ผู้ประกอบการประมงและผลิตภัณฑ์ส่งออกรายใหญ่ เผย FTA ช่วยขยายตลาดและเพิ่มปริมาณการส่งออก พร้อมเสนอการจัดตั้งกองทุนเพื่อการปรับตัวแก่ธุรกิจประมงที่ได้รับผลกระทบจาก FTA ว่า ต้องคำนึงถึงธุรกิจต้นน้ำด้วย
นางอัญชนา วิทยาธรรมธัช นักวิชาการพาณิชย์ 9 ชช. กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการเดินทางไปเยี่ยมชมบริษัทผู้ประกอบการสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ในจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ผู้ประกอบการได้ประโยชน์จากการจัดทำ FTA เพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าได้เพิ่มขึ้นมากกว่าก่อนจัดทำ FTA ทั้งนี้ ผู้ประกอบการได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทำให้สามารถส่งออกสินค้าได้ง่ายและมากขึ้น เช่น บริษัท ณรงค์ซีฟูด จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ซีฟูดแช่แข็งและแปรรูป โดยนายอาทร พิบูลธนพัฒนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กล่าวถึงประโยชน์จาก FTA ว่า บริษัทเป็นผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ซีฟูด ในรูปแบบของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เช่น นำกุ้งมาชุบแป้งขนมปัง ปัจจุบันมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยในการส่งสินค้าไปออสเตรเลียเดิมสามารถส่งได้เดือนละ 1 ตู้คอนเทนเนอร์แต่ภายหลังที่ไทยลงนาม FTA กับออสเตรเลียทำให้ส่งออกได้เพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 4 ตู้คอนเทนเนอร์ อย่างไรก็ตามยังมีผู้ประกอบการบางรายที่ได้รับผลกระทบจากการจัดทำ FTA ดังนั้นหากมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการปรับตัวแก่ธุรกิจประมงที่ได้รับผลกระทบจาก FTA ภาครัฐควรให้ความสนใจถึงต้นน้ำ คือ ตัววัตถุดิบเพื่อให้มีต้นทุนที่ถูกลง”
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-