การที่รัฐบาลโดยม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯและรมว.คลัง ตัดสินใจถอนร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 ก่อนการพิจารณาขั้นรับหลักการในวันที่สองจะเริ่มขึ้น ด้านหนึ่งเป็นการรักษาเชิงไว้ก่อนที่จะเผชิญกับการคัดค้านที่หนักหน่วงและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยที่รัฐบาลดูท่าว่าจะควบคุมได้ยาก
กับอีกด้านหนึ่ง เป็นการจำใจยอมรับว่า การท้วงติงของสมาชิกสภานิติบัญญัติ ที่ลุกขึ้นอภิปรายส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับหลักการทำหวยบนดินให้ถูกกฎหมาย ที่เป็นการส่งเสริมอบายมุขให้ขยายตัวครอบคลุมสังคมไทย รวมทั้งข้อครหาเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมให้กับผู้เกี่ยวข้องในอดีตนั้น มีเหตุผล และต้องรับฟัง
แม้ว่า การยอม “ถอย” ของม.ร.ว.ปรีดิยาธรในครั้งนี้ จะได้รับเสียงปรบมือกราวใหญ่ จากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ก็ไม่แน่ใจนักว่า สังคมซึ่งติดตามท่าทีและการทำงานของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร มาตลอดเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา จะลุกขึ้นปรบมือให้ด้วยหรือไม่
เพราะยังวางใจไม่ได้สนิทเสียทีเดียวว่า หวยบนดิน จะถูกนำกลับไป “ทบทวน” ในรูปแบบใด จะเปิดหูเปิดตารับฟังข้อมูล และความเห็นที่หลากหลายมากน้อยแค่ไหน จะยึดมั่นในหลักศีลธรรมและคุณธรรม เหนือกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือไม่ ฯลฯ
ที่วางใจได้ไม่สนิท ก็เพราะการกลับลำอย่างรวดเร็วของม.ร.ว.ปรีดิยาธร นั้น เกิดขึ้นจากความเพลี่ยงพล้ำกับเหตุผลที่หักล้างได้ยากของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หาใช่เพราะดวงตาเพิ่งเห็นธรรมว่า สังคมจะเดินไปสู่ความหายนะอย่างไรหากปล่อยให้อบายมุขขึ้นมาเฟื่องฟูโดยถูกต้องตามกฎหมาย
ถ้าไม่ลืมกันง่าย ไม่ถึง 24 ชั่วโมงก่อนหน้านั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังเอาหัวชนฝาอยู่เลยว่าจะต้องเอาหวยบนดินมาเป็นกฎหมายให้ได้ บอกอยู่หยกๆ เสียงดังฟังชัดว่า จะต้องเอาใจคน 30 ล้านคนที่เล่นหวย จะต้องไม่ให้เงินหวยไหลกลับไปอยู่ใต้ดิน เพราะฉะนั้นถึงอย่างไรเสียก็ต้องผลักดันกฎหมายฉบับนี้ออกมาให้ได้โดยเร็ว
การวาง”จุดเน้น” ที่เรื่องเงิน และผลประทางเศรษฐกิจ มากกว่าการตระหนักถึงปัญหาทางศีลธรรม คุณธรรมของสังคม โดยยกเอาคนจำนวน 30 ล้านคนที่เป็นคอหวยมาอ้าง เพื่อ “เอาใจ” คนจำนวนมหาศาลนี้ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า ทำให้รัฐบาลชุดนี้เดินออกห่างจากความคาดหวังของสังคมมากขึ้นทุกที
สภาพอย่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? รัฐบาลที่เพิ่งประกาศเน้นสังคมคุณธรรม ต้องการสร้างรากฐานทางจริยธรรมที่มั่นคงให้สังคม เพื่อนำประเทศไปสู่สังคมแห่งความผาสุก มากกว่าสังคมที่หลงใหลอยู่แต่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ทำเสียแบบนี้ ต่างอะไรเล่ากับรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ใช้ “เงิน” และ “ประชานิยม” เป็นตัวนำในการบริหารประเทศ
ต้องยอมรับว่า พฤติกรรมและทิศทางของรัฐบาลที่ถูกขับเคลื่อนโดยกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์หัวดื้อรั้นในคณะรัฐมนตรีชุดนี้ กำลังทำให้สังคมเริ่มว้าเหว่ และไม่แน่ใจว่า ความไว้วางใจที่เคยมอบให้อย่างเต็มเปี่ยมกับรัฐบาลและคณะรัฐประหารเพื่อเป็นตัวแทนในการชำระล้างความผิดพลาด ความไร้จริยธรรม คุณธรรม ที่รัฐบาลเก่าในระบอบทักษิณได้พอกพูนไว้นั้น จะสูญเปล่าหรือไม่
ทำอย่างไรที่จะหยุดความว้าเหว่ของสังคมได้? ทำอย่างไรจึงจะเรียก “สติ” ของรัฐบาลชุดที่เป็นความคาดหวังของสังคมนี้กลับมาอยู่กับพันธกิจอันแน่วแน่ได้ ?
รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 ไม่มีบทบัญญัติให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยื่นญัตติเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลหรือทั้งคณะได้ กระบวนการตรวจสอบด้วยมาตรการขั้นเด็ดขาดในทางการเมืองสำหรับรัฐบาลนี้จึงไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้
ขณะเดียวกัน องค์กรควบคุมถ่วงดุลอื่นๆก็ไม่สามารถไปกดดันหรือตรวจสอบใดๆได้ แม้กระทั่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่เป็นต้นกำเนิดแห่งอำนาจพิเศษในสถานการณ์นี้ก็ไปข้องแวะอะไรไม่ได้
ด้วยช่องโหว่ที่กลายเป็นภูมิคุ้มกันอันเข้มแข็งเช่นนี้ ทำให้รัฐมนตรีจำนวนไม่น้อย หลงเพริศไปกับตำแหน่งลาภยศที่เริ่มจะเสพติด ด้วยการทำงานแบบรูทีน และไม่ฟังความเห็นที่แตกต่าง
กรณีหวย 3 ตัว 2 ตัว อันโด่งดัง คือตัวอย่างเด่นชัดที่สุด
ถามว่า เร็วเกินไปหรือไม่ที่จะทบทวนความบกพร่องของรัฐบาลชุดพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรองรับกับสถานการณ์ที่เป็นจริงของบ้านเมือง
ตอบได้ว่าเร็วเกินไปหากนับอายุของรัฐบาลนี้จากวันที่ 10 ตุลาคม 2549 เพราะเพิ่งผ่านไปยังไม่ถึง 2 เดือน แต่ถ้าเทียบกับเวลาที่เหลืออีกเพียง 10 เดือนตามพันธะสัญญาที่ประกาศไว้ อาจจะช้าไปด้วยซ้ำ
อีกทั้งยังจะดูน่าห่วงมากขึ้น เมื่อพบว่า องค์ประกอบของรัฐบาลแห่งความคาดหวังนี้ กำลังเป็นอุปสรรคต่อพันธกิจที่จะต้องเร่งรัดภายใต้เวลาที่จำกัด
เวลาผ่านไปเกือบ 2 เดือนที่รัฐมนตรีเข้ารับหน้าที่ในแต่ละกระทรวง ถามว่าภารกิจร่วมตามพันธะสัญญาที่รัฐบาลที่ประกาศไว้ ได้ลงมือทำแล้วหรือไม่ หรือเพียงแค่ได้ตำแหน่งหัวโขนเป็นเสนาบดีแล้วก็นั่งรอคอยการรายงานของข้าราชการประจำ
ภารกิจในการชำระล้างความผิดพลาดบกพร่องของรัฐบาลเก่าในแต่ละกระทรวง รัฐมนตรีแต่ละท่านกระตือรือร้นกันแค่ไหน หรือกระตือรือร้นแล้วได้ชิ้นงานออกมาอย่างไรบ้าง
ก็เห็นกันอยู่แล้วว่า “งาน” ตามพันธกิจที่ออกมา จะมีความคืบหน้ากันอยู่ก็จาก คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เท่านั้นเอง
ถึงวันนี้พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ต้องกล้าหาญที่จะปรับเปลี่ยน จะปล่อยไว้ไปวันๆ โดยไม่ตรวจสอบ ไม่ทบทวน ไม่ประเมินผล คงไม่ได้
รัฐมนตรีคนไหนที่ถูกท้วงติงว่า เคยเป็นมือเป็นไม้ของระบอบทักษิณ ได้เข้ามาอยู่แล้ว สำแดงฤทธิ์เดชอย่างไร ก็น่าจะเห็น รัฐมนตรีคนไหนเข้าไปนั่งแล้วเหมือนเสียเปล่า ก็ต้องปรับเปลี่ยนกัน
หรือประเภทเจ้าขุนมูลนาย ปิดหู ปิดตา แก้ปัญหาบ้านเมืองแบบข้าเก่งคนเดียว กำลังจะพาบ้านเมืองไปลงห้วยลงเหว ถ้าไม่รีบกระตุกเตือน ก็น่าห่วง
รัฐมนตรีจำนวนมากมาจากอดีตข้าราชการประจำ ตลอดชีวิตอยู่กับกรอบของระบบราชการ วิธีคิด วิธีการทำงานแนบแน่นอยู่กับการรับคำสั่ง เมื่อต้องมานั่งเก้าอี้ที่ต้องคิดค้น สร้างสรรค์ ต้องเผชิญปัญหา ต้องตัดสินใจ และต้องรับผิดขอบในทางการเมือง ก็เห็นกันแล้วว่า ทำได้แค่ไหน
น้ำท่วมใหญ่ 40 กว่าจังหวัด ยาวนานกว่าเดือน แทบจะไม่เห็นรัฐมนตรีไปข้องแวะ มีเหตุร้ายรุนแรงวันละหลายๆครั้งใน 3 จังหวัดภาคใต้ แทบจะไม่ได้ข่าวว่ารัฐมนตรีสนใจลงไปดูแลทุกข์ของชาวบ้าน หรืออย่างน้อยก็ข้าราชการในสังกัดของตัวเอง
เห็นสภาพการณ์แบบนี้แล้ว ป่วยการที่จะเรียกร้องการทำงาน “เชิงรุก” อย่างที่เคยคาดหวังกัน
ภารกิจทั้งหลายทั้งปวงของรัฐบาลเฉพาะกาล ดูเหมือนถูกถมทับอยู่บนบ่าของพล.อ.สุรยุทธ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลเพียงคนเดียว แค่ไม่ถึง 2 เดือน หน้าตาท่านเหมือนกับคนอายุ 70 กว่าเข้าไปแล้ว
ทางออกมีให้เลือกเพียง 2 ทาง หนึ่ง คือ ต้องปรับทีมใหม่ จัดวางคน วางแนวทางการทำงานกันใหม่ เรียกความคาดหวังของสังคมกลับคืนมา ซึ่งวันนี้ก็ยังไม่สายเกินไป หรือ สอง ชะล่าใจอยู่ต่อไป ปล่อยให้รัฐนาวาของท่านบ่ายหน้าไปเผชิญกับมรสุมแห่งความไม่พอใจของสังคมหนักหน่วง รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ.
***************************
ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 4 ธ.ค. 2549--จบ--
กับอีกด้านหนึ่ง เป็นการจำใจยอมรับว่า การท้วงติงของสมาชิกสภานิติบัญญัติ ที่ลุกขึ้นอภิปรายส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับหลักการทำหวยบนดินให้ถูกกฎหมาย ที่เป็นการส่งเสริมอบายมุขให้ขยายตัวครอบคลุมสังคมไทย รวมทั้งข้อครหาเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมให้กับผู้เกี่ยวข้องในอดีตนั้น มีเหตุผล และต้องรับฟัง
แม้ว่า การยอม “ถอย” ของม.ร.ว.ปรีดิยาธรในครั้งนี้ จะได้รับเสียงปรบมือกราวใหญ่ จากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ก็ไม่แน่ใจนักว่า สังคมซึ่งติดตามท่าทีและการทำงานของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร มาตลอดเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา จะลุกขึ้นปรบมือให้ด้วยหรือไม่
เพราะยังวางใจไม่ได้สนิทเสียทีเดียวว่า หวยบนดิน จะถูกนำกลับไป “ทบทวน” ในรูปแบบใด จะเปิดหูเปิดตารับฟังข้อมูล และความเห็นที่หลากหลายมากน้อยแค่ไหน จะยึดมั่นในหลักศีลธรรมและคุณธรรม เหนือกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือไม่ ฯลฯ
ที่วางใจได้ไม่สนิท ก็เพราะการกลับลำอย่างรวดเร็วของม.ร.ว.ปรีดิยาธร นั้น เกิดขึ้นจากความเพลี่ยงพล้ำกับเหตุผลที่หักล้างได้ยากของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หาใช่เพราะดวงตาเพิ่งเห็นธรรมว่า สังคมจะเดินไปสู่ความหายนะอย่างไรหากปล่อยให้อบายมุขขึ้นมาเฟื่องฟูโดยถูกต้องตามกฎหมาย
ถ้าไม่ลืมกันง่าย ไม่ถึง 24 ชั่วโมงก่อนหน้านั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังเอาหัวชนฝาอยู่เลยว่าจะต้องเอาหวยบนดินมาเป็นกฎหมายให้ได้ บอกอยู่หยกๆ เสียงดังฟังชัดว่า จะต้องเอาใจคน 30 ล้านคนที่เล่นหวย จะต้องไม่ให้เงินหวยไหลกลับไปอยู่ใต้ดิน เพราะฉะนั้นถึงอย่างไรเสียก็ต้องผลักดันกฎหมายฉบับนี้ออกมาให้ได้โดยเร็ว
การวาง”จุดเน้น” ที่เรื่องเงิน และผลประทางเศรษฐกิจ มากกว่าการตระหนักถึงปัญหาทางศีลธรรม คุณธรรมของสังคม โดยยกเอาคนจำนวน 30 ล้านคนที่เป็นคอหวยมาอ้าง เพื่อ “เอาใจ” คนจำนวนมหาศาลนี้ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า ทำให้รัฐบาลชุดนี้เดินออกห่างจากความคาดหวังของสังคมมากขึ้นทุกที
สภาพอย่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? รัฐบาลที่เพิ่งประกาศเน้นสังคมคุณธรรม ต้องการสร้างรากฐานทางจริยธรรมที่มั่นคงให้สังคม เพื่อนำประเทศไปสู่สังคมแห่งความผาสุก มากกว่าสังคมที่หลงใหลอยู่แต่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ทำเสียแบบนี้ ต่างอะไรเล่ากับรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ใช้ “เงิน” และ “ประชานิยม” เป็นตัวนำในการบริหารประเทศ
ต้องยอมรับว่า พฤติกรรมและทิศทางของรัฐบาลที่ถูกขับเคลื่อนโดยกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์หัวดื้อรั้นในคณะรัฐมนตรีชุดนี้ กำลังทำให้สังคมเริ่มว้าเหว่ และไม่แน่ใจว่า ความไว้วางใจที่เคยมอบให้อย่างเต็มเปี่ยมกับรัฐบาลและคณะรัฐประหารเพื่อเป็นตัวแทนในการชำระล้างความผิดพลาด ความไร้จริยธรรม คุณธรรม ที่รัฐบาลเก่าในระบอบทักษิณได้พอกพูนไว้นั้น จะสูญเปล่าหรือไม่
ทำอย่างไรที่จะหยุดความว้าเหว่ของสังคมได้? ทำอย่างไรจึงจะเรียก “สติ” ของรัฐบาลชุดที่เป็นความคาดหวังของสังคมนี้กลับมาอยู่กับพันธกิจอันแน่วแน่ได้ ?
รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 ไม่มีบทบัญญัติให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยื่นญัตติเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลหรือทั้งคณะได้ กระบวนการตรวจสอบด้วยมาตรการขั้นเด็ดขาดในทางการเมืองสำหรับรัฐบาลนี้จึงไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้
ขณะเดียวกัน องค์กรควบคุมถ่วงดุลอื่นๆก็ไม่สามารถไปกดดันหรือตรวจสอบใดๆได้ แม้กระทั่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่เป็นต้นกำเนิดแห่งอำนาจพิเศษในสถานการณ์นี้ก็ไปข้องแวะอะไรไม่ได้
ด้วยช่องโหว่ที่กลายเป็นภูมิคุ้มกันอันเข้มแข็งเช่นนี้ ทำให้รัฐมนตรีจำนวนไม่น้อย หลงเพริศไปกับตำแหน่งลาภยศที่เริ่มจะเสพติด ด้วยการทำงานแบบรูทีน และไม่ฟังความเห็นที่แตกต่าง
กรณีหวย 3 ตัว 2 ตัว อันโด่งดัง คือตัวอย่างเด่นชัดที่สุด
ถามว่า เร็วเกินไปหรือไม่ที่จะทบทวนความบกพร่องของรัฐบาลชุดพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรองรับกับสถานการณ์ที่เป็นจริงของบ้านเมือง
ตอบได้ว่าเร็วเกินไปหากนับอายุของรัฐบาลนี้จากวันที่ 10 ตุลาคม 2549 เพราะเพิ่งผ่านไปยังไม่ถึง 2 เดือน แต่ถ้าเทียบกับเวลาที่เหลืออีกเพียง 10 เดือนตามพันธะสัญญาที่ประกาศไว้ อาจจะช้าไปด้วยซ้ำ
อีกทั้งยังจะดูน่าห่วงมากขึ้น เมื่อพบว่า องค์ประกอบของรัฐบาลแห่งความคาดหวังนี้ กำลังเป็นอุปสรรคต่อพันธกิจที่จะต้องเร่งรัดภายใต้เวลาที่จำกัด
เวลาผ่านไปเกือบ 2 เดือนที่รัฐมนตรีเข้ารับหน้าที่ในแต่ละกระทรวง ถามว่าภารกิจร่วมตามพันธะสัญญาที่รัฐบาลที่ประกาศไว้ ได้ลงมือทำแล้วหรือไม่ หรือเพียงแค่ได้ตำแหน่งหัวโขนเป็นเสนาบดีแล้วก็นั่งรอคอยการรายงานของข้าราชการประจำ
ภารกิจในการชำระล้างความผิดพลาดบกพร่องของรัฐบาลเก่าในแต่ละกระทรวง รัฐมนตรีแต่ละท่านกระตือรือร้นกันแค่ไหน หรือกระตือรือร้นแล้วได้ชิ้นงานออกมาอย่างไรบ้าง
ก็เห็นกันอยู่แล้วว่า “งาน” ตามพันธกิจที่ออกมา จะมีความคืบหน้ากันอยู่ก็จาก คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เท่านั้นเอง
ถึงวันนี้พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ต้องกล้าหาญที่จะปรับเปลี่ยน จะปล่อยไว้ไปวันๆ โดยไม่ตรวจสอบ ไม่ทบทวน ไม่ประเมินผล คงไม่ได้
รัฐมนตรีคนไหนที่ถูกท้วงติงว่า เคยเป็นมือเป็นไม้ของระบอบทักษิณ ได้เข้ามาอยู่แล้ว สำแดงฤทธิ์เดชอย่างไร ก็น่าจะเห็น รัฐมนตรีคนไหนเข้าไปนั่งแล้วเหมือนเสียเปล่า ก็ต้องปรับเปลี่ยนกัน
หรือประเภทเจ้าขุนมูลนาย ปิดหู ปิดตา แก้ปัญหาบ้านเมืองแบบข้าเก่งคนเดียว กำลังจะพาบ้านเมืองไปลงห้วยลงเหว ถ้าไม่รีบกระตุกเตือน ก็น่าห่วง
รัฐมนตรีจำนวนมากมาจากอดีตข้าราชการประจำ ตลอดชีวิตอยู่กับกรอบของระบบราชการ วิธีคิด วิธีการทำงานแนบแน่นอยู่กับการรับคำสั่ง เมื่อต้องมานั่งเก้าอี้ที่ต้องคิดค้น สร้างสรรค์ ต้องเผชิญปัญหา ต้องตัดสินใจ และต้องรับผิดขอบในทางการเมือง ก็เห็นกันแล้วว่า ทำได้แค่ไหน
น้ำท่วมใหญ่ 40 กว่าจังหวัด ยาวนานกว่าเดือน แทบจะไม่เห็นรัฐมนตรีไปข้องแวะ มีเหตุร้ายรุนแรงวันละหลายๆครั้งใน 3 จังหวัดภาคใต้ แทบจะไม่ได้ข่าวว่ารัฐมนตรีสนใจลงไปดูแลทุกข์ของชาวบ้าน หรืออย่างน้อยก็ข้าราชการในสังกัดของตัวเอง
เห็นสภาพการณ์แบบนี้แล้ว ป่วยการที่จะเรียกร้องการทำงาน “เชิงรุก” อย่างที่เคยคาดหวังกัน
ภารกิจทั้งหลายทั้งปวงของรัฐบาลเฉพาะกาล ดูเหมือนถูกถมทับอยู่บนบ่าของพล.อ.สุรยุทธ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลเพียงคนเดียว แค่ไม่ถึง 2 เดือน หน้าตาท่านเหมือนกับคนอายุ 70 กว่าเข้าไปแล้ว
ทางออกมีให้เลือกเพียง 2 ทาง หนึ่ง คือ ต้องปรับทีมใหม่ จัดวางคน วางแนวทางการทำงานกันใหม่ เรียกความคาดหวังของสังคมกลับคืนมา ซึ่งวันนี้ก็ยังไม่สายเกินไป หรือ สอง ชะล่าใจอยู่ต่อไป ปล่อยให้รัฐนาวาของท่านบ่ายหน้าไปเผชิญกับมรสุมแห่งความไม่พอใจของสังคมหนักหน่วง รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ.
***************************
ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 4 ธ.ค. 2549--จบ--