บทสรุปภาวะการส่งออกของประเทศไทยเดือน ม.ค.2548

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 4, 2005 16:54 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          1. เศรษฐกิจไทยในปี 2548 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.25-6.25 ส่วนปี 2547 GDP ของไทยขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 6.3
2. ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสำคัญอันดับที่ 23 ของโลก ในช่วงครึ่งแรกของปี 2547 มีสัดส่วนการส่งออกประมาณร้อยละ 1.13 ของการส่งออกรวมในตลาดโลก(ปี 2546 ไทยอยู่อันดับที่ 23 สัดส่วนร้อยละ 1.16)
3. ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าสำคัญอันดับที่ 22 ของโลก ในช่วงครึ่งแรกของปี 2547 มีสัดส่วนการนำเข้าประมาณร้อยละ 1.11 ของการนำเข้าในตลาดโลก(ปี 2546 ไทยอยู่อันดับที่ 22 สัดส่วนร้อยละ 1.06)
4. การค้าของไทยในเดือน ม.ค. 2548 มีมูลค่า 17,094.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.05 แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 7,876.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.87 การนำเข้ามีมูลค่า 9,217.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.55 ไทยเสียเปรียบดุลการค้าเป็นมูลค่า 1,340.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
5. กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกในปี 2548 ที่มูลค่า 112,350 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 การส่งออกเดือน ม.ค. 2548 มีมูลค่า 7,876.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 7.01 ของเป้าหมายการส่งออก
6. สินค้าส่งออกสำคัญ 50 อันดับแรก สัดส่วนรวมกันร้อยละ 82.40 ของมูลค่าการส่งออกเดือน ม.ค. 2548 สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเปลี่ยนแปลงสูง มีดังนี้
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 มี 6 รายการ คือ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็กเหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ไก่แปรรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.54, 72.34, 52.55, 54.70, 75.59 และ 89.86 ตามลำดับ
7. ตลาดส่งออกสำคัญ 50 อันดับแรก สัดส่วนรวมกันร้อยละ 96.31 ของมูลค่าการส่งออกเดือน ม.ค. 2548 ตลาดที่มีมูลค่าการส่งออกเปลี่ยนแปลงสูง มีดังนี้
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 มี 3 ตลาด ได้แก่ อินเดีย เซเนกัล อาร์เจนตินา โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 125.19, 283.58, 388.57 ตามลำดับ
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 มี 6 ตลาด ได้แก่ อิหร่าน ตุรกี รัสเซีย ฟินแลนด์ ไนจีเรียและออสเตรีย โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 93.05, 66.93, 59.24, 64.28, 60.97 และ 84.80 ตามลำดับ
8. การนำเข้า
8.1 สินค้านำเข้ามีสัดส่วนโครงสร้างดังนี้
- สินค้าเชื้อเพลิง สัดส่วนร้อยละ 16.41 เพิ่มขึ้นร้อยละ 80.24
- สินค้าทุน สัดส่วนร้อยละ 27.88 ลดลงร้อยละ 16.16
- สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สัดส่วนร้อยละ 44.73 เพิ่มขึ้นร้อยละ 94.16
- สินค้าบริโภค สัดส่วนร้อยละ 6.47 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.69
- สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง สัดส่วนร้อยละ 3.17 เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.33
- สินค้าอื่นๆ สัดส่วนร้อยละ 1.33 เพิ่มขึ้นร้อยละ 144.63
8.2 แหล่งนำเข้าสำคัญ 10 อันดับแรก
มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 69.60 ของมูลค่าการนำเข้าเดือน ม.ค. 2548 ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และเยอรมนี สัดส่วนร้อยละ 21.16, 8.98, 8.20, 7.73, 5.78, 4.66, 3.68, 3.42, 3.06 และ 2.93 โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 25.47, 40.71, 28.80, 70.82, 82.10, 45.38, 15.92, 9.91, 88.91 และ 17.00 ตามลำดับ
9.ข้อคิดเห็น
1. ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติ “สึนามิ” ต่อเศรษฐกิจไทย คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ในปี 2548 จะลดลงประมาณร้อยละ 0.3 ซึ่งเป็นผลจากการสูญเสียรายจากการท่องเที่ยวประมาณ 40,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.7% ของจีดีพี และรายได้ที่สูญเสียไปในภาคของประมง 3,070 ล้านบาท หรือ 0.1% ของจีดีพี แต่ผลกระทบดังกล่าวบางส่วนได้รับการชดเชยจากการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(Soft Loan)และมาตรการอื่นๆ ส่งผลให้ GDP เพิ่มขึ้น 0.3 % และผลจากแรงส่งของ GDPจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2547 ทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 0.2% ดังนั้น ผลกระทบต่อGDP ทั้งปี 2548 จะลดลงประมาณ 0.3 %
ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงปรับประมาณการจีดีพีปี 2548 ลดลงเหลือ 5.25-6.25% จากประมาณการเดิมที่ 5.5-6.5% ส่วนทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม(สศช.)ประเมินว่า GDP ในปี 2548 จะเติบโตที่ร้อยละ 6 สำหรับอัตราเงินเฟ้อในปี 2548 ทางธปท.คาดว่าจะอยู่ที่ 2.5-3.5% ต่ำกว่าที่ได้เคยประมาณการก่อนหน้านี้ ตามข้อสมมติฐานราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลง ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2548 คาดว่าจะยังเกินดุลประมาณ 2,000-4,000 ล้านดอลลาร์
2. เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้ส่งผลให้สินค้าไทยโดยเฉพาะสินค้าประมงได้รับความเสียหายอย่างมาก ทางสหภาพยุโรป(อียู)จึงได้เร่งให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยกรรมาธิการอียูได้เสนอต่อสภาอียู ให้พิจารณาร่นระยะเวลาคืนสิทธิพิเศษทางภาษี(จีเอสพี)ให้กับสินค้าไทยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2548 จากเดิมที่ประกาศจะคืนให้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2548 เป็นต้นไป คาดว่าสภาอียูจะให้ความเห็นชอบตามที่กรรมาธิการอียูเสนอซึ่งจะทำให้สินค้าไทยได้ประโยชน์จากการลดภาษีครั้งนี้เร็วขึ้น และมูลค่าการส่งออกสินค้าที่จะได้รับคืนจีเอสพีไปยังตลาดอียูน่าจะเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าจะมี 6 กลุ่มสินค้า ดังนี้
1. สินค้าประมง ได้แก่ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ภาษีภายใต้จีเอสพีใหม่อัตราภาษีจะปรับลดลงเหลือ 4.2% จากเดิมที่ถูกเรียกเก็บ 12.5% กุ้งแปรรูปลดลงเหลือ 8% จาก 20% ปลาทูน่ากระป๋องลดลงเหลือ 20% จากเดิม 24% เป็นต้น
2. อาหารปรุงแต่ง และเครื่องดื่ม
3. ผลิตภัณฑ์พลาสติก และยาง
4. รองเท้า
5. เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ในครัวเรือน
6. แก้วและเซรามิก
3. สหพันธ์ทรัพย์สินทางปัญญาสากล(ไอไอพีเอ) ซึ่งก่อตั้งโดย 6 สมาคมที่เกี่ยวข้องกับงานอันมีลิขสิทธิ์ของสหรัฐฯ เช่น กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ สมาคมซอฟต์แวร์สิ่งบันเทิง สมาคมภาพยนตร์แห่งสหรัฐฯ เป็นต้น โดยมีสมาชิกกว่า 1,350 บริษัท ได้ออกแถลงการณ์เสนอให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ(ยูเอสทีอาร์) ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการทบทวนสถานะประเทศคู่ค้าภายใต้กฎหมายการค้ามาตรา 301(special 301) เลื่อนประเทศไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ(PWL) จากปัจจุบันที่อยู่ในบัญชีประเทศที่ถูกจับตามอง(WL) เช่นเดียวกับอีก 14 ประเทศ เช่น เกาหลีใต้ อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จีน เลบานอน บราซิล อาร์เจนตินา เป็นต้น โดยให้เหตุผลว่ายังมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯอยู่มาก
จากสถิติของไอไอพีเอระบุว่า ในปี 2545 อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานอันมีลิขสิทธิ์ทั้งหมดของสหรัฐฯคิดเป็น 12% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) หรือ 1.25 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2545 นั้น ไทยได้ละเมิดผลงานอันมีลิขสิทธิ์และสร้างความเสียหายให้แก่สหรัฐฯ สูงถึง 188.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่คาดว่าในปี 2547 การละเมิดในไทยจะลดลงเหลือ 174.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 7 พันล้านบาท ส่วนความเสียหายต่ออุตสาหกรรมในประเทศสหรัฐฯ จากการละเมิดสิทธิ์ทั่วโลกในปี 2547 รวมทั้งสิ้น 13,356.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ยูเอสทีอาร์จะประกาศผลการทบทวนประจำปีประมาณเดือน มี.ค. ของทุกปี
4. ปัจจัยเสี่ยงจากการแข็งค่าของเงินบาทและราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงส่งผลกระทบต่อ ขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยระบุว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 80% ได้ทำการปรับราคาสินค้าขึ้นจากเดิมอีกเฉลี่ยประมาณ 5-10% ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าจากประเทศจีนและมาเลเซียคู่แข่งสำคัญได้เปรียบในการแข่งขัน เพราะทั้งสองประเทศผูกติดกับค่าเงินดอลลาร์ โดยค่าเงินหยวนของจีนตรึงไว้ที่ 8.28 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ และเงินริงกิตของมาเลเซียตรึงไว้ที่ 3.8 ริงกิตต่อดอลลาร์สหรัฐ จึงไม่ได้รับแรงกดดันจากการอ่อนตัวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งการปรับขึ้นราคาของสินค้าในกลุ่มนี้อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกโดยรวมของไทยในปี 2548 เนื่องจากสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีสัดส่วนการส่งออกสูง โดยในปี 2547 มีมูลค่าประมาณ 33,071 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 34% ของ มูลค่าการส่งออกรวม หากสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ชะลอการขยายตัวอาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการส่งออกปี 2548
นอกจากนี้ กลุ่มสินค้าเกษตรหลายรายการมีแนวโน้มการส่งออกลดลง อาทิ ข้าว เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งอาจส่งผลให้ผลผลิตข้าวในปีนี้ลดลง มันสำปะหลังและยางพารา เป็นผลจากความต้องการของตลาดจีนมีแนวโน้มลดลง
อย่างไรก็ตาม ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคาดว่า สินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ น่าจะขยายตัวได้ประมาณ 10-15%
5. ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จัดทำบทวิเคราะห์ในหัวข้อ “การค้าไทย-ญี่ปุ่นปี 2548 : ส่งออกไทยชะลอตัว” โดยสรุปถึงเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ระบุว่าในปี 2546 เศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็ได้เติบโตขึ้นอย่างชัดเจน โดยมีอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) ร้อยละ 2.4 และในปี 2547 GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 4.0 จากปัจจัยบวกด้านการส่งออก การลงทุน การบริโภคของภาคเอกชน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในด้านที่พักอาศัย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้เริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัวในช่วงท้ายของปี โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเริ่มลดลงในเดือนกันยายน 2547 หลังจากนั้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็เริ่มชะลอตัวลงอย่างชัดเจน และในปี 2548 คาดว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกสินค้าและบริการซึ่งน่าจะขยายตัวได้ลดลงเหลือร้อยละ 2.8 การลงทุนภาคเอกชนซึ่งขยายตัวเพียงร้อยละ 3.4 การลงทุนภาครัฐซึ่งยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องนอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนและรัฐก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2 และ 1.1 เท่านั้น และจากการสำรวจของ Development Bank of Japan ยังพบว่าการลงทุนภาคอุตสาหกรรมของเอกชนในปีงบประมาณ 2548(เมษายน 2548 - มีนาคม 2549) จะลดลงถึงร้อยละ 7.6 และการลงทุนภาคบริการ โดยเฉพาะด้านการขนส่ง ค้าปลีกและโทรคมนาคม ก็คาดว่าจะลดลงเช่นกัน แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่จะลดลงในปี 2548 คงไม่ถึงกับนำเศรษฐกิจญี่ปุ่นไปสู่ภาวะถดถอยเหมือนเมื่อหลายปีก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาได้กระจายไปในวงกว้างหลายสาขาอุตสาหกรรม ครอบคลุมธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กทำให้การจ้างงานยังคงอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ อุปสงค์สินค้าอุตสาหกรรมจากจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็จะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของอุปสงค์ในตลาดโลก
สำหรับการค้าของไทยกับญี่ปุ่นในปี 2548 คาดว่าโครงสร้างทางการค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่นจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ทิศทางการค้าระหว่างสองประเทศยังคงขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจที่คาดว่าจะชะลอตัวลงของญี่ปุ่นและภูมิภาคเอเชียอาจส่งผลให้ปริมาณการค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่นขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากเดิม โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าของไทย เนื่องจากการบริโภคของญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่การนำเข้าของไทยน่าจะยังเพิ่มขึ้นในอัตราสูง เนื่องจากการลงทุนเพื่อขยายการผลิตของภาคเอกชนไทยในปี 2548 จำเป็นต้องนำเข้าสินค้าทุนโดยเฉพาะเครื่องจักรกลและปัจจัยการผลิตจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอีกมาก
ที่มา: http://www.depthai.go.th
-ดท-

แท็ก การส่งออก   GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ