(ต่อ1) โทษทางอาญาที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 28, 2005 13:19 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          สำหรับมาตรการป้องปรามอีกมาตรการหนึ่งที่ควรนำมาใช้  เพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำความผิดขึ้นอีก  คือ การนำเอาวิธีการเพื่อความปลอดภัยประเภทห้ามประกอบอาชีพบางอย่าง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 50  ซึ่งมาตรานี้กฎหมายบัญญัติว่า “เมื่อศาลพิพากษาให้ลงโทษผู้ใด ถ้าศาลเห็นว่าผู้นั้น กระทำความผิดโดยอาศัยโอกาสจากการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ หรือเนื่องจากการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ และเห็นว่าหากผู้นั้น ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพนั้นต่อไป อาจจะกระทำความผิดเช่นนั้น ขึ้นอีก ศาลจะสั่งไว้ในคำพิพากษาห้ามการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพนั้น มีกำหนดเวลาไม่เกินห้าปีนับแต่วันพ้นโทษไปแล้วก็ได้” มาตรานี้มุ่งตัดโอกาสมิให้ผู้กระทำความผิดที่อาศัยโอกาสจากการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ กระทำความผิดซ้ำขึ้นมาอีก มาตรานี้มีข้อจำกัดตรงที่ต้องใช้ในคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษเท่านั้น   จึงเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมว่า  “เมื่อศาลพิพากษาลงโทษ หรือไม่ลงโทษผู้ใด ถ้าศาลเห็นว่าผู้นั้นกระทำความผิดโดยอาศัยโอกาสจากการประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพ...ฯลฯ” ศาลก็สามารถใช้มาตรานี้ได้
4.7.5 มาตรการกำหนดสภาพบังคับ โดยใช้กระบวนการทางแพ่ง โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของความผิดและความเสียหายที่เกิดขึ้น
4.8 การนำมาตรการบังคับทางปกครองมาใช้สำหรับความผิดบางประเภทนั้น ก็เพื่อให้เจตนารมณ์ในการคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนสัมฤทธิผลได้จริง เนื่องจากการกำหนดเพียงโทษทางอาญาไว้สำหรับการกระทำความผิด ย่อมไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติต่างๆ ได้ แต่การนำมาตรการทางปกครองบางประการมาใช้ในกรณีที่มีการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติเฉพาะบางฉบับ อาจช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์เจตนารมณ์แห่งกฎหมายมากกว่า อาทิ มาตรการที่ให้บุคคลภายนอกเป็นผู้กระทำการแทน หรือการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองใช้กำลังทางกายภาพเข้าปฏิบัติการด้วยตนเองตามที่ได้กล่าวมาแล้ว เป็นต้น
อนึ่ง ถ้าเจ้าหน้าที่ออกคำสั่งแล้วผู้รับคำสั่งไม่ปฏิบัติตาม และหากการออกคำสั่งดังกล่าวเป็นไปเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนแล้ว การไม่ปฏิบัติตามย่อมก่อให้เกิดอันตรายแก่สาธารณชน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้มาตรการบังคับทางปกครอง อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครองยังขาดประสิทธิภาพ ซึ่งอาจเห็นได้จากการที่มีการปล่อยให้อาคารที่ก่อสร้างโดยผิดกฎหมายควบคุมอาคาร หรืออาคารที่อยู่ในสภาพน่าจะเกิดอันตรายเปิดใช้งานกันอย่างกว้างขวาง รวมถึงโศกนาฏกรรมไม่ว่าจะเป็นกรณีอาคารถล่ม หรือการใช้อาคารผิดประเภทก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชนที่สะท้อนให้เห็นถึงการขาดประสิทธิภาพในการบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครอง ในเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ไม่อาจแก้ไขได้โดยการแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติแห่งกฎหมาย แต่หนทางในการแก้ปัญหานี้อย่างแท้จริง ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐควรเร่งหามาตรการเพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่มีความเหมาะสมอยู่แล้วให้สามารถบังคับใช้ได้จริง
4.9 ให้นำมาตรการบริการสังคมมาใช้แทนการลงโทษทางอาญาและนำมาใช้อย่างเป็นอิสระ โดยไม่จำเป็นต้องผูกติดกับการรอการลงโทษหรือการรอการกำหนดโทษ และใช้เป็นมาตรการการให้บริการสังคมแทนค่าปรับ ทั้งนี้ การที่ศาลจะใช้มาตรการให้ทำงานบริการสังคมแทนการลงโทษทางอาญา ไม่จำเป็นต้องอยู่บนเงื่อนไขใด เพียงแต่ศาลเห็นว่าการให้ผู้นั้นทำงานบริการสังคมจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากกว่า ศาลก็อาจมีคำสั่งให้บริการสังคมแทนการลงโทษทางอาญาได้ โดยระดับความผิดที่จะนำมาตรการทำงานบริการสังคมมาใช้แทนการลงโทษทางอาญานั้น จะต้องเป็นกรณีความผิดที่ไม่รุนแรง หรือความผิดอาญาที่เกิดจากข้อห้าม/กฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิด (Mala Prohibita) โดยเฉพาะความผิดที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางการค้าและความผิดเล็กน้อยหรือความผิดลหุโทษ ซึ่งเมื่อนำมาตรการทำงานบริการสังคมมาใช้จะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้กระทำความผิดต่อเศรษฐกิจและต่อสังคมโดยทั่วไป
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ