ขยายตลาดน้ำมันปาล์มสู่การค้าเสรี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 8, 2006 15:24 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          นางอภิรดี  ตันตราภรณ์  อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ความต้องการน้ำมันปาล์มในขณะนี้เพิ่มสูงขึ้นและมีการค้าสูงถึงร้อยละ 60 โดยมาเลเซีย และอินโดนีเซียเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่  สำหรับไทยมีสัดส่วนการส่งออกน้ำมันปาล์มเพียงร้อยละ 0.9 ของโลก ขณะที่สหภาพยุโรป จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของโลก   แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ประเทศคู่เจรจาเขตการค้าเสรีกับไทยมีการนำเข้าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของการนำเข้ารวมทั้งหมด ซึ่งไทยควรให้ความสำคัญในการขยายการส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้  
นางอภิรดี กล่าวว่า การเปิดตลาดสินค้าน้ำมันปาล์มมี 3 ระดับ คือ
1. การเปิดตลาดน้ำมันปาล์มภายใต้องค์การการค้าโลก ไทยจำกัดปริมาณการนำเข้าภายใต้โควตาอยู่ที่ 4,860 ตัน กำหนดอัตราภาษีในโควตา 20% และที่เกินไปกว่าโควตา 143% โดยกำหนดให้องค์การคลังสินค้าเป็นผู้นำเข้าแต่เพียงผู้เดียว
2. การเปิดตลาดภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องเปิดตลาด ตั้งแต่ปี 2536 ไทยได้ชะลอการเปิดตลาดบางช่วง เพื่อให้พร้อมกับการเปิดตลาด จนในปัจจุบัน AFTA กำหนดให้มีภาษีเหลือร้อยละ 0-5 การนำเข้าน้ำมันปาล์มในประเทศไทยเสียภาษีที่ร้อยละ 5 และให้องค์การคลังสินค้าเป็น ผู้นำเข้าแต่เพียงผู้เดียว
3. การเปิดตลาดภายใต้ FTA ภาษีส่วนใหญ่จะเป็น 0 มีจีนและอินเดียที่ยังมีภาษีสูง การทำเขตการค้าเสรีจะเป็นช่องทางขยายการส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้ได้ สำหรับการเข้าสู่ตลาดจีน จีนจะยกเลิกระบบโควตาในปี 2549 ทำให้ไทยควรให้ความสำคัญกับตลาดจีนมากยิ่งขึ้น
นางอภิรดี กล่าวต่ออีกว่า ผลกระทบที่เกิดจากการเปิดตลาด คือ อาจมีการลักลอบจากมาเลเซียในช่วงที่มีการขาดแคลน ทำให้มีส่วนต่างสูง ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและโรงงานสกัด และการเจรจากับสหรัฐฯ อาจเกิดความเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม เนื่องจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตถั่วเหลืองรายใหญ่ของโลกและใช้ทดแทนน้ำมันปาล์มได้ ดังนั้นในการเปิดตลาดเสรีควรที่จะมีการคุ้มครองผู้ที่อาจถูกผลกระทบ อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองนั้นควรมองภาพรวมทั้งหมด เพื่อให้เกิดความสมดุลต่ออุตสาหกรรมทั้งระบบ และนอกจากนี้การที่จะให้ไทยเป็นครัวของโลก นั้นการผลิตด้วยต้นทุนที่ต่ำจำเป็นจะต้องใช้วัตถุดิบที่มีราคาถูก หากน้ำมันปาล์มยังผลิตด้วยต้นทุนสูง และถูกจำกัดปริมาณการนำเข้าจะเป็นสิ่งที่สวนทางกัน ถึงเวลาแล้วที่ผู้ที่เกี่ยวข้องควรให้ความสนใจแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยใช้มาตรการที่ก่อให้เกิดความสมดุลทั้งระบบ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ