สรุปประเด็นสำคัญ
ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนมีนาคม 2549
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม = 177.65 เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2549 (160.99) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (166.43)
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ได้แก่ การผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ การผลิตยานยนต์ การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน การผลิตเครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไปอื่นๆ การผลิตมอลต์ลิกเคอและมอลต์
- อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ย = 72.38 เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2549 (66.56) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (71.56)
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2549
- อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าการผลิตและการส่งออกจะเริ่มชะลอตัวจากปริมาณคำสั่งซื้อ สินค้าของลูกค้าที่เริ่มปรับตัวกับระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกที่ทรงตัว รวมถึงราคาน้ำมันยังทะยานขึ้นต่อเนื่อง และความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ค่าเงินของประเทศในเอเชียแข็งค่าขึ้น ประกอบกับสหภาพยุโรปยังกังวลกับข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกที่อาจส่งผลต่อการขยายตลาดส่งออกโดยเฉพาะสินค้าเนื้อสัตว์ที่ปลอดโรคจากประเทศไทย
- ภาวะการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมสิ่งทอและ เสื้อผ้าสำเร็จรูปในเดือนเมษายน จะปรับตัวลดลงจากเดือนมีนาคม ซึ่ง เป็นไปตามกลไกการตลาด เนื่องจากมีเทศกาลวันหยุดต่อเนื่อง สำหรับเดือนพฤษภาคม คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายมีแนวโน้มขยายตัวไม่มากนัก โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศเนื่องจากผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น การระงับการเจรจาเขตการค้าไทย-สหรัฐฯ และไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลกระทบจากการเมือง และการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูป
- สถานการณ์เหล็กในเดือน เม.ย. 2549 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยการผลิตเหล็กทรงยาวยังทรงตัว เนื่องจากการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นผลมาจากโครงการเมกะโปรเจ็คส์ของภาครัฐที่ยังไม่ดำเนินการ ประกอบกับธุรกิจก่อสร้างของภาคเอกชนที่ยังทรงตัวอยู่จากการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยและราคาน้ำมัน ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง ทำให้ชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย สำหรับเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น
- ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ในเดือนเมษายน 2549 มีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากในเดือนเมษายนมีวันหยุดนักขัตฤกษ์หลายวัน จึงมีการเตรียมการผลิต และส่งออก ไว้ล่วงหน้าตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้ว
- อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในเดือนเมษายน 2549 คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศจะลดลงเล็กน้อยเนื่องจากมีช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ สำหรับในเดือนพฤษภาคม 2549 การผลิตและการจำหน่ายในประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูกาลก่อสร้าง ในส่วนของการส่งออกคาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการวางแผนขยายการส่งออกเพิ่มมากขึ้น
- ภาวะการผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนเมษายน 2549 ต้องเผชิญกับปัจจัยลบหลายอย่าง อย่างไรก็ตามการจำหน่ายในประเทศคาดว่าจะยังคงได้รับแรงหนุนจากสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับขายในฤดูร้อน ส่วนของการส่งออกเดือนเมษายนคาดว่าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจะส่งออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดใหม่ๆของไทย เช่น อินเดีย อเมริกาใต้ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ความต้องการสินค้า Consumer Electronic ของโลกยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโทรศัพท์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์
สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม
ก.พ. 49 = 160.99
มี.ค. 49 = 177.65
โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนี เพิ่มขึ้น ได้แก่
- การผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ
- การผลิตยานยนต์
- การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน
- อัตราการใช้กำลังการผลิต
ก.พ. 49 = 66.56
มี.ค. 49 = 72.38
โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่
- การผลิตยานยนต์
- การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน
- การจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอรวมถึงการทอสิ่งทอ
1.อุตสาหกรรมอาหาร
ภาวะการผลิตและการส่งออกปรับตัวดีขึ้น
ตามทิศทางและโอกาสทางการค้า การจำหน่ายในประเทศมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น สำหรับการคาดการณ์ในเดือนหน้าการผลิตและการส่งออกอาจจะชะลอตัวจากปัจจัยราคาน้ำมัน และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง
1. การผลิต
ภาวะการผลิตโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 14.9 และ 8.6 โดยสินค้าที่ขยายตัวด้านการผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่แช่เย็นแช่แข็ง ร้อยละ 5.3 ปลาทูน่ากระป๋อง ร้อยละ 1.5 สับปะรดกระป๋องร้อยละ 27.1 และแป้งมันสำปะหลังร้อยละ 52.1 ส่วน กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งผลิตลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 11.1 เป็นผลจากปริมาณวัตถุดิบมีจำนวนน้อย เนื่องจากเป็นช่วงการเพาะเลี้ยง สำหรับการผลิตเพื่อใช้ในประเทศ อาหารสุกร มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 ส่วน น้ำตาลทรายผลิตได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 257.3 เนื่องจากภัยแล้งส่งผลให้อ้อยเลื่อนเวลาตัดเข้าโรงงาน ทำให้ปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้นในช่วงปลายฤดูหีบมากกว่าช่วงต้นฤดู ประกอบกับการประกาศปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน ทำให้โรงงานเร่งผลิตน้ำตาลเพื่อรองรับความต้องการของตลาด
2. การตลาด
1) ตลาดในประเทศ มูลค่าการบริโภคสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนและปีก่อนร้อยละ 9.3 และ 2.1 เป็นผลจากราคาสินค้าอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ที่เป็นต้นทุนหลักในการขนส่งสินค้า
2) ตลาดต่างประเทศ ภาวะการส่งออกโดยรวม มีปริมาณและ
มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 และ 23.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยสินค้าที่
ส่งออกหลัก ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1 และ 24.1 สับปะรดกระป๋อง ร้อยละ 42.7 และ 35.6 ไก่แปรรูป ร้อยละ 1.7 และ 6.9 และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ร้อยละ 39.9 และ 40.6 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการคาดการณ์ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นของประเทศคู่ค้า และข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกในทวีปอาฟริกาและยุโรปตะวันออก สำหรับน้ำตาลทราย ความต้องการในตลาดโลกปรับตัวลดลง จากราคาที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณและมูลค่าการส่งออกของไทยลดลงมากถึงร้อยละ 52.9 และ 38.3
3. แนวโน้ม
คาดว่าการผลิตและการส่งออกจะเริ่มชะลอตัวจากปริมาณคำสั่งซื้อ สินค้าของลูกค้าที่เริ่มปรับตัวกับระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกที่ทรงตัว รวมถึงราคาน้ำมันยังทะยานขึ้นต่อเนื่อง และความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ค่าเงินของประเทศในเอเชียแข็งค่าขึ้น ประกอบกับสหภาพยุโรปยังกังวลกับข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกที่อาจส่งผลต่อการขยายตลาดส่งออกโดยเฉพาะสินค้าเนื้อสัตว์ที่ปลอดโรคจากประเทศไทย
2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
“..เดือนพฤษภาคม คาดว่าการผลิตและ
การจำหน่ายจะมีแนวโน้มขยายตัวไม่มากนัก โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศเนื่องจากผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น การระงับการเจรจาเขตการค้า..”
1. การผลิตและการจำหน่าย
ภาวะการผลิตเมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตเส้นใยสิ่งทอฯเดือนมีนาคม 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เช่นเดียวกันกับการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 แต่การผลิตผ้าผืนปรับตัวลดลงร้อยละ 2.1 ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการจำหน่าย ประกอบกับมีการนำเข้าผ้าเพิ่มขึ้น
2. การส่งออกและตลาดส่งออก
มูลค่าการส่งออกสิ่งทอโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันกับปีก่อนร้อยละ 13.6 ผลิตภัณฑ์สำคัญที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องยกทรงรัดทรงและส่วนประกอบ ผ้าผืน เคหะสิ่งทอ เส้นใยประดิษฐ์ ผ้าปักและผ้าลูกไม้ โดยมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.9, 20.0, 9.3, 17.9, 14.1 และ 18.5 ตามลำดับ
ตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อาเซียนและญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.3 , 19.5, 10.9 และ 6.0 ตามลำดับ
3. การนำเข้า
การนำเข้าหมวดสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปโดยรวม ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.3 โดยเฉพาะเส้นใยใช้ในการทอ นำเข้าลดลงร้อยละ 22.3 ตลาดนำเข้าหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอินเดีย ด้ายทอผ้าฯ นำเข้าลดลงร้อยละ 17.0 ตลาดนำเข้าหลักคือจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น วัตถุทออื่นๆ นำเข้าลดลงร้อยละ 2.1 ตลาดนำเข้าหลักคือญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์
เครื่องจักรสิ่งทอ นำเข้าเดือนมีนาคม 2549 ลดลงร้อยละ 25.8 ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากญี่ปุ่น เยอรมนี และไต้หวัน
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นได้แก่ผ้าผืน นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 เสื้อผ้าสำเร็จรูป นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.2 ตลาดนำเข้าคือจีน ฮ่องกง ไต้หวันและอิตาลี
4. แนวโน้ม
ภาวะการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมสิ่งทอและ เสื้อผ้าสำเร็จรูปในเดือนเมษายน จะปรับตัวลดลงจากเดือนมีนาคม ซึ่ง เป็นไปตามกลไกการตลาด เนื่องจากมีเทศกาลวันหยุดต่อเนื่อง สำหรับเดือนพฤษภาคม คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายมีแนวโน้มขยายตัวไม่มากนัก โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศเนื่องจากผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น การระงับการเจรจาเขตการค้าไทย-สหรัฐฯ และไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลกระทบจากการเมือง และการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูป
3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
“ประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตที่สำคัญของโลกมีการผลิตที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในเดือนมี.ค. โดยเหล็กดิบขยายตัว ร้อยละ 20 เหล็กสำเร็จรูปขยายตัว ร้อยละ 21.8 (เหล็กทรงแบน ขยายตัว ร้อยละ 29.5 และเหล็กทรงยาว ขยายตัว ร้อยละ 17) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่การบริโภคในประเทศจีน ขยายตัวขึ้นเพียงร้อยละ 6 เท่านั้น”
1.การผลิต
ภาวะการผลิตเหล็กในช่วงเดือน มี.ค. 49 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 155.54 ขยายตัวขึ้น ร้อยละ 26.71 ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ชนิดรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 63.76 และผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนซึ่งการผลิตขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปริมาณสินค้าคงคลังที่มีอยู่เริ่มลดลง ประกอบกับความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า บรรจุภัณฑ์ (อาหารกระป๋อง) ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จึงมีผลทำให้ผู้ผลิตในกลุ่มเหล็กทรงแบนขยายการผลิตเพิ่มมากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในเดือนนี้ คือ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 57.40 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น ร้อยละ 47.79 สำหรับผลิตภัณฑ์ที่การผลิตชะลอตัวลง คือ เหล็กเส้น และ เหล็กลวด โดยผลิตลดลง ร้อยละ 14.46 และ 5.28 ตามลำดับ เนื่องจากภาวะธุรกิจก่อสร้างที่ชะลอตัวทั้งโครงการเมกะโปรเจ็คส์ของภาครัฐซึ่งยังไม่เกิดขึ้นและการก่อสร้างของภาคเอกชนที่ยังคงทรงตัวอยู่ ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ภาวะการผลิตชะลอตัวลง ร้อยละ 8.98 โดยผลิตภัณฑ์ที่ลดลง ได้แก่ เหล็กลวด ลดลงร้อยละ 40.05 เหล็กเส้น ลดลง ร้อยละ 26.40
2.ราคาเหล็ก
สำหรับการเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ในช่วงเดือนเมษายน 2549 เทียบกับเดือนก่อน ทิศทางการปรับตัวของราคาเหล็กส่วนใหญ่จะมีแนวโน้มสูงขึ้น โดย เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้น จาก 435 เป็น 461 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.98 เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้น จาก 515 เป็น 543 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.44 เหล็กเส้น เพิ่มขึ้น จาก 390 เป็น 398 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.05 และเหล็กแท่งเล็ก เพิ่มขึ้น จาก 338 เป็น 340 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.44 ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่มีราคาทรงตัว ได้แก่ เหล็กแท่งแบน ราคาอยู่ที่ 298 เหรียญสหรัฐต่อตัน
3. แนวโน้ม
สถานการณ์เหล็กในเดือน เม.ย. 2549 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยการผลิตเหล็กทรงยาวยังทรงตัว เนื่องจากการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นผลมาจากโครงการเมกะโปรเจ็คส์ของภาครัฐที่ยังไม่ดำเนินการ ประกอบกับธุรกิจก่อสร้างของภาคเอกชนที่ยังทรงตัวอยู่จากการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยและราคาน้ำมัน ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง ทำให้ชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย สำหรับเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น
4. อุตสาหกรรมยานยนต์
รถยนต์
อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมีนาคม 2549 ขยายตัวจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เนื่องจาก ในเดือนมีนาคม เป็นช่วงฤดูการจำหน่าย ซึ่งในปีนี้มีการจัดงาน Bangkok International Motor Show ครั้งที่ 27 ระหว่างวันที่ 24 มีนาคม — 2 เมษายน 2549 ส่งผลให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมีนาคมนี้ มีปริมาณการจำหน่ายขยายตัว ประกอบกับ ในเดือนเมษายนมีวันหยุดนักขัตฤกษ์หลายวัน จึงมีการเตรียมการผลิต และส่งออก ไว้ล่วงหน้า โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมีนาคมดังนี้
- การผลิตรถยนต์ จำนวน 116,298 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งมีการผลิต 101,923 คัน ร้อยละ 14.10 และเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2548 ร้อยละ 20.02
- การจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 66,101 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งมีการจำหน่าย 53,429 คัน ร้อยละ 23.72 แต่ลดลงจากเดือนมีนาคม 2548 ร้อยละ 2.16 การทรงตัวของปริมาณการจำหน่ายเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมาดังกล่าว เนื่องมาจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อ
- การส่งออกรถยนต์ มีจำนวน 53,578 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งมีการส่งออก 52,282 คัน ร้อยละ 2.48 และเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2548 ร้อยละ 50.44
- แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนเมษายน 2549 มีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากในเดือนเมษายนมีวันหยุดนักขัตฤกษ์หลายวัน
รถจักรยานยนต์
อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แม้ว่าได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านลบ กล่าวคือ สถานการณ์ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อรถจักรยานยนต์ของผู้บริโภค และมีผลทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง อย่างไรก็ตาม ในเดือนมีนาคมนี้ มีปัจจัยด้านบวกสนับสนุนให้อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ขยายตัว เนื่องจาก เป็นช่วงฤดูกาลจำหน่าย และมีการวางตลาดรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมีนาคม ดังนี้
- การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 220,757 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งมีการผลิต 178,292 คัน ร้อยละ 23.82 และเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2548 ร้อยละ 6.35
- การจำหน่าย จำนวน 213,586 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งมีการจำหน่าย 187,287 คัน ร้อยละ 14.04 และเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2548 ร้อยละ 13.08
- การส่งออกรถจักรยานยนต์ มีจำนวน 12,005 คัน ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งมีการส่งออก 14,835 คัน ร้อยละ 19.08 และลดลงจากเดือนมีนาคม 2548 ร้อยละ 14.53
- แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนเมษายน 2549 จะชะลอตัวจากเดือนมีนาคม 2549 เนื่องจากในเดือนเมษายนมีวันหยุดนักขัตฤกษ์หลายวัน
5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
“การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูกาลก่อสร้าง ทำให้ความต้องการใช้ปูน ซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ความต้องการใช้ยังคงชะลอตัวตามธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา”
1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ
การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศเดือนมีนาคม 2549 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.06 และ 9.82 ตามลำดับ ตามการขยายตัวในช่วงของฤดูกาลก่อสร้าง แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงร้อยละ 6.30 และ 11.18 ตามลำดับ เนื่องจากได้รับปัจจัยกดดันทั้งราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนผลกระทบทางการเมืองทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซบเซา ส่งผลให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ภายในประเทศชะลอตัวลงตามไปด้วย
2.การส่งออก
มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนมีนาคม2549 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนลดลงร้อยละ 0.74 เนื่องจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนลดลง แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.43 จากการปรับแผนขยายการส่งออกของผู้ประกอบการหลังจากการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศชะลอตัวลง
3.แนวโน้ม
ในเดือนเมษายน 2549 คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศจะลดลงเล็กน้อยเนื่องจากมีช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ สำหรับในเดือนพฤษภาคม 2549 การผลิตและการจำหน่ายในประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูกาลก่อสร้าง ในส่วนของการส่งออกคาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการวางแผนขยายการส่งออกเพิ่มมากขึ้น
6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
“ภาวะการผลิตและการส่งออกสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเดือน มี.ค. 49ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ. จากแรงหนุนในสินค้ากลุ่มเครื่องทำความเย็น HDD และ IC ส่วนแนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์คาดว่ายังจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือน มี.ค. เนื่องจากสินค้าเครื่องทำความเย็นที่คาดว่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อนนี้ ส่วนสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์คาดว่ายังจะมียอดการผลิตสูงคงที่ต่อเนื่องต่อไป “
ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน มี.ค. 2549
หน่วย : ล้านบาท
เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า CPM CPY
อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ 48,956.65 18.23 25.72
IC 22,884.67 10.58 25.08
วงจรพิมพ์ 3,218.39 15.96 -40.16
ไดโอด ทรานซิสเตอร์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ 2,967.68 11.71 -5.25
เครื่องปรับอากาศ 10,722.21 39.10 -0.88
ที่มา : สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
1.การผลิต
ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนมีนาคม 2549 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นทั้งอุตสาหกรรมไฟฟ้าที่มีการเร่งการผลิตกลุ่มเครื่องทำความเย็นที่มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มาจากการขยายตัวของ HDD และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12.61 โดยมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาดอิเล็กทรอนิกส์ของโลกที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น
2. การส่งออก
การส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนมีนาคมมีมูลค่า 140,504.07ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 18.95 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.69 ซึ่งเป็นการขยายตัวทั้งกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าส่งออก 53,585.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.82 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยเฉพาะเครื่องรับโทรทัศน์ เนื่องจากใกล้ถึงช่วงที่จะมีการแข่งขันฟุตบอลโลกขึ้นในเดือนมิถุนายนซึ่งจะมีผู้ที่ติดตามการแข่งขันอยู่เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ความต้องการเครื่องรับโทรทัศน์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้สินค้าในกลุ่มเครื่องทำความเย็นมีการขยายตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากช่วงฤดูร้อนทำให้ผู้บริโภคจำเป็นต้องซื้อสินค้าที่ช่วยคลายร้อนได้ สินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าการส่งออก 86,918.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.13 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 35.80 โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการขยายตัวมากเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ IC และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นตามความต้องการสินค้า Consumer Electronic ต่างๆที่เพิ่มขึ้น
3. แนวโน้ม
ภาวะการผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนเมษายน 2549 ต้องเผชิญกับปัจจัยลบหลายอย่าง อย่างไรก็ตามการจำหน่ายในประเทศคาดว่าจะยังคงได้รับแรงหนุนจากสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับขายในฤดูร้อน ส่วนของการส่งออกเดือนเมษายนคาดว่าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจะส่งออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดใหม่ๆของไทย เช่น อินเดีย อเมริกาใต้ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ความต้องการสินค้า Consumer Electronic ของโลกยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโทรศัพท์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2549 มีค่า 177.65 เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2549 (160.99) ร้อยละ 10.3 และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (166.43) ร้อยละ 6.7
- อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไปอื่นๆ อุตสาหกรรมการผลิตมอลต์ลิกเคอและมอลต์ เป็นต้น
- อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ เป็นต้น
- อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนมีนาคม 2549 มีค่า 72.38 เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2549 (66.56) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (71.56)
- อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน อุตสาหกรรมการจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอรวมถึงการทอสิ่งทอ อุตสาหกรรมการผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน ยกเว้นปุ๋ยและสารประกอบไนโตรเจน อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ เป็นต้น
- อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ อุตสาหกรรมการผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน ยกเว้นปุ๋ยและสารประกอบไนโตรเจน อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล เป็นต้น
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2549
- ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2549 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2549 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 472 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 317 รายหรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 48.9 และมีการจ้างงานรวม 10,873 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 5,317 คน ร้อยละ 104.5 และในส่วนของจำนวนเงินลงทุน มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 13,488.49 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งมีการลงทุนเพิ่ม 10,210.76 ล้านบาทร้อยละ 32.1
- ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2549 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนมีนาคม 2548 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 528 รายหรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ —18.9 และมีการจ้างงานลดลงจากเดือนมีนาคม 2548 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 14,594 คน ร้อยละ —27.3 ในส่วนของจำนวนเงินลงทุนลดลงจากเดือนมีนาคม 2548 ซึ่งมีการลงทุนเพิ่ม 40,284.70 ล้านบาทร้อยละ —66.5
- อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนมีนาคม 2549 คือ อุตสาหกรรมขุดหรือลอก กรวด ทรายหรือดิน จำนวน 48 ราย รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการทำเครื่องเรือนจากไม้ ยาง อโลหะอื่น ซึ่งมิได้ทำจากพลาสติกอัดเข้ารูปและอุตสาหกรรมซ่อมยานที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์หรือส่วนประกอบ จำนวน 34 ราย
- อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนมีนาคม 2549 คือ อุตสาหกรรมผลิตเอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งมิได้ผลิตจากกากซัลไฟต์ในการทำเยื่อกระดาษ 2,155 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำกระดาษ กระดาษแข็ง กระดาษใช้ในการก่อสร้าง แผ่นกระดาษไฟเบอร์ มีเงินทุน 1,994 ล้านบาท
- อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนมีนาคม 2549 คือ อุตสาหกรรมผลิต ซ่อมเครื่องรับวิทยุ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องเรดาร์ คาปาซิเตอร์ คนงาน 1,192 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ คนงาน 1,122 คน
(ยังมีต่อ)