิ่มขึ้นเป็น 110,883 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2548 หรือขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี จะเห็นได้ว่าการส่งออกของเวียดนามขยายตัวสูงกว่าการส่งออกของไทย
2. การลงทุน ของเวียดนามในไตรมาสแรกปี 2549 โครงการลงทุนของต่างชาติที่เวียดนามอนุมัติโครงการรายใหม่มี 215 โครงการจำนวนเงินลงทุนจดทะเบียน 1,625 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่บีโอไอของไทยอนุมัติโครงการลงทุนจำนวน 200 โครงการ เพิ่มขึ้น 9.9% จำนวนเงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 58%
3. การท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางไปเวียดนามเพิ่มขึ้น 18.4% หรือ 3.47 ล้านคนในปี 2548 ทางการเวียดนามตั้งเป้าหมายการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 3.6-3.8% ล้านคนในปี 2549 ส่วนประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประมาณ 11 ล้านคนในปี 2548
สถาบันนานาชาติว่าด้วยการพัฒนาการบริหารจัดการหรือ IMD ได้จัดอันดับศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้ปรับลดศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยประจำปีลง 5 อันดับจากอันดับที่ 27 ในปี 2548 ลงมาเป็นอันดับที่ 32 ในปี 2549 จาก 60 ประเทศที่ได้สำรวจ
ด้านผู้ประกอบการของไทยในอุตสาหกรรมเซรามิก นายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปางและนายสมชาย ผลเจริญ ที่ปรึกษาสมาคมฯ ได้ร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมเซรามิก และนอกจากนี้ยังมีคู่แข่งขันที่น่าจับตาคือ เวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีโครงสร้างใกล้เคียงกับไทยมาก กำลังพัฒนาอุตสาหกรรมโดยสนับสนุนการลงทุนคล้ายกับไทย ซึ่งขณะนี้ทราบว่าเวียดนามเริ่มหันมาพัฒนาสินค้าเซรามิกประเภทเครื่องใช้ในบ้านและครัวเรือนได้หลากหลายมากขึ้นมีผลให้ผู้นำเข้าเริ่มสั่งซื้อจากเวียดนามมากขึ้นจึงมีผลกระทบต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกของไทย เนื่องจากเวียดนามมีข้อได้เปรียบด้านอัตราค่าแรงงานที่ต่ำกว่าไทยมาก
ด้านสินค้าข้าว ในปี 2548 เวียดนามส่งออกข้าวปริมาณประมาณ 5.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 ในขณะที่ไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกสำคัญอันดับ 1 ส่งออกปริมาณ 7.2 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 28 เทียบกับ 10 ล้านตันของปี 2547 ส่วนปี 2549 เวียดนามตั้งเป้าหมายการส่งออกที่ 4.2-5 ล้านตันและมีแนวโน้มเป็นไปได้สูง ในขณะที่ต้นปีที่ผ่านมาคือ ม.ค.-เม.ย. 2549 เวียดนามได้ส่งออกข้าวแล้ว 1.7 ล้านตัน เป็นมูลค่า 466 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากที่ได้ลงนามในสัญญาการส่งออกข้าวเป็นจำนวน 3.5 ล้านตันแล้วในปี 2549 และในเดือนพฤษภาคมนี้ เวียดนามได้ส่งออกข้าวล็อตใหญ่จำนวน 440,000 ตันจากทั้งหมด 500,000 ตันให้แก่ฟิลิปปินส์ซึ่งถือเป็นการครองตลาดที่ใหญ่ในฟิลิปปินส์ติดต่อกันเป็นปีที่สาม ปีนี้เวียดนามจะขายข้าวให้ฟิลิปปินส์จำนวน 782,500 ตัน ด้านการผลิตเวียดนามกำลังพัฒนาและทดลองปลูกข้าวหอมจำนวน 6 สายพันธ์ด้วยกันมีเป้าหมายผลิตข้าวพันธ์คุณภาพดีให้ได้ 1 ล้านตันในปี 2550 พร้อมกับจะส่งออกสู่ตลาดโลกให้ได้ 500,000 ตันในปีเดียวกัน สำหรับประเทศไทยมีเป้าหมายการส่งออก 7.5 ล้านตันแต่ไทยกำลังเผชิญปัญหาทั้งในเรื่องราคาข้าวที่สูงขึ้นต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ค่าของเงินบาทที่แข็งตัวขึ้นส่งผลให้ผู้นำเข้าในหลายประเทศชะลอการสั่งซื้อจากไทย
สินค้ากุ้ง ปัจจุบันรัฐบาลเวียดนามให้การสนับสนุนการเลี้ยงกุ้งเต็มที่โดยในปี 2547 เวียดนามผลิตกุ้ง 106,000 ตัน เพิ่มขึ้นเป็น 115,000 ตัน ในปี 2548 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.49 และปี 2549 คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 145,000 ตันหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 ประเภทของกุ้งที่เวียดนามเพาะเลี้ยงได้แก่ กุ้งกุลาดำ ร้อยละ 95 และกุ้งขาว ร้อยละ 5 ดังนั้นเวียดนามจึงถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวประเทศหนึ่ง
สินค้าอาหาร นางวิไล เกียรติศรีชาติ นายกกิตติมศักดิ์และนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปของไทยให้ความเห็นว่าขณะนี้ผู้ส่งออกกำลังเกรงว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้าเวียดนามจะสามารถแซงไทยขึ้นเป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ได้ เพราะสามารถพัฒนาศักยภาพการผลิตได้ใกล้เคียงกับประเทศไทยเพราะเวียดนามได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิตและภายในประเทศยังมีความสมบูรณ์ในด้านทรัพยากรธรรมชาติมากกว่าไทย
ประเด็นวิเคราะห์:
การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปี 2549 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 7.6-8.0 นับว่าเป็นอัตราที่สูงสุดในอาเซียน ทั้งนี้เพราะเวียดนามมีทรัพยากรน้ำมันดิบเป็นทรัพยากรธรรมชาติสำคัญอีกด้วย อีกทั้งอัตราค่าจ้างแรงงานยังอยู่ในระดับต่ำประมาณ 2,600 บาทต่อเดือนในขณะที่ประเทศไทยมีอัตราค่าจ้างเฉลี่ยประมาณ 6,000-7,000 บาทต่อเดือน รวมทั้งค่าเงินไทยแข็งกว่าและได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอีกด้วย เวียดนามจึงมีข้อได้เปรียบไทยทั้งในด้านต้นทุนการผลิตและทรัพยากรวัตถุดิบภายในประเทศทีอุดมสมบูรณ์กว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำนายว่าหากเวียดนามสามารถขยายการส่งออกได้ในอัตราที่สูงขึ้นอย่างสม่ำเสมอร้อยละ 20 ต่อปีจะสามารถแซงหน้าไทยได้ในปี 2563 และนอกจากนี้เวียดนามอาจจะเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 แทนประเทศไทยในอนาคต
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ