นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่าหลังจากที่ได้ตั้งความหวังไว้ว่าการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกจะสามารถสรุปการหารือในเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้ ซึ่งมีอยู่หลายเรื่องทั้งในการเจรจาการค้าสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรม แต่ผลสรุปก็คือ มีแต่ความความล้มเหลวที่เกิดขึ้น และไม่มีอะไรคืบหน้าแม้แต่น้อย
การประชุมไม่สามารถหาข้อสรุปในประเด็นเจรจาที่สำคัญ 3 ประเด็นหลักได้แก่ การลดภาษีและการลดการอุดหนุนสินค้าเกษตร รวมทั้งการลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรม โดยในส่วนของประเทศพัฒนาแล้ว สหภาพยุโรปพยายามแสดงท่าทีที่ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการลดภาษีสินค้าเกษตร และการลดการอุดหนุนสินค้าเกษตร ซึ่งทำให้ท่าทีของสหภาพยุโรปใกล้เคียงกับข้อเสนอของกลุ่ม G-20 มากขึ้น ในขณะที่สหรัฐฯ ยังคงท่าทีเดิมโดย ไม่ต้องการลดการอุดหนุนสินค้าเกษตรลงมาในระดับที่สหภาพยุโรป และ G-20 เสนอ (คือลดลงร้อยละ 70-75) ส่วนในเรื่องของการลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรม ทั้งสองประเทศยังคงเรียกร้องให้ประเทศกำลังพัฒนาลดภาษีสูง เพื่อให้เปิดตลาดอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ในส่วนของประเทศกำลังพัฒนา เช่น กลุ่ม G-20 นำโดยบราซิล เห็นว่าประเทศพัฒนาแล้วต้องลดการอุดหนุนภายในให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องเปิดตลาดให้กับประเทศพัฒนาแล้ว โดย G-20 ได้ขยายความร่วมมือกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ เช่น G-33, ACP, CARICOM และ African Group เพื่อร่วมกันผลักดันให้สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
สาเหตุหลักที่ทำให้การประชุมครั้งนี้ไม่มีความคืบหน้า นอกจากการที่แต่ละกลุ่มยังคงยืนยันท่าทีเดิม และได้ตั้งเงื่อนไขในการแสดงความยืดหยุ่นของตน เช่น สหภาพยุโรปจะยอมลดภาษีมากขึ้นหากสหรัฐฯ ลดการอุดหนุนภายในสินค้าเกษตรลงมาในระดับที่สหภาพยุโรป และ G-20 เสนอ ส่วนประเทศกำลังพัฒนาเอง โดยเฉพาะบราซิลและอินเดีย ก็ยังมีท่าทีที่แข็งกร้าวที่จะไม่ยอมเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรม โดยโยงกับการที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องเปิดตลาดสินค้าเกษตร และการลดการอุดหนุนภายในให้มากที่สุด ยังเกิดจากการที่ทุกฝ่ายเห็นว่าหัวหน้าเจรจาของสหรัฐฯ ไม่ได้รับอาณัติ (mandate) ให้สามารถยืดหยุ่นท่าทีในการเจรจาครั้งนี้ ทำให้ทุกประเทศเห็นว่าสหรัฐฯ ไม่มีความจริงใจที่จะเจรจาเพื่อหาข้อสรุปแต่ต้องการให้ทุกประเทศเปิดตลาดให้กับสินค้าของตนฝ่ายเดียว ในที่สุด สมาชิกจึงยืนยันท่าทีเดิม ทำให้การเจรจาครั้งนี้ไม่มีความคืบหน้า
ผลที่ตามมาจากความล้มเหลวดังกล่าวอาจทำให้ความสำคัญของการเจรจา WTO ถูกลดความสำคัญลง และเกิดผลเสียต่อประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งไทย เนื่องจาก WTO เป็นเวทีที่ทำให้ประเทศกำลังพัฒนามีอำนาจต่อรองต่อประเทศพัฒนาแล้ว และยิ่งไปกว่านั้นก็คือ กฏหมายของ TPA (Trade Promotion Authority Act of 2002) ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นกฏหมายที่ให้อำนาจประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการเจรจา Fast Track จะหมดอายุในวันที่ 1 กรกฎาคม 2550 ซึ่งหากการเจรจายังคงยืดเยื้อต่อไปก็คงจะไม่สามารถสรุปผลการเจรจาได้ในที่สุด เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อการเจรจาใน WTO
อย่างไรก็ดี ทีมเจรจาของไทยได้มีท่าทีเชิงรุก 3 ด้านมาโดยตลอด ทั้งด้านการเจรจาผลักดันให้ประเทศอื่นลดภาษีสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม และลดการอุดหนุนภายใน ซึ่งเป็นปัญหาที่ไทยประสบมาโดยตลอด และไทยได้ให้ความสำคัญกับการให้สมาชิกอื่นเปิดตลาดสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย คือ ข้าว และน้ำตาล ซึ่งไทยได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าจะต้องมีการลดภาษีและขยายโควตาสินค้าในทุกรายการอย่างไม่มีข้อยกเว้น เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของไทย
การเจรจาที่จะยังคงมีต่อไป โดยสมาชิกทุกประเทศยังคงแสดงความมุ่งมั่นที่จะสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ และได้ตกลงให้ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (Mr. Pascal Lamy) เร่งกระบวนการหารือกับสมาชิกในแต่ละกลุ่ม และรายงานผลเป็นระยะๆ เพื่อให้สามารถหาข้อยุติได้ภายในเดือนกรกฎาคม และเน้นว่าผลการเจรจาจะต้องเกิดการเห็นชอบและมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิกทั้งหมด
สมาชิก WTO หลายประเทศ รวมทั้งไทย ต้องการประคับประคองไม่ให้การเจรจาการค้ารอบโดฮาล่ม เพราะต้องการใช้ข้อผูกพันการเปิดตลาดใน WTO เป็นพื้นฐานการเจรจาต่อยอดในเวที FTA และหากการใน WTO ล่ม หลายประเทศจะหันมาเจรจาใน FTA แทนมากขึ้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-