ธปท.เปิดไส้ใน “ค่าเงินบาท”ตอบข้อเท็จจริง “ผู้ส่งออก”

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 7, 2006 14:09 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          ปีนี้เป็นปีที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ล่าสุด(4พย.) เคลื่อนไหวอยู่ที่ 35.80-35.96 บาท/ดอลลาร์ และปิดตลาดที่ 36.89/92 บาท/ดอลลาร์ และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มักจะถูกคำถามว่า...แล้วค่าเงินบาทจะแข็งค่าไปถึงไหน
นางธาริสา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท.ได้ตอบคำถามเมื่อปลายเดือนพย.2549 ว่าแบงก์ชาติบอกได้แต่แนวโน้มว่าจากนี้ไปค่าเงินดอลลาร์มีแต่จะอ่อนตัวลงต่อเนื่อง จากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ไร้สมดุล ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างรวดเร็ว ซึ่งธปท.สามารถดูแลไม่ให้ค่าเงินผันผวนมากเกินไปได้ในระดับหนึ่ง บอกได้แต่แนวโน้มในระยะยาวบาทจะแข็งค่าขึ้นตามเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องแน่นอน และจากการวิเคราะห์ความยืดหยุ่นของอัตราแลกเปลี่ยนหรือการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทว่ามีผลกระทบต่อการส่งออกน้อยแค่ไหน พบว่าการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทกระทบต่อการส่งออกน้อย กล่าวคือ ถ้าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1% มีผลกระทบการส่งออกเพียง 0.1% แต่ถ้ารายได้ของประเทศคู่ค้า(จีดีพี)สูงขึ้น 1% ทำให้การส่งออกสูงขึ้น 1.44% เพราะฉะนั้นการส่งออกของไทยจะดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่มีน้ำหนักมากสุดคือ จีดีพีของประเทศคู่ค้า ซึ่งหมายถึงอำนาจซื้อนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นแม้จะมีผลกระทบต่อผู้ส่งออกโดยรวมไม่มากนัก แต่ถ้าเจาะเป็นรายอุตสาหกรรมแล้ว กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากสุดคืออุตสาหกรรมภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก เพราะใช้วัตถุดิบในประเทศมาก ขณะที่รายได้เงินตราต่างประเทศเมื่อแลกเป็นเงินบาทแล้วได้น้อยลง
นอกจากนี้ ธปท.พยายามที่จะชี้แจงและเปรียบเทียบให้เห็นข้อเท็จจริงของค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา เพื่อโต้ตอบการเรียกร้องของผู้ส่งออกว่า หากเปรียบเทียบการแข็งของค่าเงินสกุลต่างๆ ในอาเซียนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาพบว่าในปี 2548 ค่าเงินบาทได้อ่อนตัวลงมากกว่าค่าเงินของประเทศอื่นในภูมิภาค แต่ปี 2549 เงินบาทกลับแข็งค่ามากสุด ทำให้เห็นภาพรวมว่าผู้ส่งออกมีทั้งได้เปรียบและเสียเปรียบ ไม่ใช่เสียเปรียบอย่างเดียวตามที่เรียกร้อง โดยเฉลี่ยแล้วใน 2 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าประมาณ 7% ไม่ได้แข็งกว่าภูมิภาคเดียวกันเท่าใดนัก พร้อมกับย้ำด้วยว่า ตอนนี้เงินเฟ้อก็ไม่ใช่ปัจจัยที่น่าเป็นห่วงแล้ว เพราะราคาน้ำมันปรับตัวลดลงนั่นหมายถึงว่าต้นทุนของผู้ผลิตก็ลดลงไปด้วย “อยากให้วิเคราะห์และมองข้างหน้ายาว ๆ จะได้แก้ไขปัญหาได้ถูกต้อง”
ขณะเดียวกัน ธปท.ยังได้ตั้งคำถามกลับไปว่า ที่ผ่านมาค่าเงินในภูมิภาคจะแข็งค่ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ทำไมการส่งออกของประเทศในอาเซียนยังคงเติบโตในระดับเลข 2 หลัก (ณ กันยายน 2549 มาเลเซีย 13.4% , สิงคโปร์ 19.5 % , ฟิลิปปินส์ 15.8%, อินโดนีเซีย 21 % และไทย 17.5% ) จากข้อมูลระบุชัดว่ามาจากการขยายตัวจีดีพีของประเทศคู่ค้าเป็นหลัก และสะท้อนว่าค่าเงินที่แข็งค่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญอย่างที่กล่าวอ้าง และแม้จะขาดทุนก็เป็นการขาดทุนกำไรเสียมากกว่า ประกอบกับฐานะของประเทศไทยในขณะนี้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ดุลการชำระเงินเกินดุลยิ่งตัวเลขการนำเข้าชะลอตัวลง ยิ่งทำให้ภาพรวมของประเทศดูดี เงินทุนไหลเข้าจะทะลักเข้ามาประเทศไทยจำนวนมาก และด้วยแรงกดดันจากภาคเอกชนและจากภาครัฐบาล ด้วยเหตุนี้ ธปท.จึงประกาศมาตรการสกัดการเก็งกำไรระยะสั้นของนักลงทุนต่างประเทศที่เข้มขึ้นมาอีกระดับเมื่อวันที่ 4 พย. 2549
ขณะที่นักวิเคราะห์กลับมองว่า มาตรการดังกล่าวเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ หากต้องการแก้ปัญหาให้ได้ผล ธปท.จะต้องลดอัตราดอกเบี้ยอาร์/พี 14 วัน 1-1.50 % เพราะตอนนี้ดอกเบี้ยระยะสั้นลงไปแล้ว 0.25% และ “นักลงทุนต่างชาติเล็งแล้วว่า ประเทศไทยยังมีแนวโน้มที่จะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอีก 3-5 เดือนข้างหน้า โอกาสที่ค่าเงินบาทแข็งยังมีต่อ เงินทุนต่างชาติจึงไหลเข้าไทยค่อนข้างมาก”
ประเด็นวิเคราะห์
จากนี้ไปคาดว่าแนวโน้มในระยะยาวค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นตามเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง จากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ไร้สมดุล ดังนั้น ธปท.ต้องเร่งหามาตรการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างจริงจัง ดังนี้
1. บริหารความเสี่ยงทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนของตนเอง โดยการทำเฮดจิ้ง
2. ปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพิ่มการผลิตและคุณภาพสินค้าให้ดีขึ้น
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ