10 สมาคมส่งสัญญาณ เร่งรัฐบาลรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทด่วน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 21, 2006 16:47 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          จากกรณีเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปถึง 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ในวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ 31 ธันวาคม 2548 หนึ่งเหรียญสหรัฐต่อ 36.50 บาทแล้ว เท่ากับเงินบาทมีค่าแข็งขึ้นถึง 12% ในขณะที่การแข็งค่าของเงินสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน เงินแข็งค่าขึ้นเพียง 3-6% เท่านั้น ได้ส่งผลกระทบทันทีต่อการส่งออกสินค้าไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรที่ใช้วัตถุดิบหลักภายในทำให้เกิดกระแสการรวมตัวของ 10 สมาคมการค้าได้แก่ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย
สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย สมาคมกุ้งไทย สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย และสมาคมอุตสาหกรรมเส้นใยสังเคราะห์ ซึ่งนำโดยนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย โดยทั้ง 10 สมาคมมียอดขายรวมกันมากกว่า 680,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อสะท้อนปัญหาไปถึงรัฐบาลให้ทราบว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกกำลังอยู่ในภาวะย่ำแย่จากเงินบาทที่ปรับค่าแข็งขึ้น จนไม่อยู่ในวิสัยที่จะแข่งขันในตลาดโลกได้
โดย 10 สมาคมการค้า ได้ทำหนังสือสะท้อนปัญหาและความเดือดร้อนจากค่าเงินบาทไปยังรัฐบาล เพื่อวิงวอนให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องออกมาตรการแก้ปัญหาค่าบาทแข็งตัวอย่างเร่งด่วน ด้วยข้อเสนอแนะ 4 ประการ คือ
1. ขอให้หาความสมดุลของอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมกับสินค้าทุนที่ส่งออก ไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งเกินกว่าประเทศคู่แข่ง 1-2 %
2. ขอให้ ธปท. มีมาตรการทางด้านการเงินออกมารองรับเพราะปัจจุบันมีแต่การออกตั๋วบี/อี3
3. ขอให้ ธปท.ผ่อนคลายมาตรการทางการเงินด้วยการขยายเวลาการถือครองเงินดอลลาร์ให้มากกว่า 7 วัน
4. หากรัฐบาลและ ธปท.ใช้มาตรการอื่นใดแล้วยังไม่ได้ผล ขอให้รัฐบาลหามาตรการอุดหนุนช่วยเหลือผู้ส่งออกทางด้านอื่นก็ได้เช่น มาตรการภาษี หรือลดค่าไฟฟ้า และขออย่าให้ข่าวเชิงชี้นำว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าไปถึงระดับเท่าใด เพราะสินค้าส่วนใหญ่เป็นการขายล่วงหน้า
ประเด็นวิเคราะห์
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกสินค้าไทย และหากค่าเงินบาทยังแข็งตัวต่อเนื่อง ไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในด้านราคาและจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงไปถึงเกษตรกร/ผู้ใช้แรงงาน และการหยุดกิจการในที่สุด จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องเร่งหามาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ