รายงานดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ประจำเดือน มี.ค.49

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 3, 2006 17:08 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือน มีนาคม 2549
กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม 2549 โดยสรุป
จากการสำรวจราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 88 รายการ ครอบคลุมหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก กระเบื้อง วัสดุฉาบผิว สุขภัณฑ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา และวัสดุก่อสร้างอื่นๆ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ได้ผลดังนี้
1 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม 2549 ในปี 2543 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเท่ากับ 100 และเดือนมีนาคม 2549 เท่ากับ 125.9 สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2549 เท่ากับ 122.6
2 การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม 2549 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนกุมภาพันธ์ 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7
2.2 เดือนมีนาคม 2548 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3
2.3 ไตรมาสแรกของปี (มกราคม - มีนาคม 2549 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548) ลดลงร้อยละ 1.3
3 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม 2549 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 สาเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ (หิน ทราย อลูมิเนียมแผ่นเรียบและยางมะตอย) หมวดกระเบื้องและหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ร้อยละ 5.9 , 3.0 , 2.1 , 2.0 และ 1.1 ตามลำดับ การปรับราคาเพิ่มขึ้นของสินค้าหลายหมวดในเดือนนี้เป็นผลจากต้นทุนการผลิต (วัตถุดิบนำเข้าและราคาน้ำมัน) สูงขึ้น
4 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม 2549 เทียบกับเดือนมีนาคม 2548 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน สาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของเกือบทุกหมวดยกเว้นหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ที่สำคัญคือหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ร้อยละ 11.9 หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (บานหน้าต่าง วงกบประตู วงกบหน้าต่างและไม้ปาร์เก้) ร้อยละ 6.6 และหมวดสุขภัณฑ์ (อ่างล้างหน้าเซรามิก โถส้วมราดน้ำ และที่ปัสสาวะเซรามิก) ร้อยละ 6.2
5 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างไตรมาสแรกของปี 2549 (มกราคม -มีนาคม) เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 ลดลงร้อยละ 1.3 สาเหตุมาจากการลดลงของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (เหล็กตัวซี เหล็กแผ่นเรียบดำ ท่อเหล็กกลวงสี่เหลี่ยมจัตุรัสและเหล็กฉาก) ร้อยละ 12.7 ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2548 ราคาเหล็กอยู่ในระดับสูง
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ