จากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเป็นลำดับด้วยความกังวล หลังมีข่าวธนาคารแห่งประเทศไทย จะแถลงถึงมาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาท ก็ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นางธาริษา วัฒนเกส แถลงในวันที่ 19 ธค. 2549 ว่า ธปท.ได้ออกมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทเพิ่มเติม โดยกำหนดให้สถาบันการเงินที่รับซื้อหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาท ในวงเงินตั้งแต่ 20,000 เหรียญสหรัฐขึ้นไป ต้องกันเงินสำรองเป็นเงินตราต่างประเทศไว้จำนวน 30% ของจำนวนที่แลกเปลี่ยน ซึ่งเมื่อพ้น 1 ปี สถาบันการเงินจึงจะคืนเงิน 30 % ให้นักลงทุน ยกเว้นเงินตราต่างประเทศที่ได้รับจากการส่งออก และเงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) ซึ่งจะต้องแสดงหลักฐานแก่สถาบันการเงิน และสถาบันการเงินต้องรายงานการทำธุรกรรมดังกล่าวแก่ ธปท.ทุกวันที่ 7 ของเดือน กรณีลูกค้าขอรับเงินที่กันสำรองไว้ 30 % ก่อนครบ 1 ปี จะได้รับเงินคืนเพียง 2 ใน 3 ของจำนวนเงินที่ได้ถูกกันสำรองไว้
ทั้งนี้ ผู้ส่งออก นักการตลาดและนักการธนาคารหลายท่าน ได้ให้ความเห็นตรงกันว่า มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการกึ่งภาษีแต่ไม่ใช่การเก็บภาษี ซึ่งในระยะสั้นถือว่าได้ผลดีเพราะหลังจากประกาศมาตรการเงินบาทได้ปรับอ่อนค่าลงทันที โดยเชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะมีผลในการชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้ในระยะยาว และทำให้เงินทุนไหลเข้าเริ่มลดลง เนื่องจากต้นทุนในการเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น รวมทั้งเห็นว่าวิธีการนี้จะใช้ป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาทได้ดีที่สุด และจะส่งผลดีต่อผู้ส่งออกและเศรษฐกิจของไทย แต่อย่างไรก็ตามคงต้องดูถึงการปฏิบัติจริงว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไร สำหรับตลาดหุ้นเชื่อว่าไม่น่าจะมีผลกระทบในระยะยาว
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทยฯวันที่ 20 ธค. 2549 ว่า หลังจากมาตรการป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาทที่ ธปท.ประกาศออกมาให้กันสำรองการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 30% ไว้ 1 ปี จนส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น ทำให้ดัชนีลดลงอย่างรุนแรงกว่า 108 จุด อย่างไรก็ตาม จากการหารือร่วมกันของผู้เกี่ยวข้องกับตลาดทุน จะมีการแก้ไขมาตรการดังกล่าว โดยเงินทุนไหลเข้าที่เป็นเงินลงทุนโดยตรงและเข้าลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่ต้องหักการสำรองไว้ 30% ส่วนเงินทุนไหลเข้าเพื่อเก็งกำไรโดยเฉพาะที่ลงทุนในตราสารหนี้ยังใช้มาตรการดังกล่าวเหมือนเดิม และมั่นใจว่า วันนี้(20 ธค.)นักลงทุนต่างชาติจะเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทยตามปกติ
ประเด็นวิเคราะห์
มาตรการดังกล่าวที่ออกมานั้น ได้ป้องกันการเก็งกำไรระยะสั้น ซึ่งก็ส่งผลชัดเจนให้ค่าเงินบาทอ่อน และช่วยผู้ส่งออกได้แต่ก็ยอมรับว่ามีผลข้างเคียงในส่วนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ โดยหลายฝ่ายเชื่อว่ามาตรการนี้ถือว่าเดินมาถูกทางแล้วที่จะช่วยทำให้ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงมาได้ และคาดว่าสักระยะหนึ่งตลาดทุนน่าจะกลับเข้ามาสู่ภาวะปกติได้
ที่มา: http://www.depthai.go.th