ปัจจุบันบราซิลเป็นประเทศผู้ผลิตเอทานอลอันดับ 1 ของโลก ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากผลิตผลทางการเกษตรและเป็นพลังงานทดแทนสำคัญด้วยปริมาณการผลิตที่สูงถึง 14,730 ล้านลิตรในปี 2546 และประมาณ 14,300 ล้านลิตรในปี 2547 ขณะเดียวกันบราซิลยังเป็นประเทศผู้ส่งออกเอทานอลอันดับต้นๆ ของโลกด้วยปริมาณการส่งออก 1,120 ล้านลิตรในปี 2546 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,600 ล้านลิตรในปี 2547 โดยมีญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไนจีเรีย และจาไมก้า เป็นตลาดส่งออกสำคัญ
ด้วยศักยภาพในการผลิตและส่งออกเอทานอลประกอบกับกระแสความต้องการใช้พลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้นจากแรงกดดันของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น จึงเป็นที่น่าสนใจศึกษาถึงปัจจัยที่เกื้อหนุนให้บราซิลก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกเอทานอลรายใหญ่ของโลกเพื่อนำมาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตเอทานอลของไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระยะเริ่มต้นและมีปริมาณการผลิตไม่มากนัก (ณ เดือนธันวาคม 2547 มีผู้ผลิต 2 ราย กำลังการผลิตรวม 2.7 แสนลิตรต่อวัน)
ปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้บราซิลก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกเอทานอลรายใหญ่ของโลก ได้แก่
ความพร้อมของวัตถุดิบ การผลิตเอทานอลเกือบทั้งหมดของบราซิลใช้วัตถุดิบหลัก คือ อ้อย ซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่บราซิลมีศักยภาพในการผลิตเป็นอย่างมากด้วยปริมาณการผลิตสูงถึง 360 ล้านตันในปี 2546 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 370 ล้านตันในปี 2547
มีการวิจัยและพัฒนาการผลิตอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ทำให้มีความรู้และความเชี่ยวชาญเป็นอย่างดี ส่งผลให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพสูง
รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนอย่างจริงจังในการนำเอทานอลมาใช้เป็นพลังงานทดแทน โดยเฉพาะการสนับสนุนการพัฒนาเครื่องยนต์ของรถยนต์ให้สามารถใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงได้โดยตรงหรือสามารถใช้กับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่มีเอทานอลผสมอยู่ในสัดส่วนสูงได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันบราซิลมีรถยนต์ที่สามารถใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงโดยตรงประมาณ 4 ล้านคัน และรถยนต์ที่สามารถใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่มีเอทานอลผสมอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 22 ประมาณ 12 ล้านคัน นอกจากนี้ รัฐบาลยังสนับสนุนให้มีการคิดค้นสาร ETBE (Ethyl Tertiary Butyl Ether) ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากการแปรรูปเอทานอลด้วยกระบวนการทางเคมีและใช้เป็นสารแต่งเติมในน้ำมันเบนซินและเพิ่มค่าออกเทนแก่เครื่องยนต์เพื่อใช้ทดแทนสาร MTBE (Methyl Tertiary Butyl Ether) ซึ่งผลิตจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศค่อนข้างมาก
ตลาดเอทานอลของบราซิลมีขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นผลจากรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการใช้เอทานอล ทำให้ผู้ผลิตสามารถขยายกำลังการผลิตได้จนถึงระดับที่ทำให้ได้รับประโยชน์จากการผลิตจำนวนมาก (Economy of Scale) ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ประมาณ 8 บาทต่อลิตร ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่ที่ประมาณ 10 บาทต่อลิตร และไทยอยู่ที่ประมาณ 12 บาทต่อลิตร
จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นทำให้บราซิลมีศักยภาพสูงในการผลิตเอทานอลและมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตเมื่อเทียบกับคู่แข่งทำให้สามารถครองส่วนแบ่งตลาดเอทานอลโลกสูงเกือบร้อยละ 40 ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม บราซิลมีแนวโน้มต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากสหรัฐฯ ซึ่งกำลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่สุดของโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าโดยอาศัยความพร้อมของวัตถุดิบหลัก คือ ข้าวโพด ซึ่งเป็นพืชผลทางการเกษตรที่สหรัฐฯ ผลิตได้มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ประกอบกับนโยบายสนับสนุนอย่างจริงจังของรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา และการสร้างตลาดเอทานอลให้มีขนาดใหญ่ขึ้นด้วยนโยบายยกเลิกการใช้สาร MTBE โดยประกาศใช้กับรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นแห่งแรกก่อนที่จะบังคับใช้กับอีก 19 รัฐในระยะต่อไป
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย มกราคม 2548--
-พห-
ด้วยศักยภาพในการผลิตและส่งออกเอทานอลประกอบกับกระแสความต้องการใช้พลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้นจากแรงกดดันของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น จึงเป็นที่น่าสนใจศึกษาถึงปัจจัยที่เกื้อหนุนให้บราซิลก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกเอทานอลรายใหญ่ของโลกเพื่อนำมาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตเอทานอลของไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระยะเริ่มต้นและมีปริมาณการผลิตไม่มากนัก (ณ เดือนธันวาคม 2547 มีผู้ผลิต 2 ราย กำลังการผลิตรวม 2.7 แสนลิตรต่อวัน)
ปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้บราซิลก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกเอทานอลรายใหญ่ของโลก ได้แก่
ความพร้อมของวัตถุดิบ การผลิตเอทานอลเกือบทั้งหมดของบราซิลใช้วัตถุดิบหลัก คือ อ้อย ซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่บราซิลมีศักยภาพในการผลิตเป็นอย่างมากด้วยปริมาณการผลิตสูงถึง 360 ล้านตันในปี 2546 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 370 ล้านตันในปี 2547
มีการวิจัยและพัฒนาการผลิตอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ทำให้มีความรู้และความเชี่ยวชาญเป็นอย่างดี ส่งผลให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพสูง
รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนอย่างจริงจังในการนำเอทานอลมาใช้เป็นพลังงานทดแทน โดยเฉพาะการสนับสนุนการพัฒนาเครื่องยนต์ของรถยนต์ให้สามารถใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงได้โดยตรงหรือสามารถใช้กับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่มีเอทานอลผสมอยู่ในสัดส่วนสูงได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันบราซิลมีรถยนต์ที่สามารถใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงโดยตรงประมาณ 4 ล้านคัน และรถยนต์ที่สามารถใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่มีเอทานอลผสมอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 22 ประมาณ 12 ล้านคัน นอกจากนี้ รัฐบาลยังสนับสนุนให้มีการคิดค้นสาร ETBE (Ethyl Tertiary Butyl Ether) ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากการแปรรูปเอทานอลด้วยกระบวนการทางเคมีและใช้เป็นสารแต่งเติมในน้ำมันเบนซินและเพิ่มค่าออกเทนแก่เครื่องยนต์เพื่อใช้ทดแทนสาร MTBE (Methyl Tertiary Butyl Ether) ซึ่งผลิตจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศค่อนข้างมาก
ตลาดเอทานอลของบราซิลมีขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นผลจากรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการใช้เอทานอล ทำให้ผู้ผลิตสามารถขยายกำลังการผลิตได้จนถึงระดับที่ทำให้ได้รับประโยชน์จากการผลิตจำนวนมาก (Economy of Scale) ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ประมาณ 8 บาทต่อลิตร ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่ที่ประมาณ 10 บาทต่อลิตร และไทยอยู่ที่ประมาณ 12 บาทต่อลิตร
จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นทำให้บราซิลมีศักยภาพสูงในการผลิตเอทานอลและมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตเมื่อเทียบกับคู่แข่งทำให้สามารถครองส่วนแบ่งตลาดเอทานอลโลกสูงเกือบร้อยละ 40 ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม บราซิลมีแนวโน้มต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากสหรัฐฯ ซึ่งกำลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่สุดของโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าโดยอาศัยความพร้อมของวัตถุดิบหลัก คือ ข้าวโพด ซึ่งเป็นพืชผลทางการเกษตรที่สหรัฐฯ ผลิตได้มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ประกอบกับนโยบายสนับสนุนอย่างจริงจังของรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา และการสร้างตลาดเอทานอลให้มีขนาดใหญ่ขึ้นด้วยนโยบายยกเลิกการใช้สาร MTBE โดยประกาศใช้กับรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นแห่งแรกก่อนที่จะบังคับใช้กับอีก 19 รัฐในระยะต่อไป
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย มกราคม 2548--
-พห-