เช็กสุขภาพเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลัง 2549

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 20, 2006 09:37 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          จากรายงานการสำรวจแนวโน้มธุรกิจประจำเดือนมิถุนายน 2549 ของ Duke University ร่วมกับนิตยสาร CFO magazine ได้สะท้อนมุมมองของหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (Chief Financial Offices : CFO) เกี่ยวกับเศรษฐกิจและตัวแปรต่างๆ ที่มีต่อเศรษฐกิจ สรุปได้ดังนี้
1. CFO กำลังมีความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐฯมากขึ้น เพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าใกล้จุดที่มีความเสี่ยง (dangerous zone) มากขึ้น เพราะเมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้นไปเหนือระดับ 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะมีผลให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นไปด้วย ซึ่งทางการค้าก็พยายามสะกัด เงินเฟ้อด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย จึงมีผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการบางรายเลือกการปรับราคาสินค้า ลดปริมาณการผลิต แต่หากราคาน้ำมันยังคงแกว่งตัวในระดับสูงนาน ก็จะทำให้หลายบริษัทเลือกการ แช่แข็งเงินเดือนพนักงานหรือปรับให้เป็นเปอร์เซ็นต์เล็กน้อย หรือบางรายจะลดจำนวนพนักงานและปิดสายการผลิตบางส่วน
2. นักธุรกิจในสหรัฐฯ กำลังกังวลกับตัวแปรเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยพอๆ กับเงินเฟ้อ เพราะหากอัตราดอกเบี้ยขยับจากระดับ 5% ไปถึง 5.5% หรือมากกว่านี้เมื่อใด จะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการในแวดวงธุรกิจและตลาดทุน ดังนั้น CFO จึงอยากให้เฟดหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจทั้งด้านการลงทุนและการบริโภค
สัญญาณดังกล่าวเป็นจุดที่น่าเป็นห่วงและต้องเฝ้าติดตามอย่างยิ่ง เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีมูลค่ามากถึง 12 ล้านดอลลาร์ หากเกิดการแกว่งตัวรุนแรงเมื่อใด ย่อมจะทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกกระทบกระเทือนด้วย
ส่วนกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) นายโรคริโก ราโตให้ทรรศนะต่อการตกต่ำของตลาดหุ้นทั่วโลก ภายหลังจากการตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของเฟดครั้งที่ 16 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2549 ว่าเป็นการปรับตัวตามสถาณการณ์ เนื่องจากเศรษฐกิจโลก กำลังเผชิญความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากปัจจัยราคาน้ำมันแพงและอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้น อย่างไรก็ตามผู้นำไอเอ็มเอฟมั่นใจว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังคงแข็งแกร่งอยู่ อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ตั้งข้อสังเกตุว่าขณะนี้ตลาดหุ้นกำลังส่งสัญญาณความวิตกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังจะเข้าสู่ยุคชะลอตัวในอนาคตอันใกล้
รัฐมนตรีคลังกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 ชาติร่วมกับรัสเซีย (จี-8) ได้ร่วมแถลงการณ์เพื่อแสดงความวิตกต่อความเสี่ยงของสถารการณ์น้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในภาวะผันผวนและไต่ระดับขึ้นไปสูงมาก พร้อมกับได้เรียกร้องให้ประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคน้ำมันดำเนินการเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในภาคพลังงาน ทั้งนี้น้ำมันคือปัจจัยตัวแรกและเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกที่ต้องระวังมากที่สุดตัวหนึ่ง ในช่วงครึ่งหลังของปี 2549
นิตยสารฟอร์จูนได้ตั้งข้อสังเกตถึงปัจจัย 6 ประการ ที่เป็นตัวกระตุ้นให้ราคาน้ำมันพุ่งทะยานขึ้นมาถึงปัจจุบัน ได้แก่ 1. การเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีน 2. ระดับการผลิตน้ำมันของอิรักที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนสงคราม 3. ความลังเลใจของยักษ์ใหญ่ค่ายน้ำมันที่จะลงทุนเพิ่มเพื่อขยายกำลังการผลิต 4. ความไม่สงบในประเทศผู้ผลิตน้ำมันหลายแห่งที่มีผลทำให้การผลิตบางส่วนของโลกชะงัก 5. ความวิตกว่าการผลิตน้ำมันของซาอุดิอาระเบียลดระดับลง และ 6. ปัจจัยพายุเฮอร์ริเคนในสหรัฐฯ ส่งผลให้ฐานการผลิตน้ำมันแถบอ่าวเม็กซิโกชะงักและได้รับความเสียหายทุกปี
ประเด็นวิเคราะห์:
ตัวแปรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันแพง ดอกเบี้ยขึ้น หรือแม้กระทั้งการลดค่าลงของเงินดอลลาร์ สามารถลดทอนอำนาจซื้อของผู้บริโภคให้ลดลงอย่างมาก และหากโลกกลับสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกครั้ง โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประเทศในแถบเอเซียโดยเฉพาะกลุ่มที่ยังพึ่งพาการส่งออกเป็นกลไกหลัก จะได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากประเทศในภูมิภาคดังกล่าวส่วนใหญ่ ต้องพึ่งพาการส่งออก เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงประเทศไทย แม้รัฐบาลไทยจะพยายามส่งเสริมอุปสงค์ในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาเศรษฐกิจจากภายนอก แต่ก็ยังคงประสบความสำเร็จน้อย เพราะโครงสร้างประชากรในประเทศมีฐานของชนชั้นกลางค่อนข้างเล็ก เมื่อเทียบกับประเทศตะวันตก ส่งผลให้การผลักดันอุปสงค์ในประเทศเป็นกลไกทดแทนการส่งออกได้ไม่มากพอ
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ