สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์: “บาทมีทิศทางอ่อนค่า ในขณะที่ หุ้นไทยปิดปรับตัวสูงขึ้น”

ข่าวทั่วไป Thursday May 11, 2006 18:00 —กรมอุตุนิยมวิทยา

          ตลาดเงิน
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ถึงแม้การเตรียมสภาพคล่องเพื่อรองรับการเบิกถอนเงินสดของลูกค้าในช่วงวันหยุดยาวสุดสัปดาห์ จะทำให้สภาพคล่องในตลาดเงินตึงตัวขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีก 0.25% มาที่ 5.00% ในการประชุมวันพุธ สอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ประเภทข้ามคืน (Overnight) ปรับตัวในกรอบ 4.65-4.80% โดยหนาแน่นอยู่ที่ระดับ 4.65-4.66% เทียบกับ 4.66-4.67% ในสัปดาห์ก่อนหน้า ส่วนอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ปิดทรงตัวทั้งสัปดาห์ที่ 4.625% เทียบกับระดับปิดในช่วง 4.59375-4.65625% ในสัปดาห์ที่แล้ว
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ประเภทอายุ 5 ปี (TH5YY) ปิดที่ 5.36% ในวันพฤหัสบดี ลดลงเล็กน้อยจาก 5.38% เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรไทยส่วนใหญ่ปรับลดลง ขณะที่ตลาดตอบรับในเชิงบวกต่อการประมูลพันธบัตรรัฐบาลระหว่างสัปดาห์ ด้านตลาดพันธบัตรสหรัฐฯนั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ประเภทอายุ 10 ปี (US10YY) ปิดที่ระดับ 5.13% ในวันพุธ เพิ่มขึ้นจาก 5.11% เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ค่อยๆ ขยับขึ้นในวันจันทร์และอังคาร ท่ามกลางการซื้อขายที่เป็นไปอย่างระมัดระวังก่อนหน้าการประชุมนโยบายอัตราดอกเบี้ยของเฟด ขณะที่ โดยรวมแล้ว นักลงทุนตอบรับค่อนข้างดีต่อการประมูลพันธบัตรประเภทอายุ 3 ปีของรัฐบาลในวันอังคาร ต่อมาในวันพุธ อัตราผลตอบแทนปิดไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากวันก่อน โดยแม้ว่าภายหลังการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด อัตราผลตอบแทนจะปรับสูงขึ้น จากการที่ในแถลงการณ์หลังการประชุม เฟดไม่ได้ปิดโอกาสสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อในการประชุมรอบถัดไปตามที่ตลาดคาดหวัง แต่อัตราผลตอบแทนก็ปรับตัวลงมาหลังจากนั้น เนื่องจากตลาดให้น้ำหนักมากขึ้นกับการที่เฟดก็ยังคงมีความยืดหยุ่นที่จะเลือกยุตินโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบหน้าได้เช่นกัน หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีสัญญาณการชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ โดยถึงแม้ว่าในวันจันทร์ เงินบาทจะแข็งค่าขึ้น ตามแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ในตลาดต่างประเทศเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก หลังจากที่ข้อมูลการจ้างงานเดือนเมษายนของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด ประกอบกับเงินบาทไม่ได้รับผลกระทบจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า การเลือกตั้งในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะตลาดได้รับข่าวดังกล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่เงินบาทก็มีทิศทางที่อ่อนค่าลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ โดยในวันอังคารและพุธ เงินบาทเผชิญปัจจัยลบจากการปรับฐานะเงินตราของนักลงทุน ก่อนรู้ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันพุธ สำหรับในวันพฤหัสบดี เมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ร้อยละ 0.25 ตามคาด พร้อมกับระบุว่า อาจจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ (แม้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีกนั้น จะขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้น) และกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ไม่ได้ระบุว่าจีนเป็นผู้ปั่นค่าเงินในรายงานที่เปิดเผยในวันพฤหัสบดีนั้น เงินบาทก็อ่อนค่าลงต่อ โดยมีค่าเฉลี่ยระหว่างการซื้อขายในช่วงบ่ายที่ 37.812 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 37.845 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า
ในสัปดาห์นี้ (15-19 พฤษภาคม 2549) การทยอยไหลกลับของสภาพคล่องหลังวันหยุดยาว ผนวกกับ การที่ตลาดยังไม่มีปัจจัยความต้องการใช้เงินมากนัก ทำให้คาดว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินคงจะทรงตัวต่อเนื่อง โดยอัตรากลางของอัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ประเภทข้ามคืนอาจจะปรับตัวในช่วงประมาณ 4.65-4.68% ตามเดิม
ด้านค่าเงินบาท คาดว่าจะแกว่งตัวอยู่ในกรอบ 37.5-37.9 บาทต่อดอลลาร์ฯ ใกล้เคียงกับของสัปดาห์ก่อนหน้า โดยปัจจัยที่น่าสนใจในสัปดาห์นี้ คงจะได้แก่ การเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาทิ เงินทุนไหลเข้าเดือนมีนาคม ดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนเมษายน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายน ตลอดจน การแสดงความคิดเห็นจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐฯ หลายท่านเกี่ยวกับทิศทางของนโยบายการเงิน
การเคลื่อนไหวของเงินเยนและเงินยูโร
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินเยนเคลื่อนไหวผันผวน โดยเงินเยนแข็งค่าขึ้นแรงในวันจันทร์ เนื่องจากสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนเมษายนที่น่าผิดหวัง (เพิ่มขึ้นเพียง 138,000 ตำแหน่ง เทียบกับการคาดการณ์ที่ 200,000 ตำแหน่ง) ประกอบกับเจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุเป็นนัยในการประชุมประจำปีของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) สัปดาห์ที่แล้วว่า ญี่ปุ่นควรหลีกเลี่ยงการเข้าแทรกแซงค่าเงินด้วยวาจาในตลาดเงิน ส่วนในวันอังคาร เงินเยนลดช่วงบวกลงเล็กน้อย ในระหว่างที่นักลงทุนรอผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงกลางสัปดาห์ ก่อนที่เงินเยนจะดีดตัวแข็งค่าขึ้นในวันพุธ มาที่ 110.11 เยน (ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าสุดในรอบ 8 เดือน) หลังได้รับปัจจัยบวกจากการที่สำนักข่าวจิจิรายงานในวันอังคารว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น จะปรับเพิ่มการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจ โดยจะใช้คำว่า “การขยายตัว” แทนคำว่า “การฟื้นตัว” ในรายงานประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจประจำเดือน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1991 ที่มีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะดังกล่าว และอาจบ่งชี้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นใกล้จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี ในขณะที่ปัจจัยดังกล่าว ได้กระตุ้นให้มีแรงเทขายในพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น และผลักดันให้อัตราผลตอบแทนทะยานขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 7 ปี ในทางตรงกันข้าม เงินดอลลาร์ฯ ได้รับปัจจัยลบจากรายงานของหนังสือพิมพ์จีนที่ระบุถึงข้อเรียกร้องของนักเศรษฐศาสตร์ที่ต้องการให้จีนเพิ่มปริมาณทองในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศขึ้น 4 เท่า ซึ่งตลาดมองว่าการดำเนินการดังกล่าว จะทำให้จีนต้องลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ลง อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นในวันพฤหัสบดี หลังจากกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ไม่ได้ระบุว่าจีนเป็นผู้ปั่นค่าเงินในรายงานเรื่องพฤติกรรมด้านอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้า ถึงแม้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ 0.25% มาที่ 5.0% ในวันพุธ และถ้อยแถลงภายหลังการประชุม จะไม่สามารถเปลี่ยนความคิดของตลาดที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ใกล้ที่จะยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ก็ตาม ทั้งนี้ เงินเยนมีค่าเฉลี่ยในระหว่างการซื้อขายช่วงบ่ายของวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคมที่ 111.30 เยนต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 113.88 เยนต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินยูโรเคลื่อนไหวผันผวน โดยในวันจันทร์ เงินยูโรแข็งค่าขึ้น โดยอาศัยจังหวะที่เงินดอลลาร์ฯ โดนถ่วงลงจากข้อมูลการจ้างงานเดือนเมษายนที่อ่อนแอ (เปิดเผยในวันศุกร์ก่อนหน้า) ในขณะที่ เงินยูโรได้รับปัจจัยบวกต่อเนื่องจากการแสดงความคิดเห็นของประธานธนาคารกลางยุโรปในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งทำให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางยุโรปอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนมิถุนายนด้วยความเชื่อมั่นที่มากขึ้น ส่วนในวันอังคาร เงินยูโรอ่อนแรงลงในวันต่อมา เนื่องจากการปรับฐานะเงินตราของนักลงทุนก่อนหน้าการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันถัดไป สำหรับในวันพุธ เงินยูโรขยับแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง ในระหว่างที่เงินดอลลาร์ฯ ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากความวิตกว่าธนาคารกลางชาติต่างๆ อาจหันเหความสนใจออกจากสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่มีรายงานของหนังสือพิมพ์จีนว่านักเศรษฐศาสตร์เรียกร้องให้จีนเพิ่มสัดส่วนการถือครองทองคำในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ อันอาจทำให้สินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ฯ มีน้ำหนักลดลงไปโดยปริยาย ขณะที่ ในเดือนก่อนหน้า ธนาคารกลางสวีเดนประกาศว่าได้ลดการถือครองสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ฯ แล้ว สำหรับในวันพฤหัสบดี เงินยูโรลดช่วงบวกลง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ฯ /เยน หลังจากที่รายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เกี่ยวกับพฤติกรรมด้านอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นที่จับตามองอย่างมากนั้น ไม่ได้กล่าวหาว่าจีนเป็นผู้ปั่นค่าเงิน ทำให้ตลาดคลายความวิตกระยะสั้นเกี่ยวกับแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ลง ทั้งนี้ เงินยูโรมีค่าเฉลี่ยที่ 1.2713 ดอลลาร์ฯ เทียบกับ 1.2686 ดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้า
ภาวะตลาดทุน
ตลาดหุ้นไทย
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 782.50 จุด เพิ่มขึ้น 1.86% จากระดับปิดที่ 768.22 จุดในสัปดาห์ก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 9.64% จากสิ้นปีก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสัปดาห์เพิ่มขึ้น 76.68% จาก 42,948.78 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 75,885.05 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่เพิ่มจาก 14,316.26 ล้านบาทในสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 18,971.26 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 178.54 จุด ขยับขึ้น 1.93% จาก 175.16 จุดในสัปดาห์ก่อน และเพิ่มขึ้น 12.8% จากสิ้นปีก่อน
ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ด้วยมูลค่าการซื้อขายหนาแน่นในช่วงต้นสัปดาห์ โดยนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบันมีการซื้อสุทธิมากที่สุดที่ 3.46 พันล้านบาท และ 410 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนรายย่อยเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าการขายสุทธิมากที่สุดที่ 3.87 พันล้านบาท ตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 14.89 จุด หรือร้อยละ 1.91 ในวันจันทร์ที่ผ่านมา จากแรงซื้อหุ้นขนาดใหญ่ ในกลุ่มธนาคาร พลังงาน สื่อสาร และกลุ่มหลักทรัพย์ โดยดัชนีได้รับปัจจัยบวกจากความชัดเจนในเรื่องของการเมืองในประเทศ หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาให้เพิกถอนการเลือกตั้ง และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ทั้งนี้ ปัจจัยทางการเมืองยังคงส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นในวันอังคาร แต่การอ่อนตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลกเมื่อวันจันทร์ได้กระทบต่อราคาหุ้นกลุ่มพลังงาน และกดดันให้การปรับขึ้นของดัชนีเป็นไปอย่างจำกัด อย่างไรก็ตาม ดัชนีสามารถขยับขึ้นไปปิดที่ 785.38 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี ก่อนที่จะปิดลดลงไปในวันพุธ โดยได้มีแรงขายทำกำไรหุ้นในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ธนาคาร พลังงาน และอสังหาริมทรัพย์ออกมา ขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่ต้องการรอดูผลการประชุมเฟดในคืนวันพุธ ส่วนในวันพฤหัสบดีนั้น ดัชนียังแกว่งตัวในกรอบแคบ จากการที่ยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆ มาช่วยกระตุ้นการซื้อขาย ในขณะที่ แรงขายหุ้นกลุ่มธนาคาร วัสดุก่อสร้าง และหลักทรัพย์ ตลอดจน ความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกำไรรายไตรมาสซึ่งถ่วงราคาหุ้นพลังงานขนาดใหญ่ เช่น บมจ.ปตท.ได้เป็นปัจจัยที่กดดันให้ดัชนีปิดลดลงเล็กน้อย
สำหรับแนวโน้มในสัปดาห์หน้า (15-19 พ.ค. 2549) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับตัวของดัชนีจะยังคงขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในตลาดโลก ตลอดจน ประเด็นความคืบหน้าเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งนี้ คาดว่าดัชนีจะยังคงแกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบ จากการที่ยังคงไม่มีปัจจัยบวกอื่นๆ มาช่วยกระตุ้นการซื้อขาย โดยมองว่าดัชนีจะมีแนวรับที่ 775-778 จุด และแนวต้านที่ 787-790 จุด ตามลำดับ
ตลาดหุ้นสหรัฐฯและญี่ปุ่น
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี DJIA ยังคงปิดระดับสูงสุดครั้งใหม่ในรอบกว่า 6 ปี โดยเมื่อวันพุธที่ 10 พฤษภาคม 2549 ดัชนี DJIA ปิดที่ 11,642.65 จุด เพิ่มขึ้น 0.56% จาก 11,577.74 จุดเมื่อสัปดาห์ก่อน และ 8.63% จากสิ้นปีก่อน ขณะที่ดัชนี NASDAQ ปิดที่ 2,320.74 จุด ลดลง 0.93% จาก 2,342.57 จุดในสัปดาห์ก่อน แต่เพิ่มขึ้น 5.23% จากสิ้นปีก่อนหน้า ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯขยับขึ้นเล็กน้อยในวันจันทร์ จากการที่นักลงทุนได้เพิ่มความระมัดระวังในการซื้อขายก่อนการประชุมนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันพุธ โดยตลาดได้รับปัจจัยบวกจากการอ่อนตัวลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และข่าวการเข้าซื้อกิจการในภาคการเงิน ทั้งนี้ ดัชนี DJIA ยังคงปิดเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในวันอังคารและวันพุธ ในขณะที่ดัชนี NASDAQ ปรับตัวลดลง โดยในวันอังคารนั้น ดัชนี DJIA ได้รับปัจจัยบวกจากการที่นักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่า เฟดอาจจะส่งสัญญาณถึงการยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นเจเนอรัล มอเตอร์ หลังจากที่บริษัทกล่าวว่าจะมีการดำเนินการเพื่อแก้ไขกรณีพิพาททางด้านแรงงานกับอดีตบริษัทในเครือ โดยการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นดังกล่าวได้เป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้ตลาดยังคงรักษาระดับปิดที่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 6 ปีที่ 11,642.65 จุดได้ในวันพุธ หลังจากที่เฟดประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ร้อยละ 5 ตามความคาดหมาย พร้อมได้กล่าวในแถลงการณ์ถึงความจำเป็นที่เฟดอาจจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพิ่มควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ในขณะที่ดัชนี NASDAQ ได้รับแรงกดดันจากการปรับตัวลดลงของราคาหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี หลังรายงานผลประกอบการไตรมาสแรกที่ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ของบริษัทเดล อิงค์ และการรายงานตัวเลขคาดการณ์รายได้ที่ลดลงของบริษัทซิสโก ซิสเทมส์
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปรับตัวลดลง 3 วันติดต่อกัน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2549 ดัชนี NIKKEI ปิดที่ 16,862.14 จุด ลดลง 1.7% จากปิดตลาดที่ 17,153.77 จุดในสัปดาห์ก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้น 4.66% จากสิ้นปีก่อนหน้า ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์เมื่อวันจันทร์ หลังจากที่ปิดทำการตั้งแต่วันพุธถึงวันศุกร์ที่ผ่านมาในช่วง Golden Week โดยได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ หลังจากข้อมูลของธนาคารกลางญี่ปุ่นแสดงให้เห็นว่าราคาประเมินที่ดินได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ดัชนี NIKKEI ปรับตัวลดลงเป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน โดยในวันอังคารและวันพุธนั้น ดัชนีเผชิญกับแรงขายหุ้นในกลุ่มส่งออกจากความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มผลกำไรที่ลดลง เนื่องจากการแข็งค่าของเงินเยนซึ่งปรับตัวอยู่ที่ระดับแข็งค่าที่สุดในรอบ 8 เดือนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้ง การที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกอ่อนตัวลงได้ส่งผลต่อราคาหุ้นในกลุ่มพลังงาน นอกจากนั้น นักลงทุนได้ขายทำกำไรหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มอื่นๆ ก่อนการประชุมของเฟดในวันพุธ ส่วนในวันพฤหัสบดีนั้น ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวลงไปปิดที่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 สัปดาห์ที่ 16,862.14 จุด โดยความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินเยนได้เป็นปัจจัยที่กดดันดัชนีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการขายหุ้นในกลุ่มส่งออกขนาดใหญ่ เช่น โตโยต้า มอเตอร์ ออกมา
* ผู้สนใจสามารถสมัครสมาชิกได้ที่ฝ่ายคอมพิวเตอร์ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ชั้น 9 อาคารธนาคารกสิกรไทย เลขที่ 400/22 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 โทร. (66 2) 0-2273-1883-5 โทรสาร. (66 2) 0-2270-1218 หรือ 0-2270-1235, 0-2270-1569,0-2271-4032 Email: info@krc.co.th http://www.kasikornresearch.com
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ