เอดีบีคัดค้านการค้าทวิภาคีเหตุสร้างความไม่เท่าเทียม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 10, 2006 11:32 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          นายอิฟซาล อาลี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียหรือเอดีบี ได้เปิดเผยแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเซียถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการทำข้อตกลงการค้าเสรีแบบสองฝ่ายซึ่งอาจส่งผลเสียต่อโอกาสการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมได้ เนื่องจากระบบการค้าแบบสองฝ่าย (ทวิภาคี) ไม่สามารถส่งผลให้เกิดความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงแต่เป็นการหาผลประโยชน์เพื่อเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติของประเทศอื่นๆ และยังเป็นเครื่องมือทางด้านการเมืองซึ่งข้อตกลงดังกล่าวนี้สามารถสรุปผลได้เร็วกว่าการทำข้อตกลงแบบหลายฝ่าย(พหุภาคี) 
ในขณะที่ผลเสียจะตกอยู่ที่ภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจที่จะต้องพบกับความยุ่งยากลำบากและความซ้ำซ้อนต่างๆ มากขึ้นจากการเข้าเจาะตลาดของแต่ละประเทศที่มีเงื่อนไขแตกต่างกันและจะเป็นการเพิ่มต้นทุนในการทำธุรกิจด้วยเพราะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกันในแต่ละตลาดรวมทั้งการพิจารณาถึงคุณสมบัติของสินค้าว่าประเภทใดบ้างที่จะเหมาะกับตลาดใดโดยจะต้องมีการปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงสองฝ่ายซึ่งอาจจะไม่คุ้มค่าเมื่อพิจารณาในด้านธุรกิจ
นอกจากนี้ นายอิฟซาล อาลี ยังเห็นว่าข้อตกลงการค้าแบบสองฝ่ายนี้จะเสริมประโยชน์ให้แก่บางประเทศที่เป็นพันธมิตรกันเท่านั้นซึ่งอาจจะใช้เป็นเครื่องมือในการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจซึ่งเท่ากับว่าจะเป็นการปิดกั้นโอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ยากจนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้จากการประเมินของเอดีบีพบว่าการทำข้อตกลงการค้าแบบสองฝ่ายนี้ในภูมิภาคเอเชียมีการขยายมากยิ่งขึ้นนับแต่ปี 2538 ซึ่งมีอยู่ 3 ข้อตกลงจนมาถึงปี 2548 มีการขยายตัวไปถึง 28 ข้อตกลงและมีการคาดว่าจะสูงถึง 300 ข้อตกลงโดยมีมูลเหตุจูงใจจากความล่าช้าของการเจรจาเปิดเสรีการค้าโลกแบบหลายฝ่าย ซึ่งจะทำให้หลายประเทศทั่วโลกหันมาทำข้อตกลงแบบสองฝ่ายแทนเนื่องจากสามารถสรุปได้ง่ายและเร็วกว่า
ประเด็นวิเคราะห์
เอดีบี ได้พบว่าการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีแบบสองฝ่ายอาจจะไม่เป็นธรรมแก่ประเทศที่ยากจนเนื่องจากเป็นการสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศที่เป็นมหาอำนาจใช้เป็นเครื่องมือในการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับประเทศพันธมิตรหรือตลาดที่คาดว่าให้ประโยชน์แก่ตนได้มากกว่าซึ่งจะทำให้ประเทศที่ยากจนต่างๆ ไม่สามารถผลักดันให้ประเทศของตนเติบโตต่อไปได้
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ