สภาวะอากาศ
ในระยะครึ่งแรกของเดือนเมษายนหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนจะปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับจะมีลมใต้พัดปกคลุมอ่าวไทยและประเทศไทย ทำให้มีอากาศร้อนอบอ้าว สำหรับบางพื้นที่จะมีอุณหภูมิสูงสุด 40-41 ซ. โดยเฉพาะในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง และจะมีฝนเป็นช่วงๆ ทำให้อากาศไม่ร้อนมาก อุณหภูมิเฉลี่ยจะต่ำกว่าค่าปกติ และปริมาณฝนรวมจะสูงกว่าค่าปกติ สำหรับภาคใต้จะมีฝนเป็นแห่งๆ
ข้อควรระวัง
ในระยะครึ่งแรกของเดือนนี้มีโอกาสเกิดพายุฤดูร้อนสูง ซึ่งมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง พายุ ลมแรง และลูกเห็บตกในบางพื้นที่ อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือน และเรือกสวนไร่นาได้ และคาดว่าปริมาณฝนจะมากกว่าค่าปกติ อย่างไรก็ดี บริเวณที่ขาดแคลนน้ำในช่วงที่ผ่านมาหรือพื้นที่ซึ่งเคยแล้งซ้ำซาก ปริมาณฝน ที่ตกอาจจะไม่เพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภค รวมทั้งการใช้น้ำทางเกษตรกรรม ประชาชนจึงควรวางแผนการใช้น้ำ ให้ได้ประโยชน์สูงสุด และในบางช่วงอากาศจะแห้งมาก อาจจะทำให้เกิดอัคคีภัยและไฟป่าได้ง่าย จึงขอให้ระมัดระวังและเตรียมการป้องกันไว้ด้วย อนึ่ง บริเวณประเทศไทยตอนบนอาจจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกในบางพื้นที่ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือนและเรือกสวนไร่นาได้ ประชาชนจึงควรระวังอันตรายและเตรียมป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งควรติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาต่อไปด้วย
สภาวะอากาศที่มีผลกระทบต่อการเกษตร
ไม้ผล สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะออกผล ชาวสวนควรผูกโยงและค้ำยันกิ่งและลำต้นให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการฉีกหักและโค่นล้ม ขณะลมพัดแรง
สัตว์เลี้ยง เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่อาจเกิดในช่วงหน้าร้อน รวมทั้งควรหมั่นสังเกตหากพบสัตว์ป่วยควรแยกออกจากกลุ่มและรีบรักษาเพื่อป้องกันเชื้อโรคติดต่อไปยังตัวอื่นๆ
พืชไร่ สำหรับในบางช่วงอาจมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง อาจทำความเสียหายต่อผลผลิตการเกษตรที่ตากไว้กลางแจ้ง นอกจากนี้ควรระวังการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรต่างๆด้วย
คำเตือน
เนื่องจากในระยะนี้บางช่วงอาจมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ดังนั้นจึงควร ระวังอันตรายและป้องกัน ความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาสูงๆ ขณะมีลมพัดแรง สำหรับพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทาน หากเกษตรกรต้องการปลูกพืชก็ควรเลือกพืชที่อายุการเพาะ ปลูกสั้นและทนแล้ง
กลุ่มอุตุนิยมวิทยาเกษตร สำนักพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา โทร 02-3992322
-สส-