การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 38 และการประชุม AEM กับประเทศคู่เจรจา วันที่ 22-25 สิงหาคม 2549 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 16, 2006 13:14 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 38 และการประชุม AEM กับประเทศคู่เจรจา ระหว่างวันที่ 22-25 สิงหาคม 2549 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย  
ประเด็นสำคัญที่จะหารือในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่
1. การเร่งรัดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (AEC)
1.1 รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะหารือเกี่ยวกับการเร่งรัดการดำเนินงานไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จากเดิมปี ค.ศ. 2020 เป็นปีค.ศ. 2015 ซึ่งคาดว่า มีความเป็นไปได้ เนื่องจากการดำเนินงานในด้านการลด/เลิกภาษีศุลกากรการค้าสินค้ามีความคืบหน้าไปมาก ในด้านการค้าบริการก็ได้กำหนดเป้าหมายการเปิดเสรีไว้ชัดเจน คือ ภายในปีค.ศ. 2015 แต่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการยกเลิกอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) การอำนวยความสะดวกทางการค้า (trade facilitation) การประสานนโยบายการค้าและการลงทุน และการประสานกฎระเบียบต่างๆ ตลอดจนการเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่สำนักเลขาธิการอาเซียนเพื่อให้รองรับบทบาทและภารกิจที่เพิ่มขึ้น
1.2 ในการประชุมครั้งนี้ มีเรื่องสำคัญๆที่รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะพิจารณาดังนี้
1) ให้การรับรองแผนงานสำคัญเพื่อเร่งรัดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน คือ แผนงานเพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Work Programme to Eliminate NTBs) โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะหารือเป้าหมายและกำหนดกรอบเวลาเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป
2) ให้การรับรอง (endose) จำนวนสินค้าที่จะเร่งลดภาษีเพิ่มเติมของการรวมกลุ่ม 11 สาขาสำคัญในระยะที่ 2 (Phase II) ทั้งสิ้น 242 รายการจาก 3 สาขาคือเกษตร อิเล็กทรอนิกส์ และสุขภาพ (เดิมมีจำนวน 4,273 รายการ) โดยไทยเสนอเพิ่มสินค้ามันสำปะหลังใน Phase II ด้วย
3) มีกำหนดลงนามในพิธีสาร เพื่อดำเนินการ Roadmaps 11 สาขาสำคัญใน Phase II และพิธีสารการรวมกลุ่มสาขาโลจิสติกส์ (เป็นสาขาที่ 12) ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 12 ในเดือนธันวาคม 2549 ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์
1.3 รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะได้ร่วมหารือกับกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ (Eminent Person Group: EPG) ที่ได้รับมอบหมายจากผู้นำอาเซียนให้พิจารณาในเรื่องกฎบัตรอาเซียน ทิศทางการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนในอนาคต และการนำรูปแบบการตัดสินใจ เพื่อกำหนดนโยบายเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญๆ ของอาเซียน รวมถึงการปรับปรุงกลไกด้านสถาบันเพื่อรองรับการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
2. ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะได้หารือร่วมกับรัฐมนตรีการค้าของประเทศคู่เจรจาต่างๆ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ประเทศ+3 อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา โดยในส่วนของการพบปะกับผู้แทนการค้าของสหรัฐฯในครั้งนี้ คาดว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะสรุปการหารือกับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ในกรอบความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนอาเซียน-สหรัฐฯ (ASEAN-US Trade and Investment Framework Arrangement-TIFA) ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจร่วมกันที่จะเป็นประโยชน์ต่ออาเซียน นอกจากนี้ ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับประเทศ+3 (จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี) ที่ประชุมจะรับทราบรายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก (East Asia FTA) โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญฯที่ผู้นำอาเซียน+3 ได้เห็นชอบจัดตั้งขึ้น ก่อนที่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญฯจะนำเสนอผู้นำอาเซียน+3ในปลายปีนี้
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ