1. จีนเป็นตลาดนำเข้าสำคัญอันดับ 3 ของโลกในปี 2548 มูลค่าการนำเข้าประมาณร้อยละ 6.72 ของการนำเข้าในตลาดโลก มีมูลค่าการนำเข้า 660,211.766 ล้านเหรียญสหรัฐ
2. การนำเข้าของจีนในเดือน ม.ค.-ต.ค. 2549 มีมูลค่ารวม 645,770.662 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.90
3. หล่งผลิตสำคัญที่จีนนำเข้าในเดือน ม.ค.-ต.ค. 2549 ได้แก่
- ญี่ปุ่น ร้อยละ 14.53 มูลค่า 93,854.495 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.63
- เกาหลีใต้ ร้อยละ 11.31 มูลค่า 73,018.591 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.90
- ไต้หวัน ร้อยละ 11.00 มูลค่า 71,062.679 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.95
ส่วนการนำเข้าจากไทยอยู่อันดับที่ 11 สัดส่วนร้อยละ 2.24 มูลค่า 14,479.916 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.40
4. คณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคพื้นเอเซียแปซิฟิกขององค์การสหประชาชาติ
(ยูเนสแคป) คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกปี 2007 ว่าน่าจะมีผลมาจากการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจจีนและอินเดีย รวมไปถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ของชาติต่างๆ ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ยูเนสแคปคาดว่าในปี 2007 เศรษฐกิจจีนจะเติบโตอยู่ที่ระดับ 9.9% ซึ่งลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับตัวเลขการเติบโต 10.2% ในปี 2006 อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากแรงผลักดันของทั้งสองประเทศข้างต้นแล้ว การฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งของเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเป็นแรงหนุนที่สำคัญอีกประการที่จะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกมีการเติบโตอย่างมั่นคงในปีหน้า
5. หนังสือพิมพ์ไชน่า ซีเคียวริตี้ส์ เจอร์นัล ของจีน รายงานผลการวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจมหภาคว่า แนวโน้มเศรษฐกิจจีนในปี 2550 จะขยายตัวไม่เกินร้อยละ 10 และคาดว่าในปีนี้ เศรษฐกิจจะเติบโตในอัตราร้อยละ 10.6 โดยที่รัฐบาลจีนพยายามหาทางชะลอการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและควบคุมการปล่อยสินเชื่อของภาคการธนาคาร รวมทั้งดำเนินนโยบายต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อชะลอการเติบโตอย่างรวดเร็วในภาคการลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และภาคการก่อสร้าง
6. จีนได้เปรียบดุลการค้ากับทั่วโลกในเดือน ม.ค.-ต.ค. 2549 มูลค่า 133,604.402 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯเป็นอันดับหนึ่ง มูลค่า 116,268.755 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.34 ฮ่องกงเป็นอันดับ 2 มูลค่า 114,059.893 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.27 แต่เสียเปรียบดุลการค้าให้กับ จีนเป็นมูลค่า 58,581.259 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.81
7. ปี 2549 (ม.ค.-พ.ย) จีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 3 ของไทยโดยมีสัดส่วนร้อยละ 8.39 ของมูลค่าการส่งออกโดยรวมของไทย หรือมูลค่า 10,624.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.41 คิดเป็นร้อยละ 82.78 ของเป้าหมายการส่งออกไปจีนในปี 2549 (มูลค่า 12,835 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.2)
8. สินค้าไทยส่งออกไปจีนมีโครงสร้าง (ม.ค-พ.ย) ดังนี้
- สินค้าเกษตรกรรม (กสิกรรม ปศุสัตว์ ประมง) ร้อยละ 19.54
- สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ร้อยละ 1.72
- สินค้าอุตสาหกรรม ร้อยละ 69.57
- สินค้าแร่ เชื้อเพลิง และอื่นๆ
โครงสร้างการส่งออกสินค้าไทย ปี 2549 (ม.ค.-พ.ย.)
จากสถิติโครงสร้างการส่งออกสินค้าไทยไปจีน จะเห็นว่าทั้งสินค้าแต่ละกลุ่ม มีสถิติเพิ่มขึ้นในระดับที่แตกต่างกัน โดยสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.51 เกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.56 และอุตสาหกรรมการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.51
8.1 การส่งออกสินค้าเกษตรกรรมไปจีนในช่วงม.ค.-พ.ย. 2549 มีมูลค่า 2,075.99 ล้านเหรียญ สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.56 เมื่อเทียบกับ 1,369.73 ของปี 2548 ในช่วงระยะเดียวกัน
สินค้าเกษตรกรรมสำคัญส่งออกไปจีน ได้แก่
- ยางพารา
- ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
- ข้าว
- ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง
- สินค้าประมง
- อื่นๆ
ยางพารา : เป็นสินค้าเกษตรสำคัญอันดับหนึ่งที่ไทยส่งออกไปจีนได้เป็นมูลค่า 1,200.48 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงม.ค.-พ.ย. 2549 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 64.42 และเมื่อไปดูสถิติการนำเข้ายางพารา (HS.4001 Rubber Natural) ในประเทศจีน ช่วงม.ค.-ต.ค. 2549 ซึ่งมีการนำเข้าจากไทยเป็นอันดับหนึ่ง สัดส่วนร้อยละ 37.34 มูลค่า 942.171 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.67 รองลงไปเป็นการนำเข้าจาก มาเลเซีย อินโดนีเซียและเวียดนาม สัดส่วนร้อยละ 28.07 24.33 และ 5.68 ตามลำดับ
ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นสินค้าเกษตรสำคัญอันดับที่สองซึ่งไทยส่งออกไปจีน โดยมีมูลค่า 469.51
ล้านเหรียญสหรัฐ ช่วงม.ค.-พ.ย. 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.25 และ เมื่อไป ดูสถิติการนำเข้าของจีน ในช่วงม.ค.-ต.ค. 2549 พบว่าจีนนำเข้ามันสำปะหลัง (Hs.0714 Cassawa Arrowroot.etc) จากตลาดโลกเป็นมูลค่า 513.383 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.32 มีการนำเข้าจากไทยเป็นอันดับหนึ่ง สัดส่วนร้อยละ 76.00 มูลค่า 390.143 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.20 รองลงไปเป็นการนำเข้าจากเวียดนามและอินโดนีเซีย ในสัดส่วนร้อยละ 21.58 และ 2.41 ตามลำดับ
ข้าว : เป็นสินค้าเกษตรสำคัญอันดับที่สาม ซึ่งไทยส่งออกไปจีน โดยมีมูลค่า 230.20 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงม.ค.-พ.ย. 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.01 เมื่อเทียบกับ 144.78 ของปี 2548 ในช่วงระยะเดียวกัน และเมื่อไปดูสถิติการนำเข้าข้าว (Hs.1006 Rice) ของจีนพบว่าในช่วง ม.ค.-ต.ค. 2549 มีการนำเข้า จากตลาดโลกมูลค่า 223.162 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 62.94 มีการนำเข้าจากไทยเป็นอันดับหนึ่ง สัดส่วนร้อยละ 96.08 มูลค่า 214.423 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงไปเป็นการนำเข้าจาก เวียดนามในสัดส่วนร้อยละ 3.77
ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง : เป็นสินค้าเกษตรซึ่งไทยส่งออกไปจีนอันดับที่สี่ มูลค่า 92.89 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงม.ค-พ.ย 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.98 และเมื่อดูจากสถิติการนำเข้าผลไม้สดในประเทศจีนพบว่า (Hs.0810 Other Fresh Fruit) พบว่าในช่วงม.ค.-ต.ค. 2549 จีนนำเข้าจากตลาดโลกมูลค่า 148.871 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.94 มีการนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 1 สัดส่วนร้อยละ 63.86 มูลค่า 95.074 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 12.06 ในขณะที่การนำเข้าจากเวียดนามสัดส่วนร้อยละ 28.30 จากร้อยละ 13.73 ในปี 2548 ในช่วงระยะเดียวกัน มูลค่า 42.131 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 130.75 แสดงให้เห็นว่า เวียดนามกำลังขยายส่วนแบ่งตลาดนำเข้าในจีนได้เพิ่มขึ้น ส่วนไทยกำลังเสียส่วนแบ่งไปเป็นบางส่วน ให้แก่เวียดนามและประเทศอื่น
สินค้าประมง : เป็นสินค้าเกษตรสำคัญอันดับที่ 4 ซึ่งไทยส่งออกไปจีน โดยมีมูลค่า 54.41 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.85 ในช่วงม.ค.-พ.ย. 2549 สินค้าประมงที่ไทยส่งออกไปจีน ได้แก่ ปลา กุ้งและปลาหมึกเป็นส่วนใหญ่ ในด้านการนำเข้าของจีนในช่วง ม.ค.-ต.ค. 2549 มีการนำเข้าจากตลาดโลก (Hs.03 Fish and Seafood) มูลค่ารวม 2,595.659 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.76 มีการนำเข้าจากรัสเซีย สหรัฐฯ และญี่ปุ่น เป็นหลัก ส่วนการนำเข้าจากไทยอยู่อันดับที่ 8 สัดส่วนร้อยละ 2.22 มูลค่า 57.699 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.55
สินค้าเกษตรที่มีความสำคัญรองลงไปคือ ใบยาสูบ กล้วยไม้ และสินค้าปศุสัตว์ เป็นต้น
8.2 สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรไปจีนที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่
- น้ำตาลทรายและกากน้ำตาล
- ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์
- ผลไม้กระป๋องและแปรรูป
- ผลิตภัณฑ์ข้าว
- อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป
น้ำตาลทรายและกากน้ำตาล : ไทยส่งออกสินค้านี้ไปจีนเป็นมูลค่า 74.37 ล้านเหรียญสหรัฐ (ม.ค.-พ.ย. 2549) เพิ่มขึ้นร้อยละ 105.82 แต่ในด้านสถิติการนำเข้าน้ำตาลของประเทศจีน (HS 17 SUGAR) (ม.ค.-ต.ค.) จากตลาดโลกมีมูลค่า 512.611 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.58 มีการนำเข้าจาก คิวบา บราซิล และเกาหลีใต้ เป็นหลัก ส่วนการนำเข้าจากไทยอยู่อันดับที่ 3 สัดส่วนร้อยละ 11.27 มูลค่า 57.757 เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.42
ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ : ไทยส่งออกสินค้านี้ไปจีนมูลค่า 17.94 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงม.ค.-พ.ย. 2549 เทียบกับ 7.16 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 150.58 และเมื่อไปดูสถิติการนำเข้าในรหัส HS 15 FAT AND OILS (ม.ค-ต.ค 2549) พบว่าจีนนำเข้าจากตลาดโลกมูลค่า 3,133.337 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.27 มีการนำเข้าจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย และอารเจนตินา เป็นหลัก ในสัดส่วนร้อยละ 41.65 28.79 และ 15.99 ตามลำดับ ส่วนการนำเข้าจากไทยอยู่ในอันดับที่ 14 สัดส่วนร้อยละ 0.27 มูลค่า 57.757 เพิ่มขึ้นร้อยละ 159.31
ผลไม้กระป๋องและแปรรูป : ไทยส่งออกสินค้านี้ไปจีนเป็นมูลค่า 5.91 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 17.19 ในช่วงม.ค.-พ. ย. 2549 ในด้านการนำเข้าของจีน (HS 2008 OTHER FRUIT,NUT : PRESERVED FOOD) ในช่วงม.ค.-ต.ค. 2549 มีการนำเข้าจากตลาดโลกมูลค่า 36.007 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.05 โดยนำเข้าจากสหรัฐ ตุรกี และไทย เป็นหลักในสัดส่วนร้อยละ 57.80 9.99 และ 4.79 ตามลำดับ โดยการนำเข้าจากไทยอยู่อันดับที่ 3 สัดส่วนร้อยละ 4.79 มูลค่า 1.723 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 20.58
ผลิตภัณฑ์ข้าว : ไทยส่งออกสินค้านี้ไปจีนเป็นมูลค่า 3.60 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.75 ในช่วงม.ค.-พ.ย. 2549 ส่วนในด้านการนำเข้าของจีนในรหัส HS 1102 CEREAL FLOURS,NT 1101 จากตลาดโลกมีมูลค่า 9.349 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.73 (ม.ค.-พ.ย. 2549) นำเข้าจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย เป็นหลัก ในสัดส่วนร้อยละ 40.33 18.48 และ 11.17 ตามลำดับ ส่วนการนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 8 สัดส่วนร้อยละ 2.07 มูลค่า 0.193 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.59
อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป : ไทยส่งออกสินค้านี้ไปจีนเป็นมูลค่า 3.27 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.49 ในช่วงม.ค.-พ.ย. 2549 และในด้านการนำเข้าของจีน (ม.ค.-ต.ค. 2549) ในรหัส HS 16 PREPARE MEAT,FISH ETC มีมูลค่า 36.53 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.42 มีการนำเข้าจากเปรู สหรัฐฯ และนิวซีแลนด์ เป็นหลัก ในสัดส่วนร้อยละ 15.42 11.20 และ 7.97 ตามลำดับ ส่วนการนำเข้าจากไทยอยู่ในอันดับ 5 สัดส่วนร้อยละ6.73 มูลค่า 2.46 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 100.36
สินค้าเกษตรอุตสาหกรรมที่สำคัญรองลงไปที่ไทยส่งไปจีน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ซุปและอาหารปรุงแต่ง เป็นต้น
8.3 สินค้าอุตสาหกรรมส่งออกไปจีน 5 อันดับ ได้แก่
- เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ
- เคมีภัณฑ์
- เม็ดพลาสติก
- เครื่องไฟฟ้า
- ผลิตภัณฑ์ยาง
เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ : ไทยส่งออกสินค้านี้ไปจีนในช่วง ม.ค.-พ.ย. 2549 เป็นมูลค่า 2,258.34 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.51 แต่เมื่อไปดูสถิติการนำเข้าสินค้าในรหัส HS.8471 COMPUTER & COMPONENT ของประเทศจีนในช่วงม.ค.-ต.ค. 2549 พบว่ามีการนำเข้าจากตลาดโลกรวม 16,059.20 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.85 นำเข้าจากประเทศไทยเป็นอันดับสอง สัดส่วนร้อยละ 17.97 มูลค่า 2,886.14 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.09 รองลงไปเป็นการนำเข้าจากฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ และสิงคโปร์ เป็นต้น
เคมีภัณฑ์ : ไทยส่งออกสินค้านี้ไปจีน (ม.ค.-พ.ย. 2549) มูลค่า 1,031.89 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.96 เคมีภัณฑ์ที่ไทยส่งออกไปจีนประกอบด้วย เคมีภัณฑ์อนินทรีย์ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ ปุ๋ย สีทาและวานิชและสีอื่นๆ สารสกัดใช้ในการฟอกหนังและย้อมสี เป็นต้น ในด้านการนำเข้าเคมีภัณฑ์ของจีน (ม.ค.-ต.ค. 2549) มีการนำเข้าจากตลาดโลกในรหัส HS29 ORGANIC CHEMICALS มูลค่า 24,266.616 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.11 โดยการนำเข้าจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน เป็นหลัก ส่วนการนำเข้าจากไทยอยู่ที่อันดับ 6 สัดส่วนร้อยละ 3.65 มูลค่า 886.134 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 144.49
เม็ดพลาสติก : ไทยส่งสินค้านี้ออกไปจีน (ม.ค.-พ.ย 2549) เป็นมูลค่า 829.48 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.07 ส่วนในด้านการนำเข้าเม็ดพลาสติก (HS 3901 ETHYLEN,PRIMARY FORM) ในตลาดจีน (ม.ค-ต.ค 2549) มีมูลค่า 5,150.907 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 2.05 โดยนำเข้าจากเกาหลีใต้ ซาอุดิอาระเบีย และสิงคโปร์เป็นหลัก และนำเข้าจากไทยอันดับที่ 9 สัดส่วนร้อยละ 4.69 มูลค่า 241.625 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.42
เครื่องใช้ไฟฟ้า : ไทยส่งออกสินค้านี้ (HS.85) ไปจีน (ม.ค.-พ.ย.) มูลค่า 521.26 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.97 ส่วนในด้านการนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า HS 85 ELECTRICAL MACHINE จากตลาดโลก (ม.ค-ต.ค 2549) มีมูลค่า 176,699.925 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 27.62 โดยการนำเข้าจากไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นหลัก ส่วนการนำเข้าจากไทยอยู่ในอันดับที่ 10 สัดส่วนร้อยละ 2.01 มูลค่า 3,550.72 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.09
ผลิตภัณฑ์ยาง : ไทยส่งสินค้านี้ไปจีน (ม.ค.-พ.ย.) HS 4002-4017 ไปจีนมูลค่า 256.78 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับ 117.02 ของปี 2548 ในช่วงระยะเดียวกัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 119.43 ในด้านการนำเข้าจากตลาดโลกของจีน (HS 40 RUBBER) (ม.ค-ต.ค 2549) มีมูลค่า 7,017.339 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.13 มีการนำเข้าจากไทย มาเลเซีย และญี่ปุ่น เป็นหลัก โดยการนำเข้าจากไทยอยู่ในอันดับที่ 1 สัดส่วนร้อยละ 18.76 มูลค่า 1,316.365 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 78.91
สินค้าอุตสาหกรรมส่งออกไปจีนที่สำคัญรองลงไป ได้แก่ สิ่งทอ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เลนซ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
ข้อคิดเห็น
1. รองประธานคณะกรรมาธิการกฎระเบียบการธนาคารของจีน นายเจียง ติงจี ให้ความเห็นเรื่องเศรษฐกิจจีนในขณะนี้ว่า ยอดเกินดุลการค้าของจีนและอัตราการเติบโตของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่ในระดับสูงเกินไป โดยตัวเลขทั้งสองมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก เนื่องจาก จีนมีความได้เปรียบในฐานะที่เป็นแหล่งที่ตั้งของบริษัทผู้ผลิตสินค้าจากทั่วโลก นอกจากนี้จีนยังมีศักยภาพที่สูงมากในการเข้าถึงแหล่งแรงงานราคาถูก ด้วยเหตุนี้ภารกิจหลักของรัฐบาลจีนคือ การนำมาตรฐานที่มีประสิทธิภาพ (รวมถึงการทำให้ค่าเงินหยวนแข็งแกร่งขึ้น) มาใช้ในการปรับลดยอดเกินดุลการชำระเงินของจีนลงอย่างต่อเนื่อง โดยคาดกันว่ายอดเกินดุลดังกล่าวอาจสูงกว่า 10% ของตัวเลขมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ทั้งนี้รัฐบาลจีนกังวลว่าการดีดตัวขึ้นของเงินหยวนอาจส่งผลลบต่อตำแหน่งงานในภาคการส่งออก ดังนั้นรัฐบาลจีนจึงค่อยๆ ชี้นำให้หยวนขยับขึ้นอย่างช้าๆ ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยังเห็นว่าหยวนยังคงแข็งค่าน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับความแข็งแก่งทางเศรษฐกิจของจีน
2. นับตั้งแต่ปี ค.ศ 1978 เป็นต้นมา จีนดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้มากถึง 622,400 ล้านเหรียญสหรัฐ และขึ้นนำหน้าสหรัฐฯ ในฐานะประเทศผู้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศสูงที่สุดในโลกเมื่อปี 2003 แต่ขณะนี้จีนกลับตัดสินใจออกระเบียบควบคุมการลงทุน โดยจีนได้พยายามกำจัดอิทธิพลของบริษัทต่างชาติที่มีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งรัฐบาลจีนยืนยันว่ามิได้มีจุดประสงค์ที่จะปิดประตูใส่ต่างชาติที่ต้องการเข้ามาลงทุน แต่จีนกำลังให้ความสนใจต่อการดึงดูดเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาตอบสนองความต้องการของประเทศมากกว่าการอนุมัติข้อตกลงทุกฉบับ ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายได้ออกมาให้ความเห็นว่า การตัดสินใจของจีนในครั้งนี้อาจจะถ่วงแผนปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย ควรจะเจาะจงประเภทอุตสาหกรรมและแบรนด์คุ้มครองมากกว่าออกกฎเหวี่ยงแหเช่นนี้
3. ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) นายเบน เบอร์แนนคี ให้ความเห็นเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีน-สหรัฐฯ ภายหลังการประชุมหารือกันของทั้งสองฝ่าย เพื่อกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจลดช่องว่างการค้าโลก เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2549 ว่าจีนจะได้รับประโยชน์หลายด้านจากการเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่เงินหยวน เช่น การยกระดับมาตรฐานการครองชีพ สร้างเสถียรภาพให้แก่เศรษฐกิจจีน กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เพื่อปรับสมดุลภาคส่งออก และยังช่วยให้ทางการจีนสามารถควบคุมภาวะเงินเฟ้อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย ในขณะที่รองนายกรัฐมนตรี อู๋อี๋ แห่งจีน กล่าวว่าการเจรจาประสบความสำเร็จดียิ่ง และจะช่วยกระตุ้นการค้าและกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน โดยรัฐบาลจีนและสหรัฐฯ มีกำหนดหารือกันอีกครั้งในกรุงวอชิงตัน เดือนพฤษภาคม 2550
4. ผู้อำนวยการองค์การค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) นายปาสคาล ลามี กล่าวชื่นชมจีน ในโอกาสครบรอบ 5 ปี ที่จีนเข้าเป็นสมาชิกของดับบลิวทีโอ ว่าจีนมีพัฒนาการในการปรับเศรษฐกิจและกฎระเบียบได้สอดคล้องกับข้อบังคับของดับบลิวทีโอได้ระดับหนึ่ง ในการเปิดตลาดสู่เวทีโลก ทั้งการนำเข้า สินค้าและต้อนรับนักลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น โดยระบุให้พัฒนาการของจีนในระดับเอบวก ในอีกด้านหนึ่งแม้เศรษฐกิจจีนจะรุดหน้าด้านการปรับตัวเข้ากับเวทีโลก แต่จีนก็มิอาจเลี่ยงการเผชิญข้อพิพาททางการค้า นับแต่ปี 2544 จีนถูกฟ้องร้องคิดเป็นสัดส่วนถึง 15% ของคดีต่อต้านการทุ่มตลาดทั้งหมด และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 30% ในปี 2548 ขณะที่หัวหน้าผู้แทนจีนใน ดับบลิวทีโอ นายซัน เจินหยู คาดหมายว่าจีนอาจเผชิญข้อพิพาทอีกเมื่อการเจรจารอบโดฮาฟื้นขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะปัญหาด้านความปลอดภัยในภาคเกษตร ภาคการเงิน และภาคพลังงาน
5. จีนเป็นตลาดสำคัญที่ทุกประเทศต้องขยายการค้าด้วย สำหรับประเทศไทยได้ร่วมหารือกับจีน เพื่อทำข้อตกลงที่จะทยอยเปิดการค้าเสรีแบบทวิภาคีก่อนสมาชิกอาเซี่ยนอื่นๆ โดยคาดว่าไทยจะใช้ประโยชน์ได้จากการค้าผลผลิตทางการเกษตรภายใต้กรอบตกลงว่าด้วย “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและจีน” (Framework Agreement on ASEAN-China Comprehensive Economic Cooperation) อันเป็นกรอบกว้างๆ ที่ครอบคลุมทั้งเรื่องการค้าสินค้า การบริการ และการลงทุน ซึ่งผูกผันให้มีการเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนและจีนขึ้นในปี 2553 อย่างไรก็ตามแม้การค้าระหว่างไทย-จีน จะขยายตัวสูงขึ้นเป็นอันดับ อีกทั้งชาวจีนเริ่มรู้จักสินค้าไทยและนิยมบริโภคผลไม้ไทยมากขึ้น แต่ไทยยังคงเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับจีนมาโดยตลอด และมีแนวโน้มจะขาดดุลมากยิ่งขึ้นอีกด้วย แม้ว่าการเปิดเสรีการค้าระหว่างกันในสินค้าปกติเริ่มทยอยมีผลตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาก็ตาม ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าการเปิดการค้าเสรีกับจีนมิใช่ปัจจัยหลักที่จะช่วยลดการขาดดุล เนื่องจากการขยายการค้ากับจีน พร้อมกับการลดการขาดดุลการค้าลงอาจจะมีความยุ่งยากอยู่มากสำหรับประเทศผู้ส่งออกขนาดเล็กเช่นไทย อย่างไรก็ตามหาก ผู้ประกอบการไทยเร่งพัฒนาผลิตสินค้าที่มีดีทั้งด้านคุณภาพและราคา อีกทั้งหาทางขยายตลาดในประเทศจีนในลักษณะค่อยๆ ซึมลึกเข้าไปในแต่ละท้องถิ่นทีเหมาะสม หรือเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างกัน ตลาดจีนก็ยังคงเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าสนใจและมีความท้าทาย
6. ภาวะตลาดเหล็กของโลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีความผันผวนมาก ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตเหล็กในประเทศไทย ซึ่งยังต้องนำเข้าเหล็กกึ่งวัตถุดิบและเหล็กกึ่งสำเร็จรูปหลากหลายชนิด เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กต่างๆ สำหรับใช้ในการก่อสร้างและอุตสาหกรรมต่อเนื่องนานาประเภท ทั้งนี้ตลาดเหล็กในประเทศไทยได้ประสบกับภาวะถดถอยในปี 2549 เนื่องจากการชะลอตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างในประเทศ ทั้งนี้คาดว่าในปี 2550 ตลาดเหล็กของไทยน่าจะดีขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามศูนย์วิจัยกสิกรไทยให้ความเห็นว่า ตลาดเหล็กของโลกปีหน้ายังคงไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับระดับการผลิตในประเทศจีนเป็นสำคัญ หากรัฐบาลจีนสามารถดำเนินมาตรการจำกัดปริมาณผลิตเหล็กอย่างได้ผล ก็จะทำให้อุปทานและอุปสงค์เหล็กของโลกมีความสมดุล และราคาเหล็กก็จะมีเสถียรภาพ ทั้งนี้แนวโน้มที่กำลังเป็นที่วิตกในตลาดเหล็กโลกขณะนี้คือ การที่จีนซึ่งเมื่อไม่กี่ปีก่อนเคยเป็นผู้นำเข้าเหล็กสุทธิปีละกว่า 25 ล้านตัน แต่ปัจจุบันปริมาณการผลิตในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จีนจึงกลับกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกเหล็กสุทธิ (Net Steel Exporter) ในตลาดโลก และหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปในปี 2550 ท่ามกลางภาวะความต้องการเหล็กในตลาดโลกที่จะชะลอตัวลง ก็อาจนำไปสู่ภาวะอุปทานเหล็กส่วนเกินในตลาดโลก และเป็นที่แน่นอนว่าอุตสาหกรรมและตลาดเหล็กของไทยก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบของภาวะตลาดเหล็กของโลกได้
ที่มา: http://www.depthai.go.th