สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่2(เมษายน—มิถุนายน)พ.ศ.2549 เศรษฐกิจไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 13, 2006 13:42 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

          จากการประมาณการอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ประชาชาติรายไตรมาสของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2549 ขยายตัวร้อยละ 6.0 ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2548 โดยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2548 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 4.7 และไตรมาสที่ 1 ของปี 2548 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 3.2 ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และหากพิจารณาค่า GDP ที่ปรับตัวดัชนีฤดูกาลในไตรมาสที่ 1 ของปี 2548 ขยายตัวร้อยละ 0.7 ซึ่งต่ำกว่าไตรมาสที่ 4 ของปี 2548 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 
ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2549 ขยายตัวร้อยละ 7.6 ซึ่งเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2548 โดยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2548 สาขาอุตสาหกรรมมีการขยายตัวร้อยละ 5.9 และไตรมาสที่ 1 ของปี 2548 ขยายตัวร้อยละ 3.2 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเบาและอุตสาหกรรมวัตถุดิบขยายตัวสูงขึ้น อุตสาหกรรมสินค้าทุนและเทคโนโลยี ขยายตัวสูงต่อเนื่อง แต่เริ่มชะลอตัวลง อุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวสูงประกอบด้วย อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอและ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าในปี 2549 เศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 4.2 - 4.9 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการส่งออกสินค้าและบริการ เนื่องจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวเต็มที่มากขึ้น และการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และหมวดอาหารยังขยายตัวต่อเนื่อง แต่การนำเข้าชะลอตัว
สำหรับตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2548 โดยจะเห็นว่าตัวเลขอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ และอุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เมื่อพิจารณาตัวเลขการส่งออก มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 14.2 โดยมีสินค้าที่ติดอันดับต้น ๆ ได้แก่ คอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า
ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2548 โดยเพิ่มขึ้นในยอดการนำเข้าสินค้าทุน ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค พบว่า เครื่องชี้วัดที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ได้แก่ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ มูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2549 ตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 แต่การใช้จ่ายครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง ประกอบกับแนวโน้มครึ่งปีหลังยังคงมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่ ราคาน้ำมันที่สูง ภาวะเงินเฟ้อ การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม
จากรายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) ที่จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 161.64 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (165.63) ร้อยละ 2.4 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 (152.54) ร้อยละ 6.0
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ และอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ เป็นต้น
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2549 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.2 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ เป็นต้น
ดัชนีการส่งสินค้า
ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) แสดงทิศทางของระดับการขนส่งสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 158.14 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (157.65) ร้อยละ 0.3 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 (150.38) ร้อยละ 5.2
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตอื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และสินค้าที่เกี่ยวข้อง และ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ได้แก่ อุตสาหกรรม การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมการผลิตอื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น เป็นต้น
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2549 ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ร้อยละ 5.8 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิต หลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ เป็นต้น
ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง
ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง (Finished Goods Inventory Index) แสดงทิศทางหรือระดับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดตลาด ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 170.11 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (166.43) ร้อยละ 2.2 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 (165.65) ร้อยละ 2.7
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตมอลต์ ลิกเคอและมอลต์ อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรม การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน และอุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ เป็นต้น
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2549 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ร้อยละ 7.2 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรม การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน และอุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ เป็นต้น
อัตราการใช้กำลังการผลิต
อัตราการใช้กำลังการผลิตเป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับ การผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตที่ใช้กำลังการผลิตเต็มที่ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 68.17 ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา (68.83) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 (67.20)
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ และอุตสาหกรรมการแปรรูปผลไม้และผัก เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ และอุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2549 อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมการผลิต ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ เป็นต้น
ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจและผู้บริโภค
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แบ่งออกเป็น 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ และดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต (ตารางที่ 2) พบว่า ไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 ทั้ง 3 ดัชนี มีการปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2548 สำหรับปัจจัยที่ทำให้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 ได้แก่ ราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง ผู้บริโภคมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนภาวะอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และสถานการณ์ความไม่สงบ ทางภาคใต้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ยังคงส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 มีค่า 76.7, 75.5 และ 75.2 ตามลำดับในแต่ละเดือน การที่ดัชนีมีค่าต่ำกว่า 100 อย่างต่อเนื่อง แสดงว่าผู้บริโภคยังขาดความมั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการใช้จ่ายของตนเองอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้ เนื่องจากยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในอนาคต
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม ไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 มีค่า 77.2, 76.4 และ 76.3 ตามลำดับในแต่ละเดือน การที่ดัชนีมีค่าต่ำกว่า 100 อย่างต่อเนื่อง แสดงว่าผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวะการจ้างงานโดยรวมของไทย โดยเห็นว่าโอกาสในการหางานทำยังไม่ดีมากนัก ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 มีค่า 93.7, 92.6 และ 91.3 ตามลำดับในแต่ละเดือน การที่ดัชนีมีค่าต่ำกว่า 100 อย่างต่อเนื่อง แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจในรายได้ในอนาคตของตนว่าจะปรับตัวดีขึ้น
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2549 ทั้ง 3 ดัชนีดังกล่าว ปรับตัวลดลงจากปลายปี 2548 และปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2548
จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 3) พบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2548 โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 ดัชนีโดยรวมมีค่าต่ำกว่า 50 แสดงว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจยังไม่ดี ผู้ประกอบการยังคงมองว่า ภาวการณ์ด้านธุรกิจในอนาคตยังมีแนวโน้มไม่ดีขึ้น สำหรับดัชนีที่มีการปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา และไตรมาสเดียวกันของปี 2548 คือ ผลประกอบการ คำสั่งซื้อ การจ้างงาน และต้นทุนการประกอบการ
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2549 ดัชนีโดยรวมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index : TISI)
จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (ตารางที่ 4) พบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 โดยค่าดัชนีมีค่าต่ำกว่าระดับ 100 แสดงว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อ ภาวการณ์อุตสาหกรรมในระดับที่ไม่ค่อยดีนัก เมื่อพิจารณาปัจจัยที่นำมาคำนวณค่าดัชนีความเชื่อมั่นในเดือน มิถุนายน 2549 ค่าดัชนีที่ได้ส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่เกินกว่า 100 ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นยอดคำสั่งซื้อโดยรวมในปัจจุบัน ดัชนีความเชื่อมั่นยอดขายโดยรวมในปัจจุบัน ดัชนีความเชื่อมั่นปริมาณการผลิตในอนาคต เป็นต้น จะมีเพียงดัชนีความเชื่อมั่นด้านต้นทุนการประกอบการ และดัชนีความเชื่อมั่นผลประกอบการในปัจจุบันที่มีค่าต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อต้นทุนการประกอบการอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก เนื่องจากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับตัวสูงขึ้น ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2549 ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปี 2548
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Index : LEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 3 - 4 เดือนข้างหน้า ปรากฏว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายน 2549 อยู่ที่ระดับ 126.4 ทรงตัวโดยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.3 จากเดือนพฤษภาคม 2549 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 126.1 โดยเครื่องชี้ที่ปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยว และราคาน้ำมันดิบที่แพงขึ้น
สำหรับดัชนีในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 มีค่าเฉลี่ย 126.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่า 125.5
ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ
ค่าประมาณการเบื้องต้นของดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index : CEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนมิถุนายน 2549 อยู่ที่ระดับ 126.6 ทรงตัวจากเดือนพฤษภาคม 2549 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 126.6 เช่นกัน โดยเครื่องชี้ที่ปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนเครื่องชี้ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ มูลค่าการนำเข้าสินค้า และประมาณการจำหน่ายรถยนต์รวม
สำหรับดัชนีในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 มีค่าเฉลี่ย 125.9 ทรงตัวโดยปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา ที่มีค่า 125.8
การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Expenditure on Private Consumption) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2548 (ตารางที่ 5)
ทั้งนี้ การอุปโคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา และไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ตามเครื่องชี้สำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ การใช้ไฟฟ้าของครัวเรือน การใช้ไฟฟ้าของกิจการขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ รวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ มูลค่านำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2549 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548
การลงทุนภาคเอกชน
การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม (ตารางที่ 6) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 พิจารณาจากปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่ ยอดการขายซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในประเทศ และยอดการนำเข้าสินค้าทุน พบว่า ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548
หากแยกตามรายการสินค้าพบว่า ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2548
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2548
ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2548
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2549 การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548
ภาวะราคาสินค้า
จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค (ตารางที่ 7) และดัชนีราคาผู้ผลิต (ตารางที่ 8) โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พบว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ตามราคาผักและผลไม้ ข้าว เนื้อสัตว์ และราคาสินค้าในหมวดอื่น ๆ ที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่ม ตามการเพิ่มขึ้นของราคา ค่าขนส่ง และการศึกษา
ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2548 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2549 ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2548
แรงงานในภาคอุตสาหกรรม
จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชาชนในไตรมาสที่สองของปี 2549 (ตัวเลขเดือนมิถุนายน) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 36.39 ล้านคน เป็นผู้ที่มีงานทำ 35.76 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 98.27 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และมีผู้ว่างงาน 0.56 ล้านคน (คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.5)
สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่สองปี 2549 มีจำนวน 5.42 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 15.16 ของผู้มีงานทำทั้งหมด
ทางด้านจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ณ เดือนกรกฎาคมปี 2549 มีจำนวน ผู้ประกันตนทั้งสิ้น 8,456,413 คน และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้รับแจ้งจำนวนลูกจ้าง ที่ถูกเลิกจ้างในระยะเวลา 6 เดือนแรกของปี 2549 ( ข้อมูล ณ วันที่ 25 มิถุนายน 2549 )มีจำนวน 66,015 คน โดยเป็นการเลิกจ้างในอุตสาหกรรมการผลิตจำนวน 33,763 คน อุตสาหกรรมที่มีการเลิกจ้างมากที่สุด 4 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือทางวิทยุ โทรทัศน์และการสื่อสารมีจำนวน 4,984 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มจำนวน 3,939 คน อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางและผลิตภัณฑ์พลาสติก จำนวน 3,838 คน และ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ รถพ่วง และรถกึ่งรถพ่วง จำนวน 2,536 คน
ส่วนสถานประกอบการที่เลิกกิจการมีจำนวน 7,813 แห่ง ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีการเลิกกิจการมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ รถพ่วง และรถกึ่งรถพ่วง 373 แห่ง รองลงมาคืออุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม 301 แห่ง อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโลหะประดิษฐ์ ยกเว้นเครื่องจักรและอุปกรณ์ จำนวน 175 แห่ง
การค้าต่างประเทศ
สถานการณ์การค้าในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 มีทิศทางเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2549 โดยในไตรมาสที่ 2 นี้การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 63,619.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 30,997.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 32,622.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.86 และการนำเข้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.87 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16.09 และมูลค่าการนำเข้าชะลอลงเหลือร้อยละ 3.34 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 ดุลการค้าขาดดุล 1,625.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
การส่งออกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือน พบว่ามีมูลค่าการเกินกว่า 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทุกเดือน โดยเฉพาะในเดือนมิ.ย. 2549 มีมูลค่าการส่งออกถึง 10,956.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
โครงสร้างการส่งออก
การส่งออกใน 6 เดือนแรกของปี 2549 ประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรม 47,095.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 77.8) สินค้าเกษตรกรรม 5,929.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 9.8) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 3,612.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 6.0) สินค้าแร่และเชื้อเพลิง 3,054.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 5.0) และสินค้าอื่นๆ 866.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 1.4)
เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว มูลค่าการส่งออกของสินค้าบางหมวดมีอัตราการขยายตัวที่ลดลง โดยสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 14.72 อุตสาหกรรมเกษตรลดลงร้อยละ 5.2 สินค้าแร่ธาตุและเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 81.1 และสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.0
สินค้าส่งออกที่สำคัญ 10 รายการหลักในช่วง 6 เดือนแรก ของปี 2549 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกสูงสุดคือ 6,875.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 4,493.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แผงวงจรไฟฟ้า 3,315.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ยางพารา 2,437.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เม็ดพลาสติก 2,171.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัญมณีและเครื่องประดับ 1,807.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ 1,630.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เสื้อผ้าสำเร็จรูป 1,547.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เคมีภัณฑ์ 1,516.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ น้ำมันสำเร็จรูป 1,462.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออก 10 รายการหลักรวมกันเท่ากับ 27,256.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 87.93 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
ตลาดส่งออก
ในไตรมาส 2 ปี 2549 การส่งออกไปยังตลาดหลัก ซึ่งได้แก่ อาเซียน สหรัฐอเมริกา สหภาพ
ยุโรป ญี่ปุ่น มีสัดส่วนการส่งออกรวมคิดเป็นร้อยละ 62.3 ของการส่งออกของไทยไปยังทั่วโลก โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่า ในตลาดอาเซียนลดลงร้อยละ 11.8 ตลาดญี่ปุ่นร้อยละ 4.9 ตลาดสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 และตลาดสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1
โครงสร้างการนำเข้า
การนำเข้าในระยะครึ่งปีแรก ของปี 2549 ประกอบด้วย สินค้าวัตถุดิบมีมูลค่าสูงสุด 25,525.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ -1.4) รองลงมาเป็นนำเข้าสินค้าทุน 17,579.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 6.4) น้ำมันเชื้อเพลิง 12,168.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 16.7) สินค้าอุปโภคบริโภค 4,366.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 15.6) สินค้าหมวดยานพาหนะ 1,904.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ -7.7) และสินค้าอื่นๆ 1,042.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 6.6)
เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่าน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 13.31 สินค้าทุนนำเข้าลดลงร้อยละ 5.49 สินค้าวัตถุดิบลดลงร้อยละ 1.64 สินค้าอุปโภคบริโภคลดลง ร้อยละ 14.36 และสินค้าหมวดยานพาหนะลดลงร้อยละ 7.72 สินค้าหมวดอื่นๆเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.92
แหล่งนำเข้า
การนำเข้าจากแหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น, อาเซียน, สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2549 มีสัดส่วนนำเข้ารวมร้อยละ 54.07 และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน ของปี 2548 พบว่าการนำเข้าจากกลุ่มประเทศอาเซียน ลดลงร้อยละ 4.7 สหภาพยุโรป ร้อยละ 7.1 ญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 4.3 , สหรัฐอเมริกาลดลงร้อยละ 1.4
แนวโน้มการส่งออก
ในการหารือกับผู้ส่งออกสินค้าสำคัญ กระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะการขยายตัวของเศรษฐกิจหลักของโลก เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย ทั้งนี้ โออีซีดี ได้คาดการณ์การค้าโลกในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2549 จะขยายตัวในอัตราร้อยละ 8.5 และ 8.9 ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มการขยายตัวที่ดีในตลาดโลกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมยานยนต์และส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยมีสัดส่วนการส่งออกรวมประมาณร้อยละ 30 จึงคาดการณ์ว่า การส่งออกโดยรวมในปี 2549 จะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 15-17 หรือมีมูลค่าการส่งออกกว่า 130,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะมีปัจจัยเสี่ยง 8 ปัจจัยได้แก่ การชะลอการสั่งซื้อเพื่อรอดูสถานการณ์และต่อรองราคามากขึ้นของต่างประเทศ ราคาน้ำมัน ราคาวัตถุดิบ (เช่นทองแดง สังกะสี นิกเกิล แพลทินัม ) ค่าสาธารณูปโภค ค่าระวางเรือและค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้น ค่าเงินบาทที่ผันผวน ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการปรับสูงขึ้นของค่าแรงงานภายในประเทศ ทั้งนี้คาดว่าในครึ่งปีหลังมูลค่าการส่งออกจะได้ไม่ต่ำกว่า 69,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเฉลี่ยต่อเดือนเกิน 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็จะทำให้ตัวเลขการส่งออกเป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ ขณะที่ ตัวเลขการขาดดุลการค้าทั้งปีจะเป็นไปตามเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ 5,000-6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การลงทุนจากต่างประเทศ
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนเมษายนและพฤษภาคม มีมูลค่ารวม 16,357.32 ล้านบาท ลดลงร้อยละ —40.17 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนเมษายนมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 10,574.52 ล้านบาท และเดือนพฤษภาคม 5,782.80 ล้านบาท
ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 สาขาอสังหาริมทรัพย์เป็นสาขาที่มีการลงทุนมากที่สุด คือ 9,543.87 ล้านบาท สำหรับสาขาอุตสาหกรรมมีการลงทุนสุทธิ 6,640.02 ล้านบาท โดยหมวดโลหะและอโลหะมีการลงทุนสุทธิมากที่สุด เป็นเงินลงทุน 2,634.95 ล้านบาท รองลงมาคือหมวดอื่นๆ 2,150.31 ล้านบาท และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า 795.09 ล้านบาท
ประเทศที่เข้ามาลงทุนสุทธิในประเทศไทยมากที่สุดในเดือนเมษายนและพฤษภาคม คือ ประเทศญี่ปุ่นมีเงินลงทุนสุทธิ 6,636.59 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศสหราชอาณาจักรและฮ่องกง มีเงินลงทุนสุทธิ 2,949.23 ล้านบาท และ 2,549.22 ล้านบาท ตามลำดับ
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ