นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช อธิบดีกรมการประกันภัย ปาฐกถา เรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างการประกันภัยและการพัฒนาระบบโลจิสติกส์สำหรับผู้นำเข้าและผู้ส่งออก” จัดโดยสมาคมประกันวินาศภัย เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2549 โดยมีรายละเอียดที่สำคัญสรุปได้ว่า ระบบโลจิสติกส์เข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมากในการช่วยสนับสนุนกระบวนการบริหารจัดการแบบบูรณาการ ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดการวัตถุดิบหรือการจัดการสินค้า จนกระทั่งถึงการบริหารเคลื่อนย้ายสินค้าจากต้นทางไปยังผู้บริโภคปลายทางได้อย่างทันเวลาและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าภายในประเทศไทยที่แบ่งเป็นสินค้าเกษตรและสินค้า อุตสากรรม ซึ่งพบว่าลักษณะของสินค้ามีผลต่อปัจจัยการพัฒนาโลจิสติกส์ เช่น สินค้าเกษตรบางประเภทการขนส่งต้องแช่เย็น บางประเภทเป็นสินค้าแบบเทกองเป็นต้น ดังนั้น การพัฒนารูปแบบการขนส่งอันเป็นกระบวนการหนึ่งของระบบโลจิสติกส์ให้สอดคล้องกับประเภทสินค้าจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง
รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เป็นอย่างมาก โดยถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลในการสนับสนุนส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจให้บริการ โลจิสติกส์ให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพสามารถเป็นปัจจัยหลักในการช่วยตัดสินใจของภาคธุรกิจอีกทางหนึ่ง โดยกำหนดเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศไทย (พ.ศ.2549-2553) เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบโลจิสติกส์ที่ได้มาตรฐานสากล โดยประเด็นยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับระบบประกันภัย คือ การพัฒนาธุรกิจให้บริการ โลจิสติกส์สามารถแข่งขันได้ในเวทีการค้าระหว่างประเทศ โดยระบบประกันภัยจะ เข้าไปส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์เฉพาะด้านตามความต้องการของธุรกิจในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้บริการโลจิสติกส์แบบเบ็ดเสร็จสำหรับการรวบรวม การเคลื่อนย้าย จัดเก็บ และนำส่งสินค้าในลักษณะ door-to-door บริการขนส่งหลายรูปแบบ (Multimodal Transport Operators) และบริการด้านประกันภัยขนส่งสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อเข้ามารองรับความเสี่ยงภัยให้แก่ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ อันจะส่งผลในการช่วยลดต้นทุนและแข่งขันได้ดังกล่าว
ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าระบบโลจิสติกส์กับระบบประกันภัยมีความเกี่ยวข้องกันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและการจัดเก็บสินค้า เช่น การประกันภัยการขนส่งทางทะเล การประกันภัยการขนส่งสินค้าภายใน ประเทศ การประกันภัยสินเชื่อทางการค้า การประกันภัยสต๊อคสินค้า และการประกันภัย ความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่อง เป็นต้น
อธิบดีกรมการประกันภัย กล่าวต่อไปอีกว่า กรมการประกันภัยมีแนวทางการสนับสนุนพัฒนาระบบโลจิสติกส์สำหรับผู้นำเข้าและส่งออกโดยการให้ความรู้ความเข้าใจถึงรูปแบบของการประกันภัยประเภทต่างๆ รวมทั้งการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อช่วยในการประชาสัมพันธ์ให้ กับผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนให้เห็นประโยชน์ของการทำประกันภัยขนส่งสินค้าทางทะเลกับบริษัทประกันภัยในประเทศ และกรมสรรพกรในการพิจารณากำหนดจำนวนเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมที่จะนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้เพื่อสร้างแรงจูงใจด้วยมาตรการทางภาษี เป็นการช่วยให้ผู้ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่ซื้อประกันภัยไว้กับบริษัทประกันภัยในประเทศไทยให้สามารถนำเบี้ยประกันภัยมาเป็นค่าใช้จ่ายในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนเงินเท่ากับ 150% ของเบี้ยประกันภัยที่ต้องชำระ
นอกจากนี้ กรมการประกันภัยยังมีแผนงานเพื่อสนับสนุนระบบการนำเข้าสินค้าในราคารวมค่าประกันภัยและขนส่ง (ราคา CIF) ตามโครงการส่งเสริมธุรกิจประกันภัยเพื่อผู้ส่งออก-ผู้นำเข้า ซึ่งจะดำเนินการในปี 2549-2552 โดยจะจัดทำเอกสารเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการประกันภัยการขนส่งทางทะเล การประกันภัยสินเชื่อทางการค้าการประกันภัยขนส่งในประเทศ และการประกันภัยความรับผิดของผู้ขนส่งเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการทำประกันภัยของผู้ส่งออก-ผู้นำเข้า อีกด้วย
ที่มา: http://www.doi.go.th