รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2549

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 11, 2006 09:30 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

          สรุปประเด็นสำคัญ
ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนมกราคม 2549
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม = 157.61 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนธันวาคม 2548 (158.34) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (150.37)
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2548 ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ การผลิตอื่นๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น การผลิตผลิตภัณฑ์ยาสูบ การผลิตมอลต์ลิกเคอและมอลต์
- อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ย = 67.02 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนธันวาคม 2548 (66.89) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (68.37)
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2549
- อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าการผลิตและการส่งออกจะเริ่มชะลอตัวเล็กน้อย เป็นผลจาก ปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าลดลง เนื่องจากเลยช่วงเทศกาลสำคัญประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงนี้
- ภาวะการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 คาดว่าจะทรงตัวหรือปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงต้นของฤดูกาลใหม่ และมีปัจจัย ลบจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก ซึ่งสินค้าในกลุ่มสิ่งทอและเครื่อง นุ่งห่มจะยังคงทรงตัว
- สถานการณ์เหล็กในเดือน ก.พ. 2549 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยเหล็กทรงยาวคาดการณ์ว่าการผลิตยังคงทรงตัว เนื่องจากภาวะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงซบเซาอยู่ทั้งทางด้านการลงทุนจากภาคเอกชนและภาครัฐ จึงทำให้ความต้องการใช้เหล็กชนิดนี้ชะลอตัว สำหรับเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าการผลิตยังคงทรงตัวเช่นกัน เนื่องจากผู้ผลิตยังคงมีปริมาณสินค้าคงคลังที่สูงอยู่ จึงลดการผลิตลงเพื่อระบายสินค้าในสต๊อก
- อุตสาหกรรมยานยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์จะขยายตัวเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์บางรายมีแผนที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดต่างประเทศ ส่วนภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ จะขยายตัวจากเดือนก่อน เนื่องจาก มีการแนะนำรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาดในเดือนก่อน ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ผู้ผลิตได้เริ่มทยอยส่งมอบรถจักรยานยนต์ตามคำสั่งซื้อ นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังมีแผนที่จะผลิตเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้นด้วย
- อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เดือนกุมภาพันธ์ 2549 คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศจะลดลงเล็กน้อย เนื่องจากในเดือนนี้มีจำนวนวันทำงานน้อย สำหรับในเดือนมีนาคม 2549 คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายใน ประเทศจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูกาลก่อสร้าง ในส่วนของการส่งออกขึ้นอยู่กับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่สำคัญเป็นหลัก
- ภาวการณ์ผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนมกราคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับฤดูร้อน และในส่วนของการส่งออกคาดว่าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า จะมีการส่งออกเพิ่มขึ้นได้เนื่องจากเศรษฐกิจของโลกในปี 2549 จะขยายตัวร้อยละ 4.2 ซึ่งรายงานโดย National Institute of Economic and Social Research ส่วนการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โดยรวมคาดว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนในปีนี้จะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.9
สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม
ธ.ค. 48 = 158.84
ม.ค. 49 = 157.61
โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนี ลดลงเล็กน้อย ได้แก่
- การผลิตยานยนต์
- การผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ
- การผลิตอื่นๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น
- อัตราการใช้กำลังการผลิต
ธ.ค. 48 = 66.89
ม.ค. 49 = 67.02
โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่
- การผลิตน้ำตาล
- การผลิตเม็ดพลาสติก
- การผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน ยกเว้นปุ๋ยและสารประกอบไนโตรเจน
1.อุตสาหกรรมอาหาร
ภาวะการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารคาดว่าจะเริ่มชะลอตัวลง จากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อและเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น นอกจากนี้การจำหน่ายสินค้าหลายชนิดในประเทศมีราคาเพิ่มขึ้น ตามระดับราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวในระดับสูง
1. การผลิต
ภาวะการผลิตโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 6.6 แต่ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 2.7 โดยสินค้าที่ขยายตัวด้านการผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่แช่เย็นแช่แข็ง ร้อยละ 12.2 ปลาทูน่ากระป๋อง ร้อยละ 15.3 และสับปะรดกระป๋องร้อยละ 42.3 ส่วนสินค้าอื่นๆ ที่มีการผลิตลดลง เช่น กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งร้อยละ 24.0 สำหรับการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศ กลุ่มสินค้าน้ำมันพืช (ปาล์มน้ำมันและ ถั่วเหลือง) มีการผลิตลดลง ร้อยละ 11.2 และ 6.3 ตามลำดับ ส่วนน้ำตาลทรายแม้ว่าอยู่ในช่วงเปิดหีบฤดูกาลผลิต 48/49 แต่ยังผลิตได้ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 21.6 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้อ้อยมีผลผลิตลดลง
2. การตลาด
1) ตลาดในประเทศ สินค้าอาหารและเกษตร มีปริมาณลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนและปีก่อนร้อยละ 2.3 และ 1.7 เป็นผลจากความผันผวนของราคาน้ำมัน ที่ส่งผลต่อระดับราคาสินค้าสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการ ตัดสินใจเพื่อการบริโภคสินค้าพิจารณาได้จากการบริโภคสินค้าไก่และกุ้ง ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 5.5 และ 68.6 เป็นต้น
2) ตลาดต่างประเทศ
ภาวะการส่งออกโดยรวม มีปริมาณส่งออกลดลงร้อยละ 5.8 แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยสินค้าที่ส่งออกหลัก ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 และ 34.2 สับปะรดกระป๋อง ร้อยละ 21.4 และ 24.4 ไก่แปรรูป ร้อยละ 10.8 และ 18.8 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 31.6 และ 31.8 และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ร้อยละ 4.1 และ 5.4 สำหรับปริมาณและมูลค่าการส่งออกน้ำตาลทรายลดลงมากถึงร้อยละ 69.8 และ 57.4 เนื่องจากมีการลักลอบส่งออกน้ำตาลไปประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาสูงกว่าเพิ่มขึ้น
3. แนวโน้ม
คาดว่าการผลิตและการส่งออกจะเริ่มชะลอตัวเล็กน้อย เป็นผลจาก ปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าของลูกค้าลดลง เนื่องจากเลยช่วงเทศกาลสำคัญประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงนี้
2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
“...เดือนกุมภาพันธ์ 2549 คาดว่าจะทรงตัว
หรือปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงต้น
ของฤดูกาลการผลิตใหม่ …”
1. การผลิตและการจำหน่าย
ภาวะการผลิตหมวดสิ่งทอฯ เดือนมกราคม 2549 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตของการผลิตเส้นใยฯ การผลิตผ้าและการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 1.1, 1.0 และ 3.2 ตามลำดับ ขณะที่การผลิตเส้นใยทรงตัว ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายลดลงร้อยละ 10.2 และ 11.8 ตามลำดับ ขณะที่การจำหน่ายเส้นใยฯ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากมีการผลิตล่วงหน้าพร้อมส่งมอบไปก่อนหน้านี้แล้วในเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายลดลงซึ่งเป็นการลดลงทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่าง ประเทศ ประกอบกับการนำเข้าผ้าผืนและเสื้อผ้าสำเร็จรูปราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามามาก
2. การส่งออกและตลาดส่งออก
มูลค่าการส่งออกสิ่งทอโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันกับปีก่อนร้อยละ 1.3 ผลิตภัณฑ์สำคัญที่ส่งออกได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องยกทรงรัดทรงและส่วนประกอบ ผ้าผืน ด้ายฝ้าย ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เคหะสิ่งทอ และผ้าปักและผ้าลูกไม้ โดยมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1, 7.3 , 4.4 , 6.8, 10.5 15.3 ตามลำดับ
ตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐอเมริกา , สหภาพยุโรป , อาเซียนและญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.9 , 20.1, 11.2 และ 6.2 ตามลำดับ
3. การนำเข้า
การนำเข้าหมวดสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปโดยรวม ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.3 เนื่องจากการบริโภคของตลาดในประเทศชะลอตัวลงโดยเฉพาะเส้นใยใช้ในการทอ นำเข้าลดลงร้อยละ 25.0 ตลาดนำเข้าหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอินเดีย แต่ผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นได้แก่ผ้าผืน นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 ตลาดนำเข้าหลักคือจีน ไต้หวัน และฮ่องกง ด้ายทอผ้าฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 ตลาดนำเข้าหลักคือจีน ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย เสื้อผ้าสำเร็จรูป นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.5 ตลาดนำเข้าคือจีน ฮ่องกง และอินโดนีเซีย
เครื่องจักรสิ่งทอ นำเข้าในเดือน ม.ค. เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.1ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากเยอรมนี ไต้หวัน และญี่ปุ่น
4. แนวโน้ม
ภาวะการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 คาดว่าจะทรงตัวหรือปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงต้นของฤดูกาลใหม่ และมีปัจจัย ลบจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก ซึ่งสินค้าในกลุ่มสิ่งทอและเครื่อง นุ่งห่มจะยังคงทรงตัว
3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
“ ทิศทางของราคาเหล็กในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากสต๊อกสินค้าของจีนลดลงจากการที่โรงงานในประเทศหยุดการผลิตลงระหว่างเทศกาลวันหยุดตรุษจีน รวมทั้งการที่ได้มีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการควบรวมกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก จึงมีผลทำให้การผลิตในประเทศจีนลดลง ประกอบกับการที่ประเทศผู้ผลิตเหล็กในกลุ่ม CIS ประสบปัญหาต้นทุนพลังงานที่สูงและสภาพอากาศที่ไม่ดี ทำให้การขนส่งมีอุปสรรค ”
1.การผลิต
ภาวะการผลิตเหล็กในช่วงเดือน ม.ค. 49 ชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 125.83 ชะลอตัวลง ร้อยละ 1.66 โดยเป็นผลมาจากการลดลงของเหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิดรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 34.88 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลง ร้อยละ 23.71 เนื่องจากผู้ผลิตยังคงมีปริมาณสินค้าคงคลังอยู่จึงลดการผลิตลงและระบายสินค้าในสต๊อก สำหรับในกลุ่มเหล็กทรงยาวผลิตภัณฑ์ที่ชะลอตัวลงในเดือนนี้ คือ เหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลงร้อยละ 7.53 เนื่องจากมีผู้ผลิตโรงงานหนึ่งประสบปัญหาเครื่องจักรชำรุด ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ภาวะการผลิตชะลอตัวลง ร้อยละ 8.62 โดยผลิตภัณฑ์ที่ลดลง ได้แก่ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ชนิดรีดร้อน ลดลงร้อยละ 60.68 เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 39.80 และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ลดลงร้อยละ 39.76
2.ราคาเหล็ก
สำหรับการเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2549 เทียบกับเดือนก่อน ทิศทางการปรับตัวของราคาเหล็กส่วนใหญ่จะมีแนวโน้มสูงขึ้น โดย เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น จาก 413 เป็น 421 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.97 เหล็กเส้น เพิ่มขึ้น จาก 363 เป็น 366 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.03 ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่มีราคาทรงตัว ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อน ราคาอยู่ที่ 350 เหรียญสหรัฐต่อตัน เหล็กแท่งเล็ก ราคาอยู่ที่ 328 เหรียญสหรัฐต่อตัน เหล็กแท่งแบน ราคา 298 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งเป็นผลมาจากสต๊อกสินค้าของจีนลดลงจากการที่โรงงานหยุดการผลิตลงระหว่างเทศกาลวันหยุดตรุษจีน รวมทั้งการที่ประเทศจีนได้มีนโยบายในการส่งเสริมให้เกิดการควบรวมกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก จึงมีผลทำให้การผลิตในประเทศลดลง ประกอบกับการที่ประเทศผู้ผลิตเหล็กในกลุ่ม CIS ประสบปัญหาต้นทุนพลังงานที่สูงและสภาพอากาศที่ไม่ดี มีผลให้การขนส่งมีอุปสรรค
3. แนวโน้ม
สถานการณ์เหล็กในเดือน ก.พ. 2549 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยเหล็กทรงยาวคาดการณ์ว่าการผลิตยังคงทรงตัว เนื่องจากภาวะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงซบเซาอยู่ทั้งทางด้านการลงทุนจากภาคเอกชนและภาครัฐ จึงทำให้ความต้องการใช้เหล็กชนิดนี้ชะลอตัว สำหรับเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าการผลิตยังคงทรงตัวเช่นกัน เนื่องจากผู้ผลิตยังคงมีปริมาณสินค้าคงคลังที่สูงอยู่ จึงลดการผลิตลงเพื่อระบายสินค้าในสต๊อก
4. อุตสาหกรรมยานยนต์
รถยนต์
อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมกราคม 2549 ชะลอตัวลงจากเดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมา เนื่องจากในเดือนธันวาคมของทุกปี เป็นช่วงฤดูการจำหน่าย ผู้ผลิตรถยนต์แต่ละรายได้เร่งการจำหน่ายเพื่อปิดยอดขายของปี 2548 โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมกราคม ดังนี้
- การผลิตรถยนต์ จำนวน 86,197 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2548 ซึ่งมีการผลิต 99,019 คัน ร้อยละ 12.95 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2548 ร้อยละ 12.28
- การจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 50,454 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2548 ซึ่งมีการจำหน่าย 77,876 คัน ร้อยละ 35.21 และลดลงจากเดือนมกราคม 2548 ร้อยละ 2.77
- การส่งออกรถยนต์ มีจำนวน 32,838 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2548 ซึ่งมีการส่งออก 38,303 คัน ร้อยละ 14.27 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2548 ร้อยละ 38.92
- แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 จะขยายตัวเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2549 เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์บางรายมีแผนที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดต่างประเทศ
รถจักรยานยนต์
อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์มีการผลิตขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ผลิตหลายรายได้เพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมกราคม ดังนี้
- การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 197,454 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2548 ซึ่งมีการผลิต 192,093 คัน ร้อยละ 2.79 แต่ลดลงจากเดือนมกราคม 2548 ร้อยละ 5.68
- การจำหน่าย จำนวน 172,235 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2548 ซึ่งมีการจำหน่าย 179,958 คัน ร้อยละ 4.29 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2548 ร้อยละ 0.58
- การส่งออกรถจักรยานยนต์ มีจำนวน 12,376 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2548 ซึ่งมีการส่งออก 11,037 คัน ร้อยละ 12.13 และเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2548 ร้อยละ 16.89
- แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 จะขยายตัวจากเดือนมกราคม 2549 เนื่องจาก มีการแนะนำรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาดในเดือนก่อน ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ผู้ผลิตได้เริ่มทยอยส่งมอบรถจักรยานยนต์ตามคำสั่งซื้อ นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังมีแผนที่จะผลิตเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้นด้วย
5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
“การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลก่อสร้าง ทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนความต้องการใช้ยังคงชะลอตัวตามธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา”
1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ
การผลิตปูนซีเมนต์ในเดือนมกราคม 2549 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.54 เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลก่อสร้างแต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 1.40 ตามธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา จากปัจจัยกดดันทั้งกำลังซื้อในประเทศที่ลดลง และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ภายในประเทศชะลอตัวลงตามไปด้วย
2.การส่งออก
มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ เดือนมกราคม 2549 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนลดลงร้อยละ 4.60 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.05 เนื่องจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนและแถบเอเชียใต้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก รวมทั้งมีการขยายตลาดใหม่ๆ เช่น ในตะวันออกกลางและละตินอเมริกา
3.แนวโน้ม
เดือนกุมภาพันธ์ 2549 คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศจะลดลงเล็กน้อย เนื่องจากในเดือนนี้มีจำนวนวันทำงานน้อย สำหรับในเดือนมีนาคม 2549 คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายใน ประเทศจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูกาลก่อสร้าง ในส่วนของการส่งออกขึ้นอยู่กับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่สำคัญเป็นหลัก
6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
“ ภาวะการผลิตและการส่งออกสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเดือน ม.ค. 49 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนเนื่องจากได้เร่งผลิตในเดือนก่อนหน้าไปแล้วและ TCL ประกาศชัดเจนจะเป็นแบรนด์ชั้นนำของไทยให้ได้ภายใน 3-5 ปี “
ตารางที่ 1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน ม.ค. 2549
หน่วย : ล้านบาท
เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า CPM CPY
อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ 42,254.00 3.21 18.87
IC 19,783.15 -16.13 38.19
วงจรพิมพ์ 4,029.66 33.75 -22.74
ไดโอด ทรานซิสเตอร์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ 2,559.22 -13.98 -8.58
เครื่องปรับอากาศ 6,363.61 14.87 15.57
เครื่องรับโทรทัศน์สี 3,395.99 -21.14 -19.39
ตู้เย็น 2,206.80 -3.95 22.98
เตาอบไมโครเวฟ 1,401.52 3.16 -13.64
รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 117,419.12 -7.88 9.40
ที่มา : สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
1.การผลิต
ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนมกราคม 2549 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิต ลดลงร้อยละ 7.14 โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นกลุ่มที่มีการปรับตัวลดลงเนื่องจากบริษัทต่างๆได้มีการเร่งผลิตสินค้าในช่วงปลายปีไปเรียบร้อยแล้วเพื่อทำยอดก่อนปิดบัญชีในช่วงปลายปี และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนดัชนีปรับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20.57 เนื่องจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการขยายตัวขึ้นอย่างมาก ขณะที่กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการปรับตัวลดลงมาบ้าง
2. การส่งออก
การส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนมกราคมมีมูลค่า 117,419.12 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.88 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งเป็นภาวะปกติของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่จะทรงตัวในช่วงต้นปี เนื่องจากได้ผ่านพ้นช่วงของการเร่งส่งสินค้าไปในก่อนหน้านี้แล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.40
สินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าส่งออก41,353.63 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.08 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และลดลงร้อยละ 2.31 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนสินค้าหลักที่มีการปรับตัวลดลง คือ เครื่องรับโทรทัศน์ ซึ่งมีการลดลงมากในตลาดสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น และเตาอบไมโครเวฟ ส่วนสินค้าหลักที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ กล้องถ่ายทีวี วีดีโอ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ
สินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าการส่งออก 76,065.49 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9.82 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 17.03 โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการขยายตัวมากเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ IC และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นตามความต้องการสินค้า Consumer Electronic ต่างๆที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะที่สินค้าที่มีการปรับตัวลดลง คือ แผ่นวงจรพิมพ์ ไดโอด ทรานซิสเตอร์และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ลดลงร้อยละ 22.74 และ 8.58 ตามลำดับ
3. แนวโน้ม
ภาวการณ์ผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนมกราคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับฤดูร้อน และในส่วนของการส่งออกคาดว่าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า จะมีการส่งออกเพิ่มขึ้นได้เนื่องจากเศรษฐกิจของโลกในปี 2549 จะขยายตัวร้อยละ 4.2 ซึ่งรายงานโดย National Institute of Economic and Social Research ส่วนการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โดยรวมคาดว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนในปีนี้จะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.9
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2549 มีค่า 157.61 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนธันวาคม 2548 (158.84) ร้อยละ 0.8 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (150.37) ร้อยละ 4.8
- อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงเล็กน้อยจากเดือนธันวาคม 2548 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ อุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยาสูบ อุตสาหกรรมการผลิตมอลต์ลิกเคอและมอลต์ เป็นต้น
- อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ อุตสาหกรรมการผลิตมอลต์ลิกเคอและมอลต์ เป็นต้น
- อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนมกราคม 2549 มีค่า 67.02 เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2548 (66.89) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (68.37)
- อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนธันวาคม 2548 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล อุตสาหกรรมการผลิตเม็ดพลาสติก อุตสาหกรรมการผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน ยกเว้นปุ๋ยและสารประกอบไนโตรเจน อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ อุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษ และกระดาษแข็ง เป็นต้น
- อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และสินค้าที่เกี่ยวข้อง อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นต้น
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2549
- ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2549 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2548 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 338 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนธันวาคม 2548 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 419 รายหรือคิดเป็นจำนวน
น้อยกว่าร้อยละ -19.3 ในส่วนของจำนวนเงินลงทุน มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 5,895.94 ล้านบาท ลดลงจากเดือนธันวาคม 2548 ซึ่งมีการลงทุนเพิ่ม 11,486.49 ล้านบาทร้อยละ -48.7 และมีการจ้างงานรวม 9,117 คน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2548 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 9,390 คน ร้อยละ -29.1 ตามลำดับ
- ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2549 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนมกราคม 2548 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 450 รายหรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ
- 24.9 และมีการจ้างงานลดลงจากเดือนมกราคม 2548 ซึ่งมีจำนวนการจ้างงาน 10,458 คน ร้อยละ
- 14.7 และในส่วนของจำนวนเงินลงทุนลดลงจากเดือนมกราคม 2548 ซึ่งมีการลงทุนเพิ่ม 46,026.43 ล้านบาทร้อยละ -87.2
- อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนมกราคม 2549 คือ อุตสาหกรรมขุดหรือลอก กรวด ทรายหรือดิน จำนวน 41 ราย รองลงมาคือ อุตสาหกรรมกลึง เจาะ คว้าน กัด ไส เจียน เชื่อมโลหะทั่วไป จำนวน 21 ราย
- อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนมกราคม 2549 คือ อุตสาหกรรมโรงงานห้องเย็น 378 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำเครื่องเรือนจากไม้ ยาง อโลหะอื่นซึ่งมิได้ทำจากพลาสติกอัดเข้ารูป มีเงินทุน 345 ล้านบาท
- อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนมกราคม 2549 คือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์คนงาน 1,103 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำวงกบ ขอบประตู ขอบหน้าต่าง บานประตู บานหน้าต่าง คนงาน 710 คน
- ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2549 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2548 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 126 ราย น้อยกว่าเดือนธันวาคม 2548 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 147 ราย คิดเป็นร้อยละ -14.3 และในส่วนของเงินทุนมีจำนวน 715.50 ล้านบาทและมีการเลิกจ้างงานจำนวน 2,284 คน น้อยกว่าเดือนธันวาคม 2548 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,555.76 ล้านบาทและเลิกจ้างงานจำนวน 3,512 คน
- ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2549 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวนน้อยกว่าเดือนมกราคม 2548 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 171 ราย คิดเป็นร้อยละ -26.3 และในส่วนเงินทุนและการเลิกจ้างงานน้อยกว่าเดือนมกราคม 2548 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 992.71 ล้านบาทและเลิกจ้างงานจำนวน 4,496 คน
- อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนมกราคม 2549 คือ อุตสาหกรรมอุตสาหกรรมการซ่อมยานที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์หรือส่วนประกอบจำนวน 16 ราย รองลงมาคือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ จำนวน 9 ราย
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ