พยากรณ์อากาศเกษตรรายปักษ์ ระหว่าง วันที่ 1-15 กันยายน พ.ศ. 2549

ข่าวทั่วไป Friday September 1, 2006 14:24 —กรมอุตุนิยมวิทยา

          พยากรณ์อากาศเกษตรรายปักษ์
ระหว่าง วันที่ 1-15 กันยายน พ.ศ. 2549 ฉบับที่17/2549
สภาวะอากาศ
ในระยะครึ่งแรกของเดือนกันยายนร่องความกดอากาศต่ำจะพาดผ่านภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่น โดยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากส่วนมากบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก สภาวะฝนตกชุกหนาแน่นในบางช่วงนี้อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งขึ้นได้ในบางพื้นที่
ข้อควรระวัง
ในระยะครึ่งแรกของเดือนนี้อาจมีพายุหมุนเขตร้อนก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก และอาจเคลื่อนตัวผ่านประเทศฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ โดยมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนเข้ามาใกล้และเคลื่อนผ่านด้านตะวันออกของประเทศไทยได้ ซึ่งจะทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น เป็นผลให้บริเวณประเทศไทยมีฝนตกเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในแนวที่มีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่าน และอาจเกิดพายุคลื่นซัดฝั่งบริเวณชายฝั่งภาคตะวันออก รวมทั้งภาคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและคำเตือนเรื่องพายุหมุนเขตร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยาไว้ด้วย
สภาวะอากาศที่มีผลกระทบต่อการเกษตร
เนื่องจากในระยะนี้จะมีฝนเพิ่มขึ้นกว่าระยะที่ผ่านมา ซึ่งบางพื้นที่จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก อาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมได้ เกษตรกรควรขุดลอกคูคลองและทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก รวมทั้งเตรียมหาจุดที่จะเคลื่อนย้าย สัตว์เลี้ยงไปไว้ในที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง หากเกิดสภาวะน้ำท่วม นอกจากนี้เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการเดินย่ำน้ำที่สกปรก หากมีความจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ต เพื่อป้องกันโรคฉี่หนู
ไม้ผล สำหรับไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่ง แล้วทารอยแผลด้วยสารป้องกันเชื้อรา รวมทั้งควรกำจัดวัชพืชในสวน เพื่อไม่ให้แย่งอาหารจากไม้ผล
ยางพารา ในช่วงมีฝนตกติดต่อกัน ทำให้อากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า และโรคหน้ากรีดยาง
สัตว์น้ำ ในช่วงที่ฝนตกชุกเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่ง ควรดูแลสภาพน้ำ อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพราะจะทำให้สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน ทำให้อ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย
กลุ่มอุตุนิยมวิทยาเกษตร สำนักพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา โทร 02-3992322
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ