ตรวจแถว SMEs รับมือ FTA ปั้นธุรกิจไทยสู่ตลาดโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 1, 2005 17:33 —สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

          การเปิดเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ เป็นยุทธศาสตร์การค้าภายใต้นโยบาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อขยายการค้า การลงทุนของประเทศ โดยมีเป้าหมายการเจรจา 12 ประเทศ ปัจจุบันกระแสการเจรจาเข้มข้นขึ้นทุกขณะ ไม่เพียงธุรกิจรายใหญ่ที่ออกมาพูดถึงผลกระทบที่จะได้รับหลังการเจรจาการเปิดเขตการค้าเสรีในครั้งนี้ โดยเฉพาะระหว่างไทย สหรัฐ ไม่ต้องพูดถึงผู้ประกอบการระดับเอสเอ็มอีส่วนใหญ่หวั่นถึงผลกระทบที่จะได้รับและตื่นตัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
เพราะย่อมปฎิเสธไม่ได้ว่า ภาพสะท้อนจากการเปิดเขตการค้าเสรีไทย จีน เกษตรกรไทยล้มตายเป็นจำนวนมาก จากสินค้าเกษตรอย่างหอม กระเทียม และสินค้าอื่นๆ จากจีนทะลักทลายเข้าสู่ประเทศไทยอย่างมหาศาล ขณะที่สินค้าของไทยเองไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการเปิดเขตการค้าเสรีมากนัก
ขอจับกระแสระหว่างนี้ ที่ได้เกิดการประชุมสัมมนาในหลายเวที เพื่อให้ความรู้กับผู้ประกอบการระดับเอสเอ็มอี ที่ประเด็นส่วนใหญ่จะพุ่งเป้าที่ผลกระทบ ความพร้อมของเอสเอ็มอีไทยและโอกาสในการส่งออก รวมถึงข้อเสนอแนะจากผู้รู้ในแวดวงต่างๆ
โดยได้โฟกัสไปยังกลุ่มธุรกิจบริการ สปา อาหารและภาคธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่มีสัดส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มไทยเข้าลงทุนจำนวนมาก ขณะเดียวกันยังถูกมองว่าเป็นภาคธุรกิจที่มีจุดแข็งสามารถแข่งขันยังตลาดโลกได้
-50% เอสเอ็มอีไทยไม่พร้อม
หากมองถึงความพร้อมของเอสเอ็มอีไทยในขณะนี้ ดร.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี ประธานคณะกรรมการกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าและมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า มีเอสเอ็มอีไทยมากถึง 50% ที่ยังไม่มีความพร้อมจากการเจรจาการเปิดเขตการค้าเสรี ประเด็นสำคัญคือการขาดความรู้ถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้ และการผลิตสินค้าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการได้ถิ่นกำเนิดสินค้า (ROO) สิทธิประโยชนืที่ได้รับคือภาษี 0%
แต่อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาในช่วง 3 ปีนี้ ที่ไทยต้องดำเนินการเจรจาทั้ง 12 ประเทศ ยังมีเวลาสำหรับการปรับตัวของเอสเอ็มอีไทย แม้จะมีสัดส่วนที่มากถึง 50% ก็ตาม แต่ด้วยขนาดของธุรกิจที่ยังไม่ใหญ่มาก
ซึ่งเป็นเวลาที่ภาครัฐต้องเข้ามามีบทบาทอย่างหนัก ในการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในกฎกติกาที่ได้เจรจาเพื่อที่เอสเอ็มอีจะได้ปรับขบวนการการผลิต เพื่อสอดคล้องกับสิ่งที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากการเจรจากับประเทศนั้น และขณะนี้เพิ่งเจรจาไปเพียง 2 ประเทศยังเหลืออีก 10 ประเทศ ยังมีเวลาพอในการรับมือเมื่อต้องมีการเปิดเขตการค้าเจรจาตามกติกาที่ได้ลงทุนกัน
-ชูอุตสาหกรรมอาหารไปไกล
นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า เร็วๆ นี้ ได้จัดสัมมนาการใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอาการภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์จากการทำข้อตกลงเอฟทีเอ ซึ่งจะมีผลช่วยให้สินค้าไทยได้ลดอัตราภาษีศุลกากรระหว่างไทยและประเทศคู่ค้า แต่ต้องเป็นสินค้าที่อยู่ในรายการที่กำหนดให้ได้ลดอัตราภาษีศุลกากร และเป็นสินค้าที่ผลิตและส่งออกถูกต้องตามกฎแหล่งกำเนิดสินค้า เป็นกฎทางการค้าระหว่างประเทศที่ใช้พิสูจน์แหล่งที่มาของสินค้า ซึ่งอุตสาหกรรมอาหารจะเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย
อุตสาหกรรมอาหารไทยจะได้รับประโยชย์อย่างมากจากการเปิดเจรจาเอฟทีเอในครั้งนี้ เพราะเป็นกลุ่มสินค้าที่เกือบ 100% เป็นวัตถุดิบที่ผลิตในประเทศ เช่น กุ้ง ซึ่งเมื่อพิสูจน์ที่มาของสินค้ามาจากถิ่นกำเนิดสินค้า ภาษีจะเท่ากับ 0% ทั้งนี้เป็นโอกาสในการส่งสินค้าเข้าไปประเทศนั้นๆ ได้มากขึ้น และเกิดการขายที่มากขึ้นตามมาก
-สปากังขาผลประโยชน์ที่ได้รับ
ขณะที่ธุรกิจบริการนั้น ล่าสุดสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้จัดสัมมนาระดมความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ ภายใต้หัวข้อ ความสามารถในการแข่งขันการค้าบริการกับประเภทคู้ค้าเจรจา FTA
โดยในที่ประชุม กล่าวถึงความคาดหวังของภาครัฐหวังที่จะส่งออกแรงงานไทยหรือเทอราปิสต์ ส่งออกผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยไปยังต่างประเทศ การขายแฟรนไชส์ รวมถึงโนว์ฮาว และการหลั่งไหลของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาใช้บริการสปาในไทย
ผู้ประกอบการสปา ได้แสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุมว่า น่าจะเป็นข้อเสียมากกว่าเพราะ 1. แรงงานไทยที่ไปนั้น ไปทำงานระดับล่าง ค่าแรงต่ำ ในขณะที่แรงงานที่ไหลเข้ามาในไทยเป็นผู้บริหารระดับกลาง ที่เงินเดือนสูง มีประสิทธิภาพสูง ทำให้ผู้บริหารระดับกลางหรือผู้ที่มีความรู้สูงของไทยหางานยาก
2.แรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ ผ่านการลงทุนด้านการฝึกอบรมจากผู้ประกอบการไทย การสูญเสียแรงงานจำนวนมากๆ และบ่อยๆ ทำให้สปาในประเทศมีปัญหาคุณภาพที่ไม่สม่ำเสมอ และลงทุนด้านบุคลากรมหาศาล ซึ่งเป็นความเสียหายของธุรกิจมาก
และ 3.การขายแฟรนไชส์หรือโนว์ฮาว หรือการให้คำปรึกษานั้น คาดว่าผู้ที่จะประสบความสำเร็จจะเป็นกลุ่มเชนสปาจากต่างประเทศมากกว่าผู้ประกอบการไทยเพราะทักษะการบริหารจัดการภาษาของต่างชาติดีกว่า
4.นักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการสปาต่ำๆ ไม่กี่ร้อยบาทควรจะมีมากขึ้น เมื่อเปิดการค้าเสรี แต่สปาต่างประเทศ ที่ชำนาญเฉพาะทาง เช่น ทรีทเม้นท์ล้างพิษหรือ Medical Spa ที่มีมูลค่าสูง จะหลั่งไหลมาเปิดธุรกิจในไทย ดังนั้นแม้ว่านักท่องเที่ยวอาจจะมากขึ้น แต่ประโยชน์จะตกอยู่กับสปาที่เป็นเครือต่างชาติ หรือสปาต่างประเทศที่ชำนาญเฉพาะทางมากกว่า
พร้อมทั้งเสนอแนะว่า กฎหมายที่รัฐควรเตรียมแก้ไข เช่น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ภูมิปัญญาไทย สิทธิบัตรยา คุ้มครองพรรณพืช เพราะเมื่อนำนวดไทย สปาไทยไปต่างประเทศ ก็อาจจะมีเรื่องถูกเอาเปรีบในเรื่องเหล่านี้ อีกทั้งการยกเลิกภาษีสรรพสามิต 10% สำหรับสปาที่มีความจำเป็นเพื่อให้ต้นทุนการใช้สปาต่ำลง
แต่หากมองกันที่ประเภทของการบริการ ที่ได้แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ก.นวดไทย ขัดผิว อบตัว ข.นวดแบบตะวันตก เช่น สวีดิช อะโรมา ขัดตัว พอกตัวด้วยผลิตภัณฑ์ต่างประเทศ และ ค.การให้บริการเพื่อสุขภาพ Medical Spa Holistic Spa นั้น
ประเภท ก. ไทยได้เปรียบในการแข่งขัน เพราะเป็นภูมิปัญญาไทย เป็นวัฒนธรรมที่ยากที่จะได้รับการลอกเลียนแบบ ผู้ให้บริการมีจิตใจงดงาม ยิ้มแย้มแจ่มใสและอ่อนหวาน แต่ประเภท ข. และ ค.ประเทศไทยเสียเปรียบ เพราะไม่มีภูมิความรู้ที่ดีพอ การอบรมที่ไม่ได้มาตรฐานเพราะไม่มีภูมิความรู้ที่ดีพอ การอบรมที่ไม่ได้มาตรฐาน เทคโนโลยีต่ำทำให้เสียเปรียบ
- สปาไทยในญี่ปุ่นสดใส
ขณะที่ความคืบหน้าการเจรจาเอฟทีเอไทย ญี่ปุ่น เรื่องสปานั้น แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานเขตการค้าเสรีไทย ญี่ปุ่น กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ล่าสุดญี่ปุ่นยอมอ่อนท่าทีเจรจาเอฟทีเอในเรื่องสปา และได้ตามที่เสนอไป โดยเฉพาะตำแหน่งของพนักงานระดับบริหาร (Spa Manager) ที่ขอเข้าไปทำงานที่ญี่ปุ่นนั้น ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ทางด้านสปาทรีตเม้นต์เพียงแค่บริหารงานได้ เช่นเดียวกับผู้เชี่ยวชาญด้านการนวดบำบัด เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นผ่อนปรนเงื่อนไขการออกใบอนุญาตประกอบอาชีพที่ต้องออกโดยรัฐบาลญี่ปุ่น หน่วยงานรัฐบาลไทยสามารถออกใบรับรองให้ได้ แต่ต้องมีประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องและจบการศึกษาระดับปริญญาตรี
สำหรับพนักงานนวดหรือเทราปิสต์ สามารถไปทำงานญี่ปุ่นได้โดยไม่ต้องผ่านข้อตกลงเอฟทีเอ เพียงแต่ต้องสอบรับใบประกาศนียบัตรของหน่วยงานญี่ปุ่นในรูปแบบของ Medical Spa เพียงอย่างเดียว
ฉวีวรรณ คงสุข เจ้าของกิจการสปาเอเชียไทย เฮลท์ แอนด์ สปา กล่าวว่า จะทำให้สปาไทยเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นได้ไม่ยาก ที่ผ่านมาภาพรวมนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการสปาในไทย เป็นนักท่องเที่ยวแถบเอเชีย อัตราเข้าใช้บริการอันดับหนึ่งได้แก่ฮ่องกง รองลงมาไต้หวันและเกาหลี ส่วนที่เหลือเป็นยุโรปและออสเตรเลีย
ด้าน ภัคมน อัศวภาคุณ กรรมการผู้จัดการ ซัมซาราสปา เพิ่มเติมว่า อาจจะมีนักลงทุนขยายธุรกิจเข้าไปในญี่ปุ่น จะให้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกบุคลากรด้านสปา เพิ่มขีดความสามารถและรายได้ให้กับประเทศสาขาหนึ่ง
-ท่องเที่ยว ภัตรคารอ่วม
ขณะที่ภาคธุรกิจโรงแรมและภัตรคาร นั้นผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองไปในทิศทางเดียวกันว่า จะมีการไหลเข้ามาของผู้บริหารระดับกลาง เพื่อมาบริหารกิจการในโรงแรมทำให้ประเทศไทยต้องเสียเงินตราจำนวนมาก ในการจ้างผู้บริหารจากต่างประเทศในขณะที่เราส่งแรงงานจำนวนมาก ซึ่งเป็นแรงงานระดับล่างออกนอกประเทศ เงินตราที่ไหลเข้าอาจจะไม่คุ้มกับเงินที่เสียไป
นอกจากนี้ผู้ประกอบการไทย ยังไม่มีความสามารถในด้านการบริหารจัดการ โรงแรมที่มีชื่อเสียงมักจะเป็นเชนจากต่างประเทศ มีผู้บริหารเป็นต่างประเทศมีความรู้ความสามารถเรื่องการตลาดและบริหารจัดการที่มีมาตรฐาน
ขณะเดียวกันโรงเรียนหรือสถานฝึกอบรม ทางด้านการจัดการในธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวในประเทศไทย อาจจะมีความสามารถในการฝึกอบรมแรงงานระดับล่างแต่ระดับบริหารนั้น ยังไม่สามารถมีมาตรฐานที่ดี เพราะนักศึกษาที่ฝึกออกมานั้นยังไม่สามารถทำงานระดับบริหารได้
ที่มา: สภาหอการค้าไทย www.thaiechamber.com
-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ