ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนาหรืออังค์ถัด ได้มีการรายงานเรื่องการลงทุนของโลกประจำปี 2548 โดยให้ความสนใจไปที่ประเทศและภูมิภาคที่เป็นปลายทางของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยในรายงานฉบับนี้ได้ระบุว่าบรรษัทข้ามชาติไม่ได้ลงทุนในกิจกรรมการผลิตในระดับนานาชาติเท่านั้นแต่ยังได้เพิ่มสัดส่วนของการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา (R & D) ในประเทศที่กำลังพัฒนาบางประเทศด้วย ทั้งนี้ในรายงานได้ตั้งข้อสังเกตุว่าในปี 2545 บรรษัทข้ามชาติได้ใช้จ่ายเงินเกือบครึ่งหนึ่งของการใช้จ่ายด้าน R & D ที่มีอยู่ 677 พันล้านเหรียญ หรือมากกว่า 2 ใน 3 ของการลงทุนในด้านนี้ของภาคธุรกิจ จุดที่เป็นที่น่าสนใจของรายงานของอังค์ถัดซึ่งได้พบว่าธุรกิจขนาดใหญ่ได้มีการเคลื่อนย้ายฐานการวิจัยและการพัฒนาไปยังต่างประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ 1990 และได้ค้นพบสิ่งใหม่ในรายงานฉบับนี้คือ การวิจัยและการพัฒนาเหล่านั้นได้มีการเคลื่อนย้ายไปสู่ประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะเอเซีย โดยมีประเทศจีน อินเดีย และสิงคโปร์ เป็นฐานการลงทุนด้าน R & D ที่มีมูลค่ามากว่าครึ่งหนึ่งของการลงทุนด้านนี้ในอันดับต้นของโลก
สำหรับภาพรวมของทั่วโลก นายมารินูส ดับเบิ้ลยู ซิกเกล ตัวแทนอังค์ถัด ได้เปิดเผยว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของทั้งโลกมีการขยับตัวขึ้นเล็กน้อย โดยในปี 2547 เพิ่มขึ้น 2% มาอยู่ที่ระดับ 648 พันล้านดอลลาร์ โดยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นอันดับต้นๆ และเพิ่มขึ้นถึง 40% คิดเป็น 233 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วมีแนวโน้มที่ลดลง 14% มาอยู่ที่ระดับ 380 พันล้านดอลลาร์ซึ่งประมาณ 36% ของ FDI ทั้งหมดในปี 2547 ไหลเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ ประเทศที่มี FDI สูงสุด 10 อันดับแรกเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาถึง 7 ประเทศ ขณะที่ประเทศที่มีการลดลงของ FDI มากที่สุด 10 อันดับล้วนมาจากประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหมด ทั้งนี้ ระดับ FDI ที่ลงทุนในภูมิภาคเอเซียและโอเซียเนียเพิ่มสูงที่สุด รองลงมาคือละตินอเมริกาและแคริเบียน ส่วนแอฟริกายังอยู่ในระดับคงที่ โดยประเทศที่กำลังพัฒนาที่รับเงินลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด 5 อันดับได้แก่ จีน ฮ่องกง บราซิล เม็กซิโก และสิงคโปร์ โดยมีเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมีมูลค่า 148 พันล้านดอลลาร์
ประเด็นวิเคราะห์
การกระจายฐานการวิจัยและพัฒนาของบรรษัทข้ามชาติในต่างประเทศที่ได้มีการลงทุนในประเทศภูมิภาคเอเซีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ระดับของ FDI เพิ่มขึ้นสูงที่สุดโดยเฉพาะในประเทศจีน โดยจีนเป็นแหล่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากที่สุด มีเม็ดเงินลงทุนอยู่ในระดับ 60.6 พันล้านดอลลาร์ รองลงมาก็คือ ฮ่องกง มีเงินลงทุนประมาณ 34 พันล้านดอลลาร์ โดยเมื่อจำแนกเม็ดเงิน FDI ในระดับอนุภูมิภาคของเอเซียพบว่า เอเซียตะวันออกยังเป็นเป้าหมายสำคัญในการลงทุนมีการไหลเข้าของ FDI เพิ่มขึ้น 46% ส่วนในเอเซียตะวันตกมีการเติบโตมากที่สุดคิดเป็น 51% เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน การกระจายความเสี่ยง และการเปิดเสรีในการลงทุน ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วมีระดับของ FDI ผันผวนอย่างเห็นได้ชัดโดยมีกระแสเงินลงทุนเข้าสู่สหรัฐลดลง 62% คิดเป็น 96 พันล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ อังค์ถัด ยังเชื่อว่าการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องในนโยบายด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจะทำให้ภูมิภาคเอเซียยังมีโอกาสที่ดีสำหรับการลงทุนทั้งขาเข้าและขาออก
ที่มา: http://www.depthai.go.th