ธนาคารโลกเปิดเผยรายงานผลการศึกษาแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2549 ว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมจะยังสามารถเติบโตต่อไป ซึ่งในช่วงแรกจะดำเนินไปแบบทรงตัวและจะขยับขึ้นอย่างแข็งแกร่งในปีถัดไป แม้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจะต้องเผชิญกับสถาณการณ์ต่างๆจนเป็นเหตุให้เศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคอยู่ในภาวะชะลอตัว นอกจากนี้ธนาคารโลกยังได้ประเมินถึงเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาว่าจะมีอัตราการขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยคาดว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะอยู่ที่ 5.7% (ปี 2549) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจของจีนและอินเดีย
สมาคมเศรษฐกิจธุรกิจแห่งชาติ (NABE : National Association for Business Economics) ประเมินว่าสหรัฐฯ จะมีอัตราการขยายตัวประมาณ 3.3% ในปี 2549 ในขณะที่ปี 2548 มีอัตราการขยายตัว 3.6% ทั้งนี้พายุเฮอร์ริเคนไม่ได้สร้างผลกระทบให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากนักประกอบกับการขยายตัวร้อยละ 3.3 จะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ต่อไป ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะขยับขึ้นอีกอย่างน้อง 1 ครั้ง ในปีหน้า เพื่อควบคุมสถาณการณ์เงินเฟ้อ
โออีซีดี (องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) เปิดเผยการคาดการณ์เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม 30 ประเทศทั่วโลกว่าจะดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าปี 2549 จะมีจีดีพีอยู่ที่ 2.9% ขณะที่กลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรทั้ง 12 ชาติจะมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจระดับกลาง ซึ่งน่าจะมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 2.1% ในขณะที่ไอเอ็มเอฟ (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) คาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วทั้งในเอเซีย ยูโรป และอเมริกาเหนือ จะอยู่ที่ 2.7% ในปีหน้าพร้อมกับเตือนให้ระวังปัจจัยเสี่ยงของความผันผวนของราคาน้ำมัน
ประเด็นวิเคราะห์:
1. การที่เศรษฐกิจโลกโดยรวมมีแนวโน้มแข็งแกร่ง ก็จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจการค้าของไทยมีโอกาสเติบโตด้วย แต่ก็ยังคงต้องระวังปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ยังคงผันผวนได้ และควรวางกรอบนโยบายการเงินที่เหมาะสม รวมทั้งมีแผนการตั้งรับโรคระบาดโดยเฉพาะไข้หวัดนก เป็นต้น
2. นักลงทุนทั่วไปมีความมั่นใจมากขึ้น เมื่อภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดี ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านการผลิตและธุรกิจการค้า
ที่มา: http://www.depthai.go.th