ในอีก 5 ปีข้างหน้า มาเลเซียจะใช้เงิน 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อยกระดับสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานภายในประเทศเพื่อพัฒนาให้รัฐต่างๆ ที่ยังมีเศรษฐกิจยากจนและกระตุ้นให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อให้มาเลเซียเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2020 โดยที่รัฐบาลได้กำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของมาเลเซีย ฉบับที่ 9 มีระยะเวลา 5 ปี ซึ่งเป็นแผนแม่บททางเศรษฐกิจฉบับแรกภายใต้การนำของนายอับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน โดยแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากแนวทางเดิมของยุค ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด คือเน้นการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อมุ่งสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีความเจริญก้าวหน้าอย่างเต็มรูปแบบ ในแผนฉบับนี้ได้ระบุถึงเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งวัดจากจีดีพีในระหว่างปี 2006-2010 น่าจะอยู่ที่ 6% ซึ่งเติบโตกว่าภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 ที่มีอัตราอยู่ที่ 4.5% ขณะเดียวกันมาเลเซียจะต้องบริหารประเทศในสภาวะขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่องหลายปีเพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าของโครงการด้านต่างๆ แต่รัฐบาลได้ตั้งเป้าลดยอดขาดดุลลงจาก 3.8% ในปี 2005 และ 5.3% ในปี 2003 ให้เหลือเพียง 3.4% ของ จีดีพี ในปี 2010
ขณะที่รายได้ประชาชาติภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 นี้ได้คาดหมายว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรจะเพิ่มขึ้นจาก 4,692 ดอลลาร์/ปี (ปี 2005) ขึ้นเป็น 6,273 ดอลลาร์/ปี (ปี 2010) และรัฐบาลจะพยายามขจัดให้ความยากจนให้หมดไป สิ่งที่น่าเป็นข้อสังเกตุของแผนพัฒนาฯฉบับนี้ จะไม่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่หรือเมกะโปรเจ็กต์ใหม่ๆ เหมือนที่ผ่านมาแต่จะเน้นที่การพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเดิมที่มีอยู่แล้วรวมทั้งเส้นทางขนส่งทางน้ำและระบบระบายน้ำตลอดจนโครงการสร้างทางหลวงสายใหม่และสะพานในเขตที่มีการจราจรอย่างหนาแน่น
ประเด็นวิเคราะห์
นักวิเคราะห์ได้ชี้ให้เห็นว่าแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ของมาเลเซียนี้จะส่งผลดีต่อประชาชนเพราะได้มีการกระจายความเจริญลงไปสู่ชนบท อีกทั้งได้จัดสรรงบส่วนหนึ่งไปสร้างความเจริญให้ในเขตที่ประชากรส่วนใหญ่ที่ยังยากจน เป้าหมายของรัฐบาลมาเลเซียต้องการลดช่องว่างความเลื่อมล้ำทางฐานะความเป็นอยู่ระหว่างประชากรลง
ที่มา: http://www.depthai.go.th