เศรษฐกิจไทยกับค่าเงินบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 15, 2006 14:21 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          นายโฆษิต  ปั้นเปี่ยมรัษฎ์  รองนายกรัฐมนตรีและรมว.อุตสาหกรรม และนายชาติศิริ  โสภณพานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ มีความเห็นในแนวทางเดียวกันว่า ความผันผวนของค่าเงินบาทเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ที่อาจทำให้เศรษฐกิจเติบโตไม่ได้ตามประมาณการที่ 4-5 % เพราะส่งผลกระทบต่อการบริหารงานภาคธุรกิจอย่างมาก อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5%  สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2550 โดยรวมถือว่ายังขยายตัวดี โดยมีปัจจัยเสริมจากการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัว 12 % อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง และเงินเฟ้อไม่สูงมาก ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังมีต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ เช่น บมจ. ปตท. และ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย ยังมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้รับคำยืนยันจาก ธปท.ว่า จะมีมาตรการออกมาดูแลค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง และในส่วนของกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า จะไม่มีมาตรการอะไรออกมาช่วยเหลือผู้ส่งออกเพราะถือว่าการส่งออกยังไปได้
น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์ประจำประเทศไทย ธนาคารโลก ระบุว่านโยบายการลดดอกเบี้ยเพื่อให้เงินทุนไหลเข้าลดลง อาจไม่ช่วยแก้ปัญหาได้ เนื่องจากนักค้าเงินที่เข้ามาลงทุนในเงินบาทไม่ได้มองเรื่องอัตราดอกเบี้ยอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญกับพื้นฐานเศรษฐกิจ ซึ่งปีนี้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุล และพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยยังแข็งแกร่ง ทำให้เงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง ส่วนเงินบาทที่แข็งค่าที่สุดในรอบ 9 ปี เชื่อว่าจะไม่ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เพราะไทยมีทุนสำรองจำนวนมาก
นายโดมินิก แวน เดอร์ แมนสเบิร์ก ผู้เขียนและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำกลุ่มแนวโน้มเศรษฐกิจ ธนาคารโลก กล่าวว่า เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะจีนและอินเดีย เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ โดยคาดว่าเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในปี 2549 จะเติบโตถึง 7% และชะลอตัวตัวเล็กน้อยที่ 6% ในปี 2550และ2551 โดยยังต้องจับตาปัญหาความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะทำให้เกิดการไหลออกของเงินทุนจากสหรัฐ ที่กำลังประสบปัญหาขาดดุลการค้าเข้ามายังประเทศแถบเอเชีย แต่เชื่อว่าการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐยังไม่ถึงจุดต่ำสุด และไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลที่เงินทุนจะไหลมายังประเทศแถบเอเชีย หากเอเชียมีระบบการจัดการที่ดีซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว เพราะจะเป็นการสร้างความสมดุลของเศรษฐกิจโลก
ในขณะเดียวกัน ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการคลัง การธนาคารและสถาบันการเงินสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับหนังสือร้องเรียนขอให้ตรวจสอบกรณีค่าเงินบาทแข็งตัวผิดปกติ เนื่องจากกลุ่มสหกรณ์การเกษตรชาวสวนยางพารา และนักธุรกิจ ได้รับความเดือดร้อนกันมานาน ดังนั้น จะพิจารณาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนในวันพุธที่ 20 ธันวาคม 2549 โดยจะเชิญผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มาชี้แจงถึงสาเหตุ และแนวทางการแก้ไขปัญหา
ประเด็นวิเคราะห์
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเอกชนจะสามารถปรับตัวรองรับการแข็งค่าของเงินบาทไปในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะเอกชนรายใหญ่ ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า การที่ค่าเงินบาทแข็งค่า ทำให้ภาคเอกชนมีต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงเพิ่มขึ้น และธปท.เองก็มีต้นทุนที่สูงขึ้นในการเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาท ดังนั้น เมื่อปัญหาเกิดจากปัจจัยภายนอก ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันหาแนวทางป้องกันและแก้ไข โดยนายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ธปท.อาจจะกำหนดการเก็บภาษีกับกลุ่มนักลงทุนที่ลงทุนในระยะสั้น หรือออกมาตรการยกเว้นภาษีเงินลงทุนอายุเกินกว่า 6 เดือน ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการปิดกั้นการลงทุน แต่เป็นการปกป้องธุรกิจในประเทศ
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ