สรุปประเด็นสำคัญ
ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนมิถุนายน 2549
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม = 166.15 ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2549 (170.56) ร้อยละ —2.6 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (161.45) ร้อยละ 2.9
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2549 ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตเครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไปอื่นๆ การผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งน้ำดื่มบรรจุขวด การผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และสินค้าที่เกี่ยวข้อง การผลิตสบู่และผงซักฟอก เคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการทำความสะอาด
- อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ย = 69.86 ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2549 (71.07) ร้อยละ —1.7 แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (69.37) ร้อยละ 0.7
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2549
- อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าการผลิตและการส่งออกจะชะลอตัวเล็กน้อยจากปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าที่ปรับตัวตามระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทรงตัว รวมถึงราคาน้ำมันยังทรงตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และความไม่แน่นอนของสถานการณ์นิวเคลียร์อิหร่าน สงครามในเลบานอนและการก่อการร้ายในประเทศต่างๆ อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยบวก คือ ไทยยังสามารถส่งออกไก่แปรรูปไปสหภาพยุโรปได้ แม้ว่าจะมีข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อ ไข้หวัดนกในยุโรป สำหรับสถานการณ์ภายในประเทศเริ่มมีปัจจัยลบเกี่ยวกับการระบาดของไข้หวัดนกอีกรอบ ซึ่งอาจทำให้เกิดวิกฤตกับอุตสาหกรรมไก่แช่เย็นแช่แข็งของไทยที่กำลังจะฟื้นตัวกลับซบเซาอีกครั้ง
- อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปในเดือนกรกฎาคม 2549 จะชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนมิถุนายน เนื่องจากกำลังซื้อที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ อันเป็นผลกระทบจากราคาน้ำมันและดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจและภาคประชาชนระมัดระวังหรือลดการใช้จ่ายลง ประกอบกับการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น สำหรับแนวโน้มในเดือนสิงหาคม คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายจะปรับตัวในทางที่ดีขึ้น เนื่องจากจะมีคำสั่งซื้อในช่วงไตรมาสที่ 3 สูงขึ้นเป็นประจำทุกปี เพราะ ต่างประเทศจะมีการนำเข้าสินค้าก่อนเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่
- อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กล้า สถานการณ์เหล็กในเดือน ก.ค. 2549 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยการผลิตเหล็กทรงยาวยังคงทรงตัว ตามการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ อันเป็นผลมาจากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่ยังไม่ดำเนินการ ขณะที่โครงการของภาคเอกชนยังคงทรงตัว โดยโครงการขนาดใหญ่ของภาคเอกชนชะลอตัวแต่ยังคงมีโครงการขนาดเล็กซึ่งมีความต้องการใช้เหล็กไม่มากนักอยู่บ้าง ประกอบกับเป็นช่วงฤดูฝนจึงมีผลทำให้การก่อสร้างลดลงด้วย สำหรับเหล็กทรงแบนคาดการณ์ยังคงทรงตัว เป็นผลมาจากความต้องการใช้เหล็กของอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศที่ชะลอตัว จนทำให้ผู้ผลิตต้องขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศในกลุ่มยุโรปเพิ่มมากขึ้น
- อุตสาหกรรมยานยนต์ ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2549 มีแนวโน้มทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา โดยประมาณการว่า มีปริมาณการผลิต 99,000 คัน เป็นการจำหน่ายในประเทศร้อยละ 56 ของปริมาณการผลิต
- อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ในเดือนกรกฎาคม และเดือนสิงหาคม 2549 คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศจะลดลงเนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงชะลอตัว อีกทั้งอยู่ในช่วงฤดูฝนทำให้เป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง ในส่วนของการส่งออกคาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการวางแผนขยายการส่งออกเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนความต้องการใช้ในประเทศที่ลดลง
- อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวการผลิตและขายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนกรกฎาคม 2549 ค่อนข้างทรงตัวในระยะ 1- 2 เดือนนี้เนื่องจากปัจจัยทางด้านวัตถุดิบ เช่น ทองแดง และเศรษฐกิจมหภาคโดยรวมของประเทศส่งผลต่อการใช้จ่ายสินค้าด้วย ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนกรกฎาคมและ ไตรมาส 3/2549 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเช่นกันเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน และจะขยายตัวเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะความต้องการสินค้า Consumer Electronic ของโลกที่ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโทรศัพท์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์เป็นสินค้าหลักที่ดึงให้ความต้องการอิเล็กทรอนิกส์ปรับเพิ่มขึ้น
สรุปประเด็นสำคัญ
ดัชนีอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2549
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 เท่ากับ 161.64 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (165.63) ร้อยละ 2.4 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 (152.54) ร้อยละ 6.0
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ และอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ
ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) แสดงทิศทางของระดับการขนส่งสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 ดัชนีการส่งสินค้าเท่ากับ 158.14 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (157.65) ร้อยละ 0.3 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 (150.38) ร้อยละ 5.2
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตอื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น(การผลิตเครื่องปรับอากาศ) อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และสินค้าที่เกี่ยวข้อง และอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ได้แก่ อุตสาหกรรม การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมการผลิตอื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น
ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง(Finished Goods Inventory Index) แสดงทิศทางหรือระดับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดตลาด ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 เท่ากับ 170.11 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (166.43) ร้อยละ 2.2 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 (165.65) ร้อยละ 2.7
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตมอลต์ ลิกเคอและมอลต์ อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน และอุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ
อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรมโดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตที่ใช้กำลังการผลิตเต็มที่ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 เท่ากับ 68.17 ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา (68.83) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 (67.20)
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ และอุตสาหกรรมการแปรรูปผลไม้และผัก
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ และอุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์
สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม
พ.ค. 49 = 170.56
มิ.ย. 49 = 166.15
โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนี ลดลง ได้แก่
- การผลิตยานยนต์
- การผลิตเครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไปอื่นๆ
- การผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งน้ำดื่มบรรจุขวด
- อัตราการใช้กำลังการผลิต
พ.ค. 49 = 71.07
มิ.ย. 49 = 69.86
โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่
- การผลิตยานยนต์
- การผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งน้ำดื่มบรรจุขวด
- การผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และสินค้าที่เกี่ยวข้อง
1.อุตสาหกรรมอาหาร
ภาวะการผลิตและการส่งออกในเดือนหน้าคาดว่าจะชะลอตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลก จากปัจจัยราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความไม่แน่นอนของ สถานการณ์นิวเคลียร์อิหร่าน และสงครามเลบานอน สำหรับการจำหน่ายในประเทศอาจจะชะลอตัวตามภาวะเงินเฟ้อและข่าวการระบาดของไข้หวัดนกรอบใหม่
1. การผลิต
ภาวะการผลิตโดยรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 18.0 แต่ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.3 โดยสินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออกขยายตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน ได้แก่ แป้งมันสำปะหลังร้อยละ 65.2 ปลาทูน่ากระป๋อง ร้อยละ 17.7 สับปะรดกระป๋องร้อยละ 28.8 กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งร้อยละ 14.2 และไก่แช่เย็นแช่แข็ง ร้อยละ 6.2 สำหรับการผลิตเพื่อใช้ในประเทศ ปาล์มน้ำมัน มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.6 และอาหารสุกรผลิตลดลงร้อยละ 4.2 จากปริมาณวัตถุดิบเข้าโรงงานลดลง สำหรับน้ำตาลทราย โรงงานปิดฤดูหีบอ้อยแล้ว
2. การตลาด
1) ตลาดในประเทศ มูลค่าการบริโภคสินค้าอาหารลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนและปีก่อนร้อยละ 5.8 และ 5.5 เป็นผลจากราคาสินค้าอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ที่เป็นต้นทุนหลักในการ ขนส่งสินค้า เป็นช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ทำให้มีค่าใช้จ่ายของครัวเรือนเพิ่มขึ้น ส่งผลต่ออำนาจซื้อที่ลดลง
2) ตลาดต่างประเทศ ภาวะการส่งออกโดยรวม (ไม่รวมน้ำตาล) มีปริมาณลดลงร้อยละ 23.6 แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยสินค้าที่ส่งออกหลัก ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ร้อยละ 4 และไก่แปรรูป ร้อยละ 9.5 เป็นผลทาง
ด้านราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกในทวีปอาฟริกาและยุโรป สำหรับ น้ำตาลทราย ความต้องการในตลาดโลกได้ปรับตัวลดลง ทำให้ปริมาณและมูลค่าการส่งออกของไทยลดลงมากถึงร้อยละ 42.0 และ 14.6
3. แนวโน้ม
คาดว่าการผลิตและการส่งออกจะชะลอตัวเล็กน้อยจากปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าที่ปรับตัวตามระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทรงตัว รวมถึงราคาน้ำมันยังทรงตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และความไม่แน่นอนของสถานการณ์นิวเคลียร์อิหร่าน สงครามในเลบานอนและการก่อการร้ายในประเทศต่างๆ อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยบวก คือ ไทยยังสามารถส่งออกไก่แปรรูปไปสหภาพยุโรปได้ แม้ว่าจะมีข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อ ไข้หวัดนกในยุโรป สำหรับสถานการณ์ภายในประเทศเริ่มมีปัจจัยลบเกี่ยวกับการระบาดของไข้หวัดนกอีกรอบ ซึ่งอาจทำให้เกิดวิกฤตกับอุตสาหกรรมไก่แช่เย็นแช่แข็งของไทยที่กำลังจะฟื้นตัวกลับซบเซาอีกครั้ง
2.อุตสาหกรรมน้ำตาล (พฤษภาคม)
ตั้งแต่มีการปิดหีบอ้อยเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2549 โรงงานน้ำตาลทั้ง 46 โรงงานในประเทศได้หยุดการผลิตน้ำตาลทรายดิบ แต่มีบางโรงงานได้นำน้ำตาลทรายดิบไปละลายเพื่อแปรสภาพเป็นน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ โดยมีการผลิตน้ำตาลทรายรวมตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2549 (5 เดือน) จำนวนทั้งสิ้น 4,341,544.79 ตัน
1. น้ำตาลทราย
1.1 การผลิต
ตั้งแต่มีการปิดหีบอ้อยเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2549 โรงงานน้ำตาลทั้ง 46 โรงงานในประเทศได้หยุดการผลิตน้ำตาลทรายดิบ แต่มีบางโรงงานได้นำน้ำตาลทรายดิบไปละลายเพื่อแปรสภาพเป็นน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ โดยมีการผลิตน้ำตาลทรายรวมตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2549 (5 เดือน) จำนวนทั้งสิ้น 4,341,544.79 ตัน ในจำนวนนี้เป็นน้ำตาลทรายดิบ จำนวน 1,689,171.88 ตัน หรือ 39% ของผลผลิตน้ำตาลทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์
1.2 การบริโภค
ในเดือนพฤษภาคม 2549 มีการบริโภคน้ำตาลทรายในประเทศ จำนวน 211,245.20 ตัน เพิ่มขึ้น 15% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งมีการบริโภค จำนวน 179,516.65 ตัน สำหรับการบริโภคโดยรวม ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2549 (5 เดือน) มีจำนวนทั้งสิ้น 996,650.66 ตัน เพิ่มขึ้น 7 % จากในช่วงเดียวกันของปี 2548
1.3 การส่งออก
ในเดือนพฤษภาคม 2549 ประเทศไทยมีการส่งออกน้ำตาลจำนวน 148,193.67 ตัน ลดลงจากเดือนเมษายน 2549 ซึ่งส่งออกได้จำนวน 161,748.04 ตัน และการส่งออกน้ำตาลตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2549 (5 เดือน) มีจำนวนทั้งสิ้น 665,871.99 ตัน เป็นการส่งออกน้ำตาลทรายดิบ 334,367.73 ตัน หรือ 50% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด โดยปริมาณการส่งออกในเดือนพฤษภาคมของปีนี้ลดลง 42% จากในช่วงเดียวกันของปี 2548
1.4 การนำเข้า
ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2549 (5 เดือน) มีการนำเข้าน้ำตาลทราย จำนวนทั้งสิ้น11,771.48 ตัน เป็นการนำเข้าในเดือนพฤษภาคม 2549 จำนวน 2,001.00 ตัน โดยปริมาณการนำเข้าในเดือนพฤษภาคมของปีนี้เพิ่มขึ้น 21 % จากในช่วงเดียวกันของปี 2548
2. กากน้ำตาล
ในเดือนพฤษภาคม 2549 มีการผลิตกากน้ำตาล จำนวน 5,431.22 ตัน ลดลง 16% จากในช่วงเดียวกันของปี 2548 ส่วนผลผลิตกากน้ำตาลตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2549 (5 เดือน) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,981,490.34 ตัน
การส่งออกกากน้ำตาลในเดือนพฤษภาคม 2549 มีจำนวนทั้งสิ้น 43,750.00 ตัน หรือประมาณ 2% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด ส่วนการส่งออกตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2549 มีจำนวน 303,435.24 ตัน
3. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
“แนวโน้มในเดือนสิงหาคม คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายจะปรับตัวในทางที่ดีขึ้น เนื่องจากจะมีคำสั่งซื้อในช่วงไตรมาสที่ 3 สูงขึ้นเป็นประจำทุกปี เพราะ ต่างประเทศจะมีการนำเข้าสินค้าก่อนเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่”
1. การผลิตและการจำหน่าย
ภาวะการผลิตเมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2549 การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเดือนเดียวกันกับปีก่อน เนื่องจากมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นตั้งแต่เส้นใยฯ ด้ายทอผ้า ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 87.7 จากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ เช่น จีน อินเดียและเวียดนามหรือแม้กระทั่งเสื้อผ้าสำเร็จรูปราคาแพงจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา
2. การส่งออกและตลาดส่งออก
มูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรวมในเดือนมิถุนายน 2549 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 6.7 ในกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป (+11.7%) เครื่องยกทรงรัดทรงและส่วนประกอบ (+13.9%) ผ้าผืน(+0.2%) เคหะสิ่งทอ(+31.5%) และเส้นใยประดิษฐ์ (+0.7%) ผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกลดลง ได้แก่ด้ายฝ้าย (-20.0%) ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ (-7.3%) และผ้าปักและผ้าลูกไม้ (-2.9%) ตลาดส่งออกหลัก คือสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อาเซียนและญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30.8, 20.2, 11.2 และ 5.2 ตามลำดับ
3. การนำเข้า
การนำเข้าหมวดสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปโดยรวมในเดือนมิถุนายน 2549 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 4.3 โดยเฉพาะเส้นใยใช้ในการทอนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 ตลาดนำเข้าหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียและอินเดีย ด้ายทอผ้าฯนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 ตลาดนำเข้าหลักคือจีน ญี่ปุ่นและไต้หวัน ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ตลาดนำเข้าหลักคือจีน ญี่ปุ่น และ ฮ่องกง เสื้อผ้าสำเร็จรูปนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 87.7 ตลาดนำเข้าคือจีน ฮ่องกง และอิตาลี ในขณะที่นำเข้าผ้าผืน และเครื่องจักร สิ่งทอลดลง โดยผ้าผืนนำเข้าลดลงร้อยละ 4.7 ตลาดนำเข้าหลัก คือ จีน ไต้หวัน และฮ่องกง และเครื่องจักรสิ่งทอ นำเข้าลดลงร้อยละ 7.9 ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากญี่ปุ่น เยอรมนี และไต้หวัน
4. แนวโน้ม
คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปในเดือนกรกฎาคม 2549 จะชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนมิถุนายน เนื่องจากกำลังซื้อที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ อันเป็นผลกระทบจากราคาน้ำมันและดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจและภาคประชาชนระมัดระวังหรือลดการใช้จ่ายลง ประกอบกับการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น สำหรับแนวโน้มในเดือนสิงหาคม คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายจะปรับตัวในทางที่ดีขึ้น เนื่องจากจะมีคำสั่งซื้อในช่วงไตรมาสที่ 3 สูงขึ้นเป็นประจำทุกปี เพราะ ต่างประเทศจะมีการนำเข้าสินค้าก่อนเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่
4. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
“คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุนได้มีมติยกเลิกการดำเนินการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนที่นำเข้าจาก บ.Nippon Steel ของประเทศญี่ปุ่น หลังจากที่บริษัทดังกล่าวได้ยื่นคำร้องให้มีการทบทวนมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของไทยเมื่อปลายปีที่แล้ว ส่งผลให้บริษัทดังกล่าวสามารถส่งออกเหล็กแผ่นรีดร้อนเข้ามายังไทยได้โดยมีอัตราภาษีศุลกากรในอัตราปกติ ขณะเดียวกัน คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้เริ่มการสืบสวนการตอบโต้การทุ่มตลาดในเหล็กลวดคาร์บอนสูงนำเข้าจากจีน อินเดีย และแอฟริกาใต้ และกำหนดจะประกาศมาตรการชั่วคราวภายในเวลา 3 เดือน”
1.การผลิต
ภาวะการผลิตเหล็กในช่วงเดือน มิ.ย. 49 ขยายตัวขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 162.16 ขยายตัวขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.80 เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบน โดย เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้นมากที่สุด ร้อยละ 33.27 เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.91 แต่เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียมและเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีกลับมีการผลิตลดลง ร้อยละ 26.81 9.02 และ 7.36 ตามลำดับ เนื่องจากเมื่อเดือนที่แล้วผู้ผลิตได้ขยายการผลิตเพิ่มมากขึ้นทำให้มีสินค้าคงคลังเหลืออยู่ ส่งผลให้เดือนนี้ผู้ผลิตจึงชะลอการผลิตลง
สำหรับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มทรงยาว มีการผลิตที่ชะลอตัวลง ร้อยละ 6.81 โดยลวดเหล็ก ลดลง ร้อยละ 21.34 เหล็กเส้นกลม ลดลง ร้อยละ 20.44 และ เหล็กข้ออ้อย ลดลง ร้อยละ 13.70 เนื่องจากการชะลอตัวของสภาวะเศรษฐกิจ อันเป็นผลมาจากราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ตลอดจนสถานการณ์การเมืองภายในประเทศที่ยังไม่แน่นอน ประกอบกับการเข้าสู่ช่วงฤดูฝนทำให้ภาคก่อสร้างชะลอตัวลง จึงส่งผลให้ภาพรวมของสินค้าในกลุ่มเหล็กทรงยาวชะลอตัวลงตามไปด้วย ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ภาวะการผลิตขยายตัวขึ้น ร้อยละ 15.90 โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน ขยายตัวมากที่สุด ร้อยละ 17.74 โดยเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 64.97 เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.07 ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.92 โดยเหล็กลวด เพิ่มขึ้น ร้อยละ 49.31 เหล็กเส้นกลม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.23
2.ราคาเหล็ก
การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2549 เทียบกับเดือนก่อน ราคาโดยเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์เหล็กในกลุ่มเหล็กทรงแบน ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้นจาก 576 เป็น 605 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.03 เหล็กแท่งแบน(วัตถุดิบสำหรับการผลิตเหล็กแผ่น) เพิ่มขึ้นจาก 486 เป็น 510 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.94 เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้นจาก 621 เป็น 630 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.45 แต่ราคาโดยเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์เหล็กในกลุ่มเหล็กทรงยาวกลับลดลง โดยเหล็กแท่งเล็กบิลเล็ต(วัตถุดิบสำหรับการผลิตเหล็กทรงยาว) ลดลงจาก 417 เป็น 408 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลงร้อยละ 2.13 เหล็กเส้น ลดลงจาก 448 เป็น 444 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลงร้อยละ 0.84
3. แนวโน้ม
สถานการณ์เหล็กในเดือน ก.ค. 2549 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยการผลิตเหล็กทรงยาวยังคงทรงตัว ตามการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ อันเป็นผลมาจากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่ยังไม่ดำเนินการ ขณะที่โครงการของภาคเอกชนยังคงทรงตัว โดยโครงการขนาดใหญ่ของภาคเอกชนชะลอตัวแต่ยังคงมีโครงการขนาดเล็กซึ่งมีความต้องการใช้เหล็กไม่มากนักอยู่บ้าง ประกอบกับเป็นช่วงฤดูฝนจึงมีผลทำให้การก่อสร้างลดลงด้วย สำหรับเหล็กทรงแบนคาดการณ์ยังคงทรงตัว เป็นผลมาจากความต้องการใช้เหล็กของอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศที่ชะลอตัว จนทำให้ผู้ผลิตต้องขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศในกลุ่มยุโรปเพิ่มมากขึ้น
5. อุตสาหกรรมยานยนต์
รถยนต์
อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมิถุนายน 2549 มีการผลิต และการจำหน่ายในประเทศ ชะลอตัวลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่ชะลอตัวลงอันเนื่องจากปัจจัยลบ ได้แก่ ราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง และภาวะทางการเมืองในประเทศ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อความต้องการซื้อรถยนต์ โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมิถุนายน ดังนี้
- การผลิตรถยนต์ จำนวน 99,806 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2549 ซึ่งมีการผลิต 108,084 คัน ร้อยละ 7.66 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2548 ร้อยละ 0.50
- การจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 55,532 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2549 ซึ่งมีการจำหน่าย 55,700 คัน ร้อยละ 0.30 และลดลงจากเดือนมิถุนายน 2548 ร้อยละ 12.44 โดยเป็นการลดลงของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ทุกประเภท
- การส่งออกรถยนต์ มีจำนวน 45,780 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2549 ซึ่งมีการส่งออก 43,377 คัน ร้อยละ 5.54 และเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2548 ร้อยละ 23.61
- แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2549 มีแนวโน้มทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา โดยประมาณการว่า มีปริมาณการผลิต 99,000 คัน เป็นการจำหน่ายในประเทศร้อยละ 56 ของปริมาณการผลิต
รถจักรยานยนต์
อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมีการผลิตชะลอตัวเล็กน้อย แต่มีปริมาณการจำหน่ายขยายตัว ซึ่งหากเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศของปี 2549 มีการขยายตัวมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจสะท้อนได้ถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศในช่วงภาวะราคาน้ำมันสูง และมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่มากนัก ความต้องการใช้ยานพาหนะที่ราคาประหยัดและใช้พลังงานน้อยดังเช่นรถจักรยานยนต์จึงมีมากขึ้น โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤษภาคม ดังนี้
- การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 190,104 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2549 ซึ่งมีการผลิต 150,230 คัน ร้อยละ 26.54 แต่ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2548 ร้อยละ 7.88
- การจำหน่าย จำนวน 209,958 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2549 ซึ่งมีการจำหน่าย 156,602 คัน ร้อยละ 34.07 และเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2548 ร้อยละ 6.82 ทั้งนี้ รถจักรยานยนต์แบบครอบครัวยังคงครองส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 99 รถจักรยานยนต์แบบสปอร์ตมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1
- การส่งออกรถจักรยานยนต์ มีจำนวน 11,178 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2549 ซึ่งมีการส่งออก 8,657 คัน ร้อยละ 29.12 แต่ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2548 ร้อยละ 22.75
- แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมิถุนายน 2549 มีแนวโน้มทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา โดยประมาณการว่า มีปริมาณการผลิต 190,000 คัน เป็นการจำหน่ายในประเทศร้อยละ 95 ของปริมาณการผลิต
6.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
“การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากปัจจัยกดดันทั้งราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น และปัญหาทางการเมืองที่ยังไม่คลี่คลาย ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ภายในประเทศลดลงตามไปด้วย”
1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ
การผลิตปูนซีเมนต์ในเดือนมิถุนายน 2549 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนลดลงร้อยละ 2.69 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.42 สำหรับการจำหน่ายในประเทศ เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.83 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 0.28 เมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของการผลิตและการจำหน่ายในประเทศในภาพรวมแล้วเป็นการขยายตัวในทิศทางที่ชะลอตัวลง ทั้งนี้เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงซบเซา ซึ่งปัญหาที่สำคัญคือราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น และ ปัญหาทางการเมืองที่ยังไม่คลี่คลายส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนขยายธุรกิจต่าง ๆ ของภาคเอกชน และการดำเนินโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ภายในประเทศลดลงตามไปด้วย
2.การส่งออก
มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนมิถุนายน 2549 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 8.36 และ 16.48 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนลดลง
3.แนวโน้ม
ในเดือนกรกฎาคม และเดือนสิงหาคม 2549
คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศจะลดลงเนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงชะลอตัว อีกทั้ง
อยู่ในช่วงฤดูฝนทำให้เป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง ในส่วนของการส่งออกคาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการวางแผนขยายการส่งออกเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนความต้องการใช้ในประเทศที่ลดลง
7. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
(ยังมีต่อ)