ปาฐกถา เรื่อง “การคลังและการเมือง”โดย นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 18, 2006 09:11 —กระทรวงการคลัง

          ในงานสัมมนา “เจาะลึก 4 ปัญหา ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของประเทศ”
(ดอกเบี้ย, ค่าเงิน, น้ำมัน และการเมือง)
ณ สโมสรกองทัพบก
31 พฤษภาคม 2549
ผมเห็น Topic แล้วผมไม่ค่อยกล้ามา เพราะพูดถึงทั้งดอกเบี้ย ทั้งการเงิน เดี๋ยวฟังท่านผู้ว่าฯ (ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย) แล้วกันนะครับ เรื่องพลังงานก็ต้องฟังท่านวิเศษ จูภิบาล (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน) ผมก็คงจะมาในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคงพยายามพูดถึงเศรษฐกิจการคลังกับการเมือง อย่างน้อยก็เปิดประเด็นของเศรษฐกิจของประเทศว่าตอนนี้เราทำอะไรกันอยู่บ้าง ภาพของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจนั้นเป็นอย่างไร
ผมต้องเริ่มต้นนิดหนึ่งนะครับว่าในแง่ของความคิดของรัฐบาลชุดนี้ตั้งแต่เริ่มต้นมาที่ผมสังเกตเห็นตอนที่ผมไม่ได้เป็นรัฐมนตรีแล้วมาเป็นรัฐมนตรี ผมมองว่ารัฐบาลชุดนี้ทำอะไรที่ค่อนข้างที่จะเป็นอุปทานมาก ๆ ก็คือ พยายามที่จะใช้วิสัยทัศน์ที่สะท้อนกระแสโลกาภิวัตน์ ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก เข้ามาใช้เป็นปัจจัยที่จะบริหารประเทศค่อนข้างจะมาก สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือในเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ผมอยากจะสรุป 3 ประเด็นที่ผมมองเห็นภาพชัดเจน ให้ท่านเข้าใจภาพรวมของเศรษฐกิจโลกสักนิดหนึ่งก่อน แล้วมาดูว่าเศรษฐกิจการคลังเราทำอะไรบ้าง ส่วนเรื่องการเงินและดอกเบี้ยท่าน ผู้ว่า ฯ (ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย )ท่านก็จะอธิบายให้ฟังทีหลังแน่นอน เพราะท่านก็เป็นผู้ดูแลอยู่ทุกวัน
ผมว่าเศรษฐกิจโลกเวลาเราเกิดในกระแสโลกาภิวัตน์ก็คือการที่จะเปิดโลกอย่างเสรีรวดเร็ว ๆ มาก ๆ ทางด้านการค้า การลงทุน และการเคลื่อนไหวของทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัยเป็น 3 ปัจจัยหลักซึ่งกำลังเปิดเสรีไปอยู่ทั่วโลกแล้วก็กระทบการบริหารเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในโลกนี้เป็นสัจธรรมซึ่งจะหลีกเลี่ยงต่อไปไม่ได้
ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สรุปได้ง่าย ๆ เลยว่า เกิดเหตุการณ์ซึ่งเขาใช้คำภาษาอังกฤษว่า Global imbalance หรือความไร้ดุลยภาพทางเศรษฐกิจของโลก แล้วเหตุการณ์นี้เริ่มรุนแรงขึ้น ซึ่งเดิมมันก็มีอยู่บ้างแต่มันเริ่มสะสมรุนแรงขึ้นมาก โดยสรุปเพราะเหตุการณ์ที่เรียกว่าความไร้ ดุลยภาพของโลก ก็คือทุกคนมองว่าเอเชีย หรือภูมิภาคเอเชีย เป็นภูมิภาคซึ่งผลการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นสูงที่สุดในปัจจุบัน ปีนี้ก็ประมาณกันว่าน่าจะเติบโตประมาณร้อยละ 6 — 7%
ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในภูมิภาค เอเชียนั้น ๆ ทำให้ประเทศในเอเชียนั้นมีดุลการค้าได้เปรียบดุลการค้าประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะสหรัฐค่อนข้างจะสูงมาก ๆ โดยเฉพาะถ้าดูลงมาอีกนิดหนึ่งก็คือ อาเซียนบวกสาม ก็เป็นประเทศซึ่งตอนนี้มีการสะสมสำหรับเงินตราระหว่างประเทศซึ่งเป็นกำไรจากดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างจะรวดเร็วและมากที่สุดในโลกอยู่ในปัจจุบัน จุดนี้เป็นจุดซึ่งน่าสนใจมาก ๆ แล้วถ้ารวมไปถึงอิทธิพลของกลุ่มประเทศ Middle east หรือกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งก็สะสมทุนสำรองเงินตราจากกำไรจากน้ำมัน เป็นทวีคูณจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอีก ก็มองได้ว่าเอเชียคือแหล่งทุนของโลกในปัจจุบัน หรือแหล่งที่ทำการค้าแล้วได้กำไรมหาศาลในปัจจุบัน ฉะนั้นเมื่อมองด้านนี้แล้วก็มองอีกด้านมันก็ไม่ควรขาดทุน คนที่ขาดทุนที่หนักที่สุดแล้วกำลังบ่นอยู่มากมายก็คือสหรัฐ
สหรัฐขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นเคยขาดดุลมากที่สุด ตอนนี้มาขาดดุลจีนมากที่สุด มาขาดดุลเกาหลีใต้ และขาดดุลของไทยเองว่าน้อย ๆ ก็ยัง สามแสนล้านต่อปี ขาดดุลการค้ากับไทย ฉะนั้นเป็นจำนวนมหาศาล แต่ก่อนสหรัฐเขาใหญ่พอ เขาก็ไม่พูดอะไรมากนักถ้าเทียบกับขาดดุลการค้าบ้าง ก็พยายามแก้ไปกับญี่ปุ่นสมัยก่อนก็มีการบอกญี่ปุ่นคุณต้องจำกัดการส่งออกลดไปสู่อเมริกา เป็นต้น ไม่เกินปีละ 2 ล้านตัน เป็นเวลานาน ก็มีนโยบายต่าง ๆ ซึ่งเจรจากับแต่ละประเทศ แต่พอมาถึงจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่ และเพิ่งจะเติบโตขึ้นมา และตอนนี้ขาดดุลการค้าสูงกว่าขาดดุลการค้าทางญี่ปุ่น สหรัฐก็พยายามใช้ท่าทีที่ค่อนข้างผ่อนปรน พยายามเจรจาด้วยความนิ่มนวลมาก ๆ แต่ในที่สุดแล้ว ก็มาเริ่มมองว่าสหรัฐถ้าเกิดเป็นอย่างนี้จะยั่งยืนไปได้แค่ไหน จะอยู่ได้นานอีกแค่ไหน พร้อม ๆ กับมีนักเศรษฐกิจในสหรัฐเอง อย่าง Paul Krugman ก็บอกว่า ถ้าเป็นแบบนี้ไป แล้วถ้าเกิดฟองสบู่แตกเนื่องจากธุรกิจบ้านจัดสรรในสหรัฐเริ่มเกิดฟองสบู่แตก ธุรกิจเศรษฐกิจในสหรัฐก็จะลามไปทั่วโลกขึ้นมาได้ ฉะนั้นความเชื่อเริ่มมองกันว่า การขาดดุลสหรัฐ และ การที่สหรัฐดำเนินเศรษฐกิจในปัจจุบันอาจจะไม่สามารถที่จะมีความยั่งยืนต่อไปได้ ซึ่งตรงนี้ต้องดูกันต่อไปว่าสหรัฐจะแก้ปัญหาอย่างไร แต่ในที่สุดแล้วสหรัฐก็เริ่มออกนโยบายที่เป็นสากลชัดเจนว่าเขาไม่สามารถจะแก้ปัญหาคนเดียวได้ ดังนั้นประเทศอาเซียนบวกสามซึ่งกำไรจากการขาดดุลเขาเยอะเลยจะต้องร่วมแก้ปัญหาด้วย
แรงผลักดันอันแรกก็แน่นอน เป็นแรงผลักดันที่พยายามให้จีนลอยตัวค่าเงินซึ่งก็เกิดขึ้นมาเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว แต่จีนเองก็มีแนววิธีการลอยตัวของตนเองซึ่งเท่าที่ผ่านมาก็ยังปรับค่าเงินไปน้อยมาก ๆ ก็เป็นการถ่วงดุลกันอยู่พอสมควร ยังมีการต่อรองและการเจรจากันพอสมควร ซึ่งสหรัฐเองก็คงต้องมีมาตรการอะไรต่อไป แต่เหตุการณ์แบบนี้ที่เรียกว่าเหตุการณ์ของการไร้ดุลยภาพของเศรษฐกิจโลก มันทำให้เกิดเหตุการณ์ซึ่งเราเองก็รับผลกระทบไปบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ซึ่งก็ต้องบังคับให้เราเองนั้นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยตามขึ้นไปบ้าง เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดอีกคือราคาน้ำมันซึ่งมันเพิ่มขึ้นสูงก็จะทำให้เรานั้นโดนผลกระทบทางเศรษฐกิจไปเช่นเดียวกัน
ผมก็จะทิ้งไว้ตรงนี้ว่าเหตุการณ์ที่เขาเรียกว่าความไร้ดุลยภาพของทางเศรษฐกิจของโลกนั้น ๆ มีอิทธิพลต่อเราทั้งเรื่องของดอกเบี้ย การเงิน และ น้ำมัน และ เราก็คงจะต้องดูในรายละเอียดต่อไป ผมจะไม่พูดมากในสองประเด็นนี้
แต่ที่น่าชัดเจนก็คือว่าแหล่งเงินของโลกเริ่มมาระดมลงในเอเชียมากขึ้น เนื่องจากเอเชียคือย่านที่ทำการค้าแล้วมีกำไร แหล่งการลงทุนของโลกก็อยู่ที่เอเชียนี่เช่นเดียวกัน ฉะนั้นสิ่งนี้คือสิ่งที่น่าสนใจที่ว่า ญี่ปุ่นเองก็กระจายการลงทุนในจีน ในประเทศไทย ตอนนี้ก็ move ไปที่เวียดนามกับอินเดียเป็นหลัก สิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้น จีนเองก็เริ่มที่จะกระจายการลงทุนไปในต่างประเทศเช่นเดียวกัน
อินเดีย ถ้าใครที่ไปอินเดียตอนนี้กับเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมาจะเห็นความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ของอินเดียซึ่งเริ่มที่จะพลุกพล่านมากเต็มไปด้วยรถ เต็มไปด้วยความเจริญในหลาย ๆ เมือง ก็น่าสนใจเป็นเรื่องของการที่จะต้องคิดกันต่อ
คำถามที่จะถามต่อมาพวกเรากันเอง อาเซียนบวกสามก็คือ แล้วเราจะรับมือกับนโยบายของการปรับตัวที่เราเรียกกันว่า Adjustment policy เป็นการปรับตัวระหว่างสหรัฐกับอาเซียนบวกสามนี้กันอย่างไร มีการประชุมกันที่อาเซียนบวกสามที่ผมเข้าไปร่วมด้วยก็คุยกันตลอดว่าวิธีการที่เราจะร่วมกันได้จริง ๆ ก็คือ ทำอย่างไรเราจะลดการขึ้นตรงต่อการค้ากับสหรัฐ ไม่ให้เพิ่มให้สัดส่วนของการค้าของเราที่มีต่อกันนั้นเพิ่มมากขึ้น สัดส่วนการค้าที่มีกับสหรัฐจะได้ลดลง ถึงแม้ปริมาณจะลดลงก็ตาม ซึ่งในช่วง 10 ปี ก่อนที่ผ่านมาก็เห็นชัดเจนว่าตอนนี้การค้าร่วมกันในอาเซียนบวกสามนั้นมีปริมาณสูงถึงมากกว่าร้อยละ 50 ของผลผลิตในอาเซียนบวกสามด้วยกันเอง อันนี้เป็นเรื่องซึ่งนำไปสู่ความคิดที่ตามมาอีก ความคิดที่ตามมาแบ่งออกเป็น 3 ด้านด้วยกัน
ด้านที่ 1 ก็คือแล้วทำอย่างไรจะป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตแบบเดิมอีก ก็มีการประชุมกันที่เรียกว่า Chiangmai Initiatives ก็มีการพยายามทำ Multilateral swap การร่วมมือกันทางการเงินเพื่อป้องกันให้ grid รอบธนาคารกลางด้วยกันเอง ตอนนี้ swap facility หรือว่าที่จะตกลงเป็น MOU กันนั้นมีสูงมากกว่า 75,000 ล้านเหรียญแล้ว
ขั้นที่ 2 ก็เริ่มคิดต่อแล้วทำอย่างไรเป็น Multilateral swap หรือมีการแทนที่จะแค่ตกลงกันระหว่างหนึ่งต่อหนึ่ง ก็กลายเป็นการตกลงร่วมกัน
นึกภาพถ้ามีเงินสัก 75,000 ล้านเหรียญ แล้วประมาณครึ่งหนึ่งเป็น Multilateral คือเกิดวิกฤตที่ไหนก็ตามทุกประเทศก็ต้องร่วมกันเข้ามาก็จะมีเงินถึง 30,000 กว่า ล้านเหรียญ ก็จะทำให้การคลี่คลายภาวะวิกฤตของประเทศใดประเทศหนึ่งนั้นทำได้ฉับพลันและทันท่วงทีขึ้นมา กลไกลแบบนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยก็คงจะเริ่มทำงานเพิ่มสมรรถนะของการที่จะพึ่งต่อการและกันโดยไม่ต้องไปพึ่งพาจากภายนอกอาเซียนบวกสามมากขึ้นเรื่อย ๆ ภายนอกเอเชียมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ
อันที่ 2 ก็คือ Imbalance ที่เกิดขึ้นในเสถียรภาพของระบบการธนาคารกันเอง ก็ได้มีการพยายามที่จะจัดตั้งศูนย์ระบบ Asian Bond ตลาดของ Asian Bond ขึ้นมา ก็คือการออกพันธบัตรที่เป็นได้ทั้งสกุล Dollar และไม่ใช่สกุล Dollar เป็นสกุลในประเทศของเราเอง ก็เริ่มต้นขึ้นมาแล้ว ประเทศไทยก็ได้ออกกฎหมายเพื่อที่จะส่งเสริมให้เกิดตลาดพันธบัตรแบบนี้ขึ้นมา
ทางญี่ปุ่นเองโดยองค์กรที่ชื่อ JBIC หรือ Japan Bank for Investment Cooperation ก็ได้มาออก Asian Bond ที่ประเทศไทยเป็นเงินบาทด้วยซ้ำ ADB ก็ได้ออก Asian Bond เพื่อเอาเงินไปใช้ในการสร้างเขื่อนในลาว ออกในประเทศไทยเหมือนกัน สิ่งเหล่านี้ก็จะเริ่มเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ เราเองก็พยายามใช้ Exim Bank ออก Asian Bond เพื่อช่วยในการสร้างเขื่อนน้ำงึม 2 ในลาว ก็คงจะพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ โดยใช้สกุลเงินของเราเอง สกุลเงินในอาเซียนด้วยกัน ในเอเชียด้วยกัน พัฒนาแบบนี้ก็น่าสนใจ
ผมไปประชุมที่ญี่ปุ่นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี่เอง ก็เริ่มมีการพูดคุยกันอย่างกว้างขวางมากขึ้นว่า แล้วทำอย่างไร ขั้นที่ 3 ถึงจะออกสิ่งที่เรียกว่า Asian currency unit เดี๋ยวท่านผู้ว่าฯ คงอธิบายรายละเอียดได้ ก็คือทำอย่างไรให้มันเกิด Account ของการเคลียร์บัญชีกันด้วยสกุลเงินเอเชีย โดยไม่ต้องพึ่งพิงเงิน Dollar ก็เป็นการพัฒนาที่จะคล้าย ๆ กับการพัฒนาในประเทศยุโรป
นี่คือแนวทางซึ่งเกิดขึ้นเพื่อที่จะพยายามสร้างกลไกปรับตัวไม่ให้ขึ้นตรงต่ออิทธิพลของเงินของสหรัฐ และ อิทธิพลต่อการค้าของสหรัฐ Trade flow และ Capital flow ของสหรัฐฯ มากนัก ลดอิทธิพลของผลกระทบของเศรษฐกิจของสหรัฐในการเปลี่ยนแปลงเท่าที่จะมีตลอด การค้าซึ่งกันและกันจะเป็นหัวใจหลักที่เราค่อย ๆ เพิ่มพูนขึ้นมา สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในโลก
ส่วนเศรษฐกิจไทย กลับมาถึงเศรษฐกิจไทย ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยมีโครงสร้างซึ่งไม่เหมือนประเทศอื่น ๆ ที่เป็นคู่แข่งของเรา เศรษฐกิจไทยนั้นจะมีภาคเกษตรซึ่งค่อนข้างจะแข็ง แต่ว่าการเติบโตนั้นจะไม่สูงมาก การเติบโตอยู่ที่ประมาณ 4 % บวกลบแต่ละปี กำลังการเติบโตจะมีอยู่แค่นั้น เพราะว่าภาคเกษตรจะเป็นภาคซึ่งต้องการผลผลิตและขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่างทางการเกษตร
ภาคอุตสาหกรรมคือภาคซึ่งพยายามที่จะเร่งการเติบโตและเร่งสมรรถนะในการแข่งขัน ก็ทำได้ด้วยขีดจำกัด เนื่องจากเทคโนโลยีเรานั้นอาจจะไม่เพียงพอก็ต้องใช้ระบบที่จะพึ่งพิงเทคโนโลยีกับการลงทุนของต่างประเทศเข้ามาช่วยเสริมสร้างสมรรถนะทางอุตสาหกรรมของเรา เราเองก็ทำได้ค่อนข้างจะดีที่เริ่มมีอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งส่งรถปิกอัพไปและผลิตรถปิกอัพได้มากที่สุดในโลก และส่งออกได้มากที่สุดในโลกแล้ว hard disk ก็เป็นที่หนึ่งในโลก แต่มีอีกสองสามสินค้าที่ประเทศไทยคือเจ้าโลก ทางเกษตรเราก็มีสองสามสินค้าที่เป็นเจ้าโลก คือข้าว และ ยางพารา ก็มากที่สุดในโลกเช่นเดียวกัน น้ำตาลก็เป็นแค่ระดับสอง ระดับสาม ก็ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจเมืองไทยก็มี balance ของตัวเองในภาคเกษตรกับภาคอุตสาหกรรม
มีคนเคยถามทำไมประเทศสิงคโปร์เขาโตได้ถึง 9 % 10 % ประเทศไทยโตไม่ได้ มันคนละลักษณะ ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศของการ Service sector หรือว่าภาคบริการ หรือภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ฉะนั้นการเติบโตของเขานั้นจะเติบโตไปทางภาวะเศรษฐกิจซึ่งค่อนข้างที่จะอิงกับการค้าโลกรุนแรงมาก เรามีภาคเกษตรเป็นตัวถ่วงอยู่ เป็นทั้งตัวสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และเป็นตัวที่ทำให้เศรษฐกิจนั้นไม่สามารถจะเติบโตได้รุนแรงได้มากเหมือนเขา แต่ก็สร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าคนอื่น ก็เป็นสิ่งซึ่งเราต้องยอมรับข้อเท็จจริงของประเทศเราโครงสร้างเป็นอย่างนั้น
ถ้าพูดถึงโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไทยก็ยังมีเสถียรภาพที่ดี จากประสบการณ์ที่เราผ่านปัญหามาค่อนข้างจะมากตั้งแต่วิกฤต การปรับปรุงการปรับโครงสร้างทางการเงิน การปรับ โครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทำขึ้นมาได้ค่อนข้างที่จะดีทีเดียว จนกระทั่งต่างประเทศนั้นเชื่อมั่นมากว่าเศรษฐกิจไทยนั้นไปได้ค่อนข้างที่จะแข็งแรง ที่สำคัญก็คือตัวที่ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยแข็งแรงซึ่ง หลาย ๆ ท่านอาจจะไม่เชื่อก็ตาม แต่ในแง่เศรษฐศาสตร์ก็คือว่าการว่าจ้างแรงงานนั้นใช้เกือบจะไม่มีแรงงานเพียงพอ คือแรงงานซึ่งว่างงานนั้นเพียง 1% กว่าๆ น้อยมากๆ เทียบกับโลกนั้นก็คือเราเรียกว่า full employment คือการว่าจ้างแรงงานนั้นทุกคนมีงานทำเกือบทุกคน นั้นคือความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยว่าอย่างน้อยทุกคนมีงานทำ
จุดที่ 2 ก็คือมี Export sector ซึ่ง ค่อนข้างจะแข็งแกร่ง Export ของเราก็ประมาณกว่า 60% เป็นเงินเข้า 60% ของผลผลิตของประเทศใช้เป็น Export ฉะนั้น Export กับ Import เรามีร้อยกว่าเปอร์เซ็นต์ของผลผลิตของประเทศที่เหลือ และการบริโภคของเราก็ค่อนข้างจะดี เท่าที่ผ่านมาก็ยังไปได้ดี
ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ quarter ที่ 1 ไตรมาสที่ 1 ถามผมว่าเศรษฐกิจดีไหม ยังดีมาก ๆ พื้นฐานทุกอย่างดี การบริโภคก็ยังเพิ่มขึ้นถึงแม้อัตราเพิ่มจะลดลงบ้างเล็กน้อย เรื่องของการใช้จ่ายของรัฐบาลถึงแม้จะลดลงไปบ้างเนื่องจากการที่งบประมาณนั้นถูกดึงจากการยุบสภาแล้วทำให้เราทำอะไรไม่ได้มากก็มีการใช้จ่ายภาคประจำอยู่พอสมควร Export ก็ยัง balance ได้ดี Export Import ทางการค้า บัญชีเดินสะพัดกับเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 1 ก็แสดงถึงความแข็งแกร่งของ โครงสร้างเศรษฐกิจที่ยังสามารถที่จะส่งสินค้าไปขาย และปริมาณเพิ่มขึ้น และมูลค่าก็เพิ่มขึ้นมากด้วยซ้ำ จากราคาสินค้าเกษตรซึ่งดีขึ้นอีก
สิ่งนี้ทำให้เราสรุปได้ว่าในไตรมาสที่ 1 นั้นเศรษฐกิจเติบโตค่อนข้างจะดี ตัวเลขยังไม่ออกแต่ว่าคิดว่าอยู่ 5 แก่ ๆ ที่น่าเป็นห่วงมีอยู่ตัวเดียวก็คือการลงทุน พอเริ่มมีความไม่มั่นคงทางการเมือง มีการยุบสภา และรัฐบาลไม่สามารถจะอัดฉีดงบประมาณได้เต็มที่ เนื่องจากหลังจากมีการยุบสภาแล้ว ส่วนใหญ่ในฐานะที่เป็นรัฐบาลรักษาการก็พยายามที่จะไม่ประมูลงานใหม่ ๆ แล้วรอให้รัฐบาลชุดใหม่เขาเข้ามาทำงานแทน ตอนแรกเราก็คิดกันว่าภายในเวลา 60 วัน ถึง 90 วัน รัฐบาลใหม่คงจะเข้ามาได้แล้วทำหน้าที่ต่อไปได้ทัน การมีช่องว่างเพียงแค่ 3 เดือน ก็น่าจะไม่มีผลกระทบต่อการอัดฉีดเงินของภาครัฐตามงบประมาณมากเท่าไรนัก แต่พอการเลือกตั้งไม่เป็นผลรัฐบาลรักษาการก็มานั่งทบทวนว่าถ้าการเลือกตั้งครั้งใหม่จะต้องล่าช้าไปถึงตุลาคมตามที่เขาวางแผนกันไว้ แล้วรัฐบาลใหม่จะมีก็ประมาณปลายปี ปัญหาที่เราจะต้องคิดก็คือแล้วเราจะไปรอรักษาการแบบเดิมมันทำไม่ได้ มันไม่ใช่การรักษาการปกติแล้ว เราคิดว่าเราคงต้องทำหน้าที่รัฐบาลในการที่จะอัดฉีดงบประมาณให้เต็มที่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการชะลอการลงทุนมากเกินไปกว่านี้
ซึ่งอันนี้เป็นกังวลของภาคธุรกิจตลอดเวลาว่าการรับเหมาก่อสร้างงานใหม่ ๆ ไม่เกิดเลย พออำนาจในการบริโภคลดลงนั้นก็จะกระทบภาคอื่น ๆ ทั้งหมด นั่นคือภาพเศรษฐกิจไทย ดูอดีต ไตรมาสที่ 1 ยังดูดีอยู่ แต่มาเริ่มไตรมาสที่ 2 เราเริ่มเห็นว่าถ้าการลงทุนไม่สามารถจะกระตุ้นกลับขึ้นมาได้ ก็ต้องพยายามทำไตรมาสที่ 3 เพราะไตรมาสที่ 2 มันผ่านมาเดือนครึ่งแล้วคงจะทำได้บ้างแต่ไม่มากนัก เราก็เริ่มอัดฉีดเข้าไปโครงการต่าง ๆ ที่มีการประมูลไว้แล้วในส่วน ราชการก็เริ่มเซ็นงานไป เริ่มโครงการ Megaprojects เริ่มถูกปัดฝุ่นขึ้นมาใหม่ทันทีว่าอะไรที่พร้อม ที่จะประมูลควรจะทำอย่าไปรอ ถึงได้เริ่มมีความคิดว่า รถใต้ดินทั้ง 3 สายที่ design ไว้เสร็จเรียบร้อยแล้วก็มี TOR ที่อยู่ใน sub เรียบร้อยควรจะเริ่มดำเนินการต่อไปอย่าไปนั่งรออีกต่อไป เพื่อให้ภาคธุรกิจนั้นเขาสร้างความมั่นใจต่อการลงทุนของประเทศกลับมาใหม่
สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ก็ต้องเริ่มผลักดันงบปี 2549 ต่อไปให้ได้ ต่อไปพยายามใช้งบปี 2549 ให้หมด ถ้าไม่หมดก็พยายามให้พาดไปถึงไม่เกิน quarter ที่ 1 ของปี 2550 เนื่องจากงบผูกพันที่เกินกว่านั้นก็ต้องรอนิดหน่อย แต่โครงการที่เคยเรียกกันว่า Megaprojects ก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบไป ก็เป็นเรื่องของโครงการเพื่อพัฒนาตามงบประมาณปี 2549 มีอะไรอยู่บ้างก็ทำ แต่โครงการที่ รัฐวิสาหกิจสามารถที่จะมีแผนการลงทุนอยู่แล้วเราก็พยายามผลักดันตอนนี้เขาก็ใช้เงินได้ค่อนข้างจะเป็นไปตามแผนสำหรับรัฐวิสาหกิจไม่ค่อยเป็นปัญหา เป็นปัญหาที่รัฐบาลจะต้องช่วยกันผลักดันค่าใช้จ่ายของการลงทุนทั้งหลายซึ่งสูงขึ้น 25 % ของงบประมาณเข้าสู่ระบบให้เร็วที่สุดในปัจจุบัน แล้วถ้าเข้าก็ขยับให้เข้าให้เร็วที่สุดด้วยเพราะถ้ามีไปถึงช่วงเลือกตั้งก็จะถูกครหาอีกว่าไปทำเพื่อหาเสียงอีก ก็คงจะต้องพยายามเร่งรัดทำจนกระทั่งก่อนการเลือกตั้งและต้องพยายามที่จะให้เสร็จให้เร็วที่สุดก่อนการเลือกตั้ง ก่อนการประกาศวันเลือกตั้ง
สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยซึ่งเราต้องเร่งกันทำ ถามว่ามีความเสี่ยงอะไรอยู่บ้าง risk คือความเสี่ยงนั้นอยู่ที่ไหนบ้างที่จะกระทบเราแล้วทำให้เราต้องคอยทบทวนนโยบายของเราอยู่ตลอดเวลา เรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยก็แน่นอนเป็นส่วนหนึ่งแต่ว่าอันนี้เงินเฟ้อก็ให้ท่านผู้ว่าฯ เป็นผู้ที่จะว่าไป
แต่สิ่งที่ผมจะเน้นก็คือ ประเด็นของความเสี่ยงที่ผมคิดว่าทางการคลังและทางรัฐบาลจะต้องแคร์มาก ๆ ก็คือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงความอ่อนไหวทางการเมือง และก็ความสามารถในการบริหารงบประมาณเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด และก็เรื่องของการพัฒนาเมกะโปเจ็ค หรือว่าโครงการใหญ่ ๆ ให้ออกไปให้เร็วที่สุด ตรงนี้เป็นเรื่องซึ่งเราจะต้องทำอย่างรวดเร็วและต้องมีประสิทธิภาพด้วย ไม่อย่างนั้นแล้วก็จะทำให้การลงทุนของประเทศนั้นชะลอไป และทำให้เศรษฐกิจชะลอไปมากกว่าที่เป็นอยู่
เมื่อวันจันทร์นี้กระทรวงการคลังเองก็ได้ออกทำนายเศรษฐกิจขึ้นมาและก็ได้ทบทวนขึ้นมา เขาได้ประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจนั้นลงมาอยู่เพียง 4.5 ซึ่งเดิมนั้นเคย Range ไว้ 5.6 ตอนนี้ก็เท่ากับ range ลงมาที่ 4 ถึง 5 ซึ่งต่ำกว่าที่แบงก์ชาติ forecast เสียอีก ตอนนี้แบงก์ชาติ forecast ไว้ล่าสุดคือ 4.25 ถึง 5.25 แต่ก็ต่างกันนิดหน่อย ก็ถือว่าทางวิชาการเขาอาจจะใช้ factor ที่ต่างกันบ้าง เราอาจจะมี factor ที่ update ขึ้นมาบ้าง ส่วนใหญ่ที่คลังมองก็คือการลงทุนนั้นจะเติบโตน้อยมาก ๆ ทั้งปี ซึ่งจะเป็นประวัติศาสตร์ในหลาย ๆ ปีที่ผ่านมาทีเดียวว่าก็ประมาณการลงทุนจะเติบโตแค่ 2 ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นเอง ก็เป็นสิ่งที่เราก็ต้องฟังนักวิชาการ แล้วรัฐบาลก็กำลังคิดว่าทำอย่างไรจะอัดฉีดให้ได้มากกว่านั้น ถ้ามันได้มากกว่านั้นก็น่าจะดีกว่า 4.5 ได้ ฉะนั้นการจัดการทางเศรษฐกิจภายใต้ความอ่อนไหวของการเมืองในปัจจุบัน คำถามคงจะถามกันว่าแล้วการเมืองมีผลกระทบต่อการบริหารการคลังแค่ไหน ผมตอบได้เลยว่ากระทบแน่น
1. มันกระทบจากเรื่องของจรรยาบรรณของการเป็นรัฐบาลรักษาการที่ผมกล่าวไปแล้ว หมดไปแล้ว 2 เดือนกว่า ๆ ซึ่งเราพยายามให้จรรยาบรรณว่าโครงการใหม่ ๆ ไม่ประมูล ไม่ทำอะไร ตอนนี้มันก็จะกระทบว่าเราจะอัดฉีดเงินให้ไปให้เร็วที่สุด ตรงนี้ยังไม่เท่าไร ผมขอเล่าให้ฟังง่าย ๆ ว่า สมมุติว่าการเลือกตั้งนั้นเสร็จภายในวันที่ 15 ตุลาคม อย่างที่ กกต. กับ รัฐบาล เขาคอยจะคุยกับภาคต่าง ๆ รัฐบาลก็เห็นชอบและพยายามที่จะเสนอกฤษฎีกา 15 ตุลาคมให้เลือกตั้งให้ได้ ซึ่งก็ไม่รู้จะได้ไม่ได้ เพราะฟังจากที่ศาลประกาศมาวันนี้ ซึ่งตอนเย็นท่านคงเห็นว่าศาลคิดอย่างไร และก็ไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรกับการตัดสินใจของ กกต. ในปัจจุบันด้วยซ้ำ
แต่สมมุติว่านั้นคือเร็วที่สุดที่ได้ 15 ตุลาคม ทำไมต้องไปถึง 15 ตุลาคม เพื่อเอาใจนักการเมืองทุกคน ส.ส. ทุกคน ซึ่งมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จับเขาไว้ ขังไว้ ก็เลยต้องให้เวลาเขาย้ายพรรค ให้เวลาตั้งพรรค และจัดวันประกาศการเลือกตั้ง และวันเลือกตั้งให้เพียงพอให้เขาเป็นอิสระที่จะย้ายพรรคได้ตามที่เขาต้องการ และก็ไปลงสมัครได้ มีเวลาเตรียมตัวทุกอย่างรวมกันแล้วประมาณ 150 วัน เพราะการที่เขาจะย้ายพรรค ต้องมีเวลาถึง 90 วัน กว่าจะสมัครลงในการเลือกตั้งครั้งใหม่ได้ ก็ต้องใช้เวลาถึง 150 วัน ก็คือ 5 เดือนกว่า ๆ
ฉะนั้น สมมุติเสร็จได้ตามที่วางแผนไว้ วันที่ 15 ตุลาคม คำถามที่ถามต่อมาก็คือรัฐบาลจะเสร็จเมื่อไร ก็จะใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือนต่อ กกต. ชุดไหนก็ตาม ชุดใหม่ชุดเก่าก็ตาม จะประกาศผลการเลือกตั้งสภาอีก 30 วัน หลังจากนั้นก็ใช้เวลาอีกประมาณ 30 วัน ตั้งรัฐบาล และ ตั้งนายกรัฐมนตรี และตั้ง ครม. ก็คงจะประมาณธันวาคมอย่างเร็ว เดือนธันวาคม
ที่ผมเล่าเวลาให้ฟังเพราะผมอยากจะบอกท่านว่างบประมาณปี 2550 มันเริ่ม 1 ตุลาคม ถึงจะเตรียมการแต่มันใช้เงินไม่ได้ งบลงทุนโดยเฉพาะใช้ไม่ได้ งบประจำ ถ้างบประมาณยังไม่ผ่านสภากฎหมายเขาบอกว่าไม่เป็นไรเรามีสิทธิ์จะใช้กรอบของปีงบประมาณ 2549 จ่ายค่าใช้จ่ายประจำ เงินเดือนประจำต่าง ๆ ไม่ค่อยมีปัญหา งบที่ผูกพันในปี 2549 ที่เหลืออยู่ก็ยังใช้ได้ ซึ่งเดิมเราเคยคำนวณไว้ว่าถ้าเป็นการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ก็จะไปทำให้ล่าช้าประมาณ 3 เดือน ก็ไม่เป็นไรเพราะงบเหลื่อมมาก็ประมาณแสนล้านก็ยังใช้ได้ ก็ไม่กระทบการวางแผนงบประมาณเท่าไร ระหว่าง 3 เดือนก็ทำงบประมาณให้จบ
พอไปถึงตรงนี้ จะตั้งรัฐบาลได้คือเดือนธันวาคม กว่า พ.ร.บ. งบประมาณจะเข้าสภา ก็คืออาจจะต้นมกราคม ใช้เวลาอีก 3 ถึง 4 เดือน กว่า พ.ร.บ. งบประมาณจะผ่านสภาในวาระ 2 ได้ เร็วที่สุดผมเชื่อว่า 3 เดือน อย่างนั้นมัน Tune กันทุกคลื่น 3 เดือนขึ้น ส่วนใหญ่ก็ประมาณ 3 ถึง 4 เดือน ถ้าขอร้องกันจริง ๆ อาจจะ 2 เดือนก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามจะไปเสร็จเอาประมาณมีนาคม หรือ เมษายน ถ้าเสร็จสิ้นเดือนมีนาคมในตัวอย่าง งบประมาณปี 2550 ล่าช้าไปแล้ว 6 เดือน งบลงทุนที่มีประมาณ 25 % ของงบประมาณ 6 เดือนทำอะไรไม่ได้เลย 25 % ของงบประมาณที่ประมาณ 1.47 ล้าน ๆ ถึง 1.5 ล้าน ๆ 25 % ก็ออกมาประมาณนั้น หลายแสนล้านใช้อะไรไม่ได้แม้แต่บาทเดียว จนกระทั่งงบประมาณ 3 ผ่านสภา พอผ่านสภาเสร็จก็ใช้เวลาอีกประมาณ 3 เดือนกว่าจะเริ่มประมูล กว่าจะเริ่มอะไร ฉะนั้น 9 เดือนกว่าจะฉีดเงินงบประมาณปี 2550 ได้ มีเวลาแค่ 3 เดือนใช้งบลงทุน คือเพื่อจะข้ามไป 2551 ฉะนั้นปี 2550 เป็นปีที่ผมยังนึกไม่ออกผมจะทำนายเศรษฐกิจเป็นอย่างไร จะเป็นเท่าไร
ผมไม่ห่วงปี 2549 ผมยังถือว่าเสถียรภาพยังอยู่ทุกอย่างทุกอย่างยังอยู่ แต่ผมเป็นห่วงว่าด้วยเหตุผลของความอ่อนไหวทางการเมืองการตัดสินใจในการเลือกตั้ง การตัดสินใจทุก ๆ อย่าง ผมก็เหมือนคุณดนัย ไม่เข้าข้างใคร ไม่เข้าใครออกใคร แต่รู้อย่างเดียวว่ามันล่าช้า แล้วผลกระทบของการล่าช้าที่มีต่อเศรษฐกิจ ก็คืองบลงทุนของรัฐบาลใหม่ที่ใครก็ตามจะไม่สามารถใช้ได้จนกระทั่ง ครึ่งปีหลังของปีงบประมาณ และ จะใช้ได้จริง ๆ ถ้าดูจากวิธีการที่จะต้องผ่านกระบวนการตามกติกาของภาครัฐ วิธีการจัดซื้อ การลงทุนทั้งหลาย ก็ต้องใช้อย่างน้อย 3 เดือน กว่าเม็ดเงินจะเริ่มใส่เข้าสู่ระบบได้ การประมูลการจัดจ้างทั้งหลายก็เท่ากับว่าปี 2550 เราอาจจะต้องทำอะไรเป็นพิเศษเยอะมากรัฐบาลที่จะเข้ามาใหม่ ต้องมีวิธีหาโครงการ ฉีดเงินเข้าไปโดยที่ไม่ได้อิงงบประมาณปี 2550 ก็เป็นการบ้านของรัฐบาลชุดใหม่ จนผมมองว่านี่คือความอ่อนไหวทางการเมืองที่กระทบต่อนโยบายการคลังโดยตรงว่าเป็นอย่างไร
แต่จุดที่สำคัญอีกอันหนึ่งก็คือความอ่อนไหวของการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ ตรงนี้ผมเรียนได้เลยว่าผมพบกับนักลงทุนต่างประเทศ เพิ่งไปญี่ปุ่นมาก็พบคนญี่ปุ่นเป็นหลักแต่ว่าทุกคนที่มาเยี่ยมทุกคนถามว่าเมื่อไรจะมีรัฐบาลถาวรของประเทศ แล้วคำตอบมันไม่ชัดเจน
นึกภาพว่าเราอยู่ในประเทศอีกประเทศหนึ่งเรามีเงินเยอะมากเลย ถ้าเราจะเอาเงินไปลงทุนเราควรจะไปลงที่ไหน เราคงจะไม่ลงในจุดซึ่งการเมืองไม่มีเสถียรภาพที่ยังไม่แน่นอน ฉะนั้นถึงแม้จะได้รับ BOI ไปแล้วถึงแม้ที่จะบอกประเทศไทยน่าอยู่น่าลงทุน แต่เขาคงจะรอว่ารัฐบาลที่จะมาคือรัฐบาลอะไรและจะเป็นอย่างไรบ้าง นโยบายเศรษฐกิจนั้นเอื้อต่อการลงทุนของต่างประเทศหรือไม่ เพราะว่าแต่ละคนแต่ละนักวิชาการแต่ละคนก็จะคิดไม่เหมือนกัน นโยบายที่แต่ละคนคิดในทางวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ บางคนก็ออกมาในรูปชาตินิยมก็คือไม่อยากให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุน บางคนก็อยากเปิดให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุน ซึ่งก็ต้องรอจนกระทั่งรัฐบาลใหม่เข้ามาแล้วถึงจะตัดสินใจได้ ว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่น่าเป็นห่วงมาก ๆ ว่าประเทศไทยซึ่งมี Import Export ถึง 140% ของผลผลิตของประเทศ ถ้าขาดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา ขาดการลงทุนของรัฐบาลเนื่องจากไม่สามารถจะลงทุนได้เนื่องจากงบประมาณมันล่าช้าไปเราจะประมาณการเศรษฐกิจปี 2550 กันอย่างไร ตรงนี้ยังไม่ได้ทำ แต่ว่าเป็นสิ่งที่ผมเป็นห่วงแทนคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแทนผม ก็หวังว่าจะมีผู้ที่เก่ง ๆ เข้ามาแก้ไขปัญหานี้ได้ในรัฐบาลชุดใหม่
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ