พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร ตั้งแต่วันที่ 10 - 16 สิงหาคม 2548

ข่าวทั่วไป Thursday August 11, 2005 07:18 —กรมอุตุนิยมวิทยา

          พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร
วัน พุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2548
คาดหมายลักษณะอากาศเพื่อการเกษตรใน 7 วันข้างหน้า
ตั้งแต่วันที่ 10-16 สิงหาคม 2548
ระยะนี้ร่องความกดอากาศต่ำหรือร่องฝนยังคงพาดผ่านภาคเหนือและตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเกือบตลอดช่วง ลักษณะเช่นนี้จะทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไปและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ อนึ่ง พายุดีเปรสชั่นในทะเลจีนใต้ตอนบนเมื่อเวลา 07.00 น. (10 ส.ค.48) คาดว่า จะเคลื่อนตัวเข้าใกล้าอ่าวตังเกี๋ยและขึ้นสู่ฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในระยะต่อไป
# ข้อควรระวัง # ระยะนี้บริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนห่างฝั่งมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ
ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่างๆในระยะ7วันข้างหน้ามีดังนี้
เหนือ
ลักษณะอากาศ
# มีฝนฟ้าคะนอง 70-80% ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางด้านตะวันตกและตอนบนของภาค ส่วนมากในช่วงวันที่ 10-13 ส.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตอนเช้า 95 % ตอนบ่าย 70%
ผลกระทบต่อการเกษตร
# บริเวณที่มีฝนตกทำให้อากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรที่ปลูกมะขามหวานควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคราแป้ง ซึ่งจะทำให้ใบร่วงและฝักเสียหาย หากพบการระบาดของโรคดังกล่าวควรตัดส่วนที่เป็นโรคไปทำลาย รวมทั้งเก็บรวบรวมฝักและใบที่เป็นโรคและร่วงหล่นไปกำจัด
ตะวันออกเฉียงเหนือ
ลักษณะอากาศ
# มีฝนฟ้าคะนอง 70-80% ของพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางตอนบนของภาค ในช่วงวันที่ 10-13 ส.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตอนเช้า 95 % ตอนบ่าย 70%
ผลกระทบต่อการเกษตร
# ในช่วงที่มีฝนตก เกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคใบจุด ซึ่งจะทำให้ใบเสียหาย ต้นชะงักการเจริญเติบโต ดังนั้นหากพบการระบาดของโรคดังกล่าวควรตัดใบที่เป็นโรคไปทำลาย เพื่อป้องกัน เชื้อโรคแพร่ไปยังต้นอื่นๆ นอกจากนี้ควรกำจัดวัชพืชบริเวณแปลงปลูกเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค
กลาง
ลักษณะอากาศ
# มีฝนฟ้าคะนอง 50-70% ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางด้านตะวันตก ของภาค ในช่วงวันที่ 10-13 ส.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตอนเช้า 95 % ตอนบ่าย 65%
ผลกระทบต่อการเกษตร
# บริเวณที่มีฝนตกเกษตรกรที่ปลูกผักตระกูลแตงควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งมักระบาดในช่วงที่อากาศมีความชื้นสูง ทำให้ใบแห้ง ต้นชะงักการเจริญเติบโต หากพบการระบาดของโรคดังกล่าวควรเก็บใบหรือส่วนที่เป็นโรคไปกำจัด
ตะวันออก
ลักษณะอากาศ
# มีฝนฟ้าคะนอง 50-70% ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักบางแห่งตามบริเวณเทือกเขาและชายฝั่ง ในช่วงวันที่ 10-13 ส.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตอนเช้า 95 % ตอนบ่าย 70%
ผลกระทบต่อการเกษตร
# บริเวณมีฝนตกโดยเฉพาะทางตอนล่างของภาค เกษตรกรที่ปลูกมะม่วงควรระวังและป้องกันการระบาดของ โรคราสีชมพู ซึ่งจะทำให้ใบร่วงหล่น กิ่งแห้งตาย ต้นชะงักการเจริญเติบโต ดังนั้นจึงควรหมั่นสำรวจสวนหากพบการระบาดของโรคดังกล่าวควรรีบกำจัด และเก็บใบที่ร่วงหล่นไปทำลาย
ใต้
ลักษณะอากาศ
# ฝั่งตะวันออกมีฝนฟ้าคะนอง 30-50% ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.
# ฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนอง40-60% ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางตอนบนของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตอนเช้า 95% ตอนบ่าย 65%
ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตอนเช้า 95% ตอนบ่าย 65%
ผลกระทบต่อการเกษตร
# ชาวสวนทุเรียนควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคผลเน่า โรคจุดสนิม หนอนเจาะผลและเมล็ด ซึ่งจะทำให้ผลเน่าเสียและร่วงหล่น หากพบการระบาดของโรคและศัตรูพืชดังกล่าวควรรีบกำจัด โดยตัดส่วนที่เป็นโรคเก็บผลที่เน่าเสียและร่วงหล่นไปเผา ไม่ควรกองสุมไว้ในสวน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคและศัตรูพืช
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ