ความตกลงการค้าเสรีไทย-เอฟตา

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 16, 2006 14:51 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          นางอัญชนา  วิทยาธรรมธัช ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านมาตรการทางการค้า  กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป  หรือเอฟตา (EFTA — European Free Trade Association ประกอบด้วยสวิตเซอร์แลนด์  นอร์เวย์   ไอซ์แลนด์  และ ลิกเตนสไตน์)  ถือเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีการลงทุนในต่างประเทศสูงมากและเชื่อมั่นว่าการทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับเอฟตา จะช่วยให้การค้าและการลงทุนระหว่างกันขยายตัวมากขึ้น  โดยได้มีการเจรจาไปแล้วรอบที่ 1 เมื่อเดือนตุลาคม  2548 ณ จังหวัดภูเก็ต  ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อเรียกร้องและข้อเสนอการลดภาษี สินค้าระหว่างกันในสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม  
นางอัญชนา กล่าวว่าการเจรจารอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 16-20 มกราคม 2549 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายเกริกไกร จีระแพทย์ เป็นหัวหน้าคณะฯ จะมีการการเจรจาในทุกเรื่อง รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อเสนอลดภาษีและการเปิดเสรีบริการในสาขาต่างๆ ระหว่างกันตลอดจนการพิจารณาปรับร่างข้อบทการเจรจา โดยในการเจรจาครั้งนี้ไทยจะผลักดันให้เอฟตา เปิดตลาดสินค้าเกษตรให้มากขึ้นและครอบคลุมทุกรายการ โดยเฉพาะ ข้าว มันสำปะหลัง ไก่แช่แข็งและน้ำตาล นอกเหนือจากสินค้าอุตสาหกรรมที่เอฟตายืนยันว่าจะเปิดให้ไทยแล้ว
สำหรับสินค้าที่คาดว่าเอฟตาจะเรียกร้องให้ไทยเปิดตลาด คือ สินค้าปลาสดแช่เย็น ซึ่งเป็นสินค้า ส่งออกสำคัญของนอร์เวย์ และไอร์แลนด์ แต่ขณะนี้ไทยยังไม่เปิดตลาดให้ เนื่องจากผู้เลี้ยงปลาน้ำจืดยังไม่พร้อม นอกจากนี้เอฟตาได้เรียกร้องให้ไทยเปิดตลาดนม เนื้อโค และช็อกโกแลต ทั้งนี้เอฟตา ยังให้ความสำคัญในเรื่องการเปิดตลาดการค้าบริการ โดยเฉพาะในสาขาการเงิน โทรคมนาคมและการขนส่ง การลงทุน การธนาคาร การให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อโดยรัฐ (เน้นความโปร่งใสและการให้การปฏิบัติเหมือนคนในชาติคู่ภาคี)
ทั้งนี้ การค้าระหว่างไทยกับเอฟตา ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 48 มีมูลค่า 80,754 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 19.71 โดยเป็นการส่งออก 28,937 ล้านบาท ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้สำหรับเดินทาง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ฯลฯ และสินค้านำเข้า 51,816 ล้านบาท ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ ฯลฯ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ