ถอดบทเรียนวิกฤตประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 13, 2006 14:16 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ได จัดสัมมนาวิชาการประจำปี ในหัวข้อ “สู่หนึ่งทศวรรษหลังวิกฤตเศรษฐกิจ : ได้เรียนรู้และปรับปรุงอะไรบ้าง?” ด้านเศรษฐกิจและภาคธุรกิจได้มีการปรับตัวรองรับภาวะสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้เป็นอย่างดี
ในส่วนของการดำเนินเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ถอดบทเรียนว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2540 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในหลายด้าน ทั้งในด้านของการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเสถียรภาพภายในประเทศ ซึ่งภายหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ ประเทศไทยได้มีการปรับตัวในหลายด้านเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และนำไปสู่แนวทางในการพัฒนาประเทศที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยน อาทิ นโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจที่มุ่งรักษาค่าเงินบาท เพื่อสนับสนุนการส่งออก มาเป็นการมุ่งเน้นการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ
นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานสภาทีดีอาร์ไอ ได้กล่าวว่า “แม้ประเทศไทยเกิดวิกฤต เศรษฐกิจมา 10 ปีแล้ว แต่เรื่องการขาดจริยธรรมเป็นปัญหาของสังคมไทยมาก ต่างประเทศวิเคราะห์กันว่า คนไทยมีนิสัยอยู่ 4 อย่าง คือ ขี้เกียจ ขี้โอ่ ขี้โกง และขี้อิจฉา ซึ่งหากข้อวิเคราะห์นี้เป็นจริง ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก และความเจ็บปวดที่ผ่านมาจะสูญเปล่า ไม่ได้ไปสู่การเรียนรู้อย่างยั่งยืน ถ้าเราไม่ได้เรียนรู้ ก็แสดงว่าเราไม่มีสติ และต้องถามว่าเรียนรู้พอหรือยัง เพราะเศรษฐกิจกลับมา 10 ปีแล้ว แต่พฤติกรรมที่เป็นต้นตอของปัญหายังเห็นกันอยู่ โดยเฉพาะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้การดำเนินงานของรัฐบาลที่แล้ว รวมถึงข้าราชการ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ยังไม่เห็นว่าต่างจากช่วงก่อนวิกฤตเลย และคราวนี้จะเป็นวิกฤตทางการเมือง ดังนั้นสิ่งสำคัญคือเราต้องเรียนรู้จากตัวเอง แนวทางแก้ไขควรจะอยู่บนพื้นฐานการมองสังคมไทยว่ามีความหลากหลาย เพื่อให้ปัญหาได้ถูกเยียวยาอย่างถูกต้อง ไม่ใช่ยึดติดอยู่กับรูปแบบ แต่ให้ยึดติดกับสาระและหลักการที่จะสามารถเข้ากับสภาพพื้นฐานของสังคมไทยได้”
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท. ให้ความเห็นว่า การจะทำให้ประเทศเติบโตไปอย่างยั่งยืนก็คือ ต้องใช้เศรษฐกิจพอเพียง สร้างภูมิคุ้มกันก่อนและเดินไปตามภูมิคุ้มกันที่เรามี ซึ่งวิกฤตปี 2540 เราขยายเกินตัวเท่านั้นเอง นี่คือสิ่งที่คิดได้ง่ายที่สุด และการมีภูมิคุ้มกันนั้นหมายถึงการมีโครงสร้างพื้นฐานที่ควรจะมี ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ แต่หมายถึงเรื่องของสังคม การเมือง การศึกษา ที่สามารถที่จะแข่งขันได้ โดยเฉพาะด้านการศึกษานั้นเป็นส่วนที่จะเชื่อมโยงถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงภาพใหญ่มากกว่านั้น โดยเฉพาะเรื่องวินัยการออมของประชาชน ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยกำลังเกิดปัญหาช่องว่างระหว่างการออมและการลงทุน (saving-investment gap) ที่แคบลง ซึ่งแสดงให้เป็นว่าประเทศไทยมีเงินเหลือสำหรับรองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตน้อยลง
นางสาวนวพร เรืองสกุล อดีตผู้บริหาร ธปท.ปัจจุบันเป็นนักเศรษฐศาสตร์อิสระให้ความเห็นว่า พื้นฐานในการพัฒนาประเทศที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงนัก นั่นคือการที่คนไทยไม่ให้เวลากับ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือการตั้งเป้าหมายร่วมกันของความเป็นชาติไทย ซึ่งเป็นพื้นฐานการพัฒนา ทั้งสัมคม เศรษฐกิจ การเมือง ประเด็นที่ 2 การที่ประเทศไทยต้องใช้เวลาในการพัฒนานั่นคือ การสร้างประเทศที่คนในชาติเป็นคนช่างคิด พินิจ พิเคราะห์ และพิจารณา ซึ่งสังคมไทยในปัจจุบันส่วนใหญ่ยังวิพากษ์วิจารณ์ทุกอย่างบนความรู้สึก ไม่ได้ยืนอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง (base on fact) และให้ความสำคัญกับสื่อคือการศึกษาที่สำคัญที่สุด เป็นข้อมูลที่สามารถคิดต่อยอดได้
ขณะที่ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน ควรมองแนวทางการพัฒนาประเทศไปในทิศทางเดียวกัน โดยแนวทางที่ประเทศไทยจะต้องดำเนินต่อไป คือการเร่งส่งเสริมการออมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ด้วยการจัดระบบการเงินให้ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องขององค์กรที่จะเป็นผู้กำกับดูแลต้องมีความชัดเจน การแข่งขันและการกำกับการบริหารความเสี่ยงตามมาตรฐานสากล รวมถึงการส่งเสริมการออมด้วยการเร่งให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ทั่วถึงและสร้างตลาดทุนที่มีมาตรฐานสากลดึงดูดการลงทุนเพื่อออมของประชาชน “ส่วนระบบการแข่งขันทางการค้าต้องพัฒนาต่อ เพื่อไม่ให้อำนาจทางการค้ากระจุกตัว พร้อมกันนั้นต้องเร่งสร้างระบบธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ส่วนของภาครัฐเองก็ต้องมีการออม รวมถึงการลงทุนที่ต้องมีประสิทธิภาพ มีความสมดุล เป็นประโยชน์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมโดยรวม”
ประเด็นวิเคราะห์
ผู้ร่วมสัมมนาต่างให้ความเห็นประเด็นเดียวกัน และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในสังคมต้องยึดมั่นในคุณธรรม ศีลธรรม และจริยธรรม รวมทั้งจะต้องนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาปฏิบัติ โดยเน้นย้ำว่าประเด็นเหล่านี้จะนำมาซึ่งการเจริญเติบโตของประเทศที่มีเสถียรภาพและเป็นภูมิคุ้มกันวิกฤตในอนาคตได้เป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้จะต้องไม่ประมาทเพราะปัจจัยเสี่ยงมีมากมาย และพร้อมที่จะนำไปสู่การเกิดวิกฤติซ้ำ ๆ ได้อีก
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ