การเจรจารอบโดฮาล้มเหลว การกีดกันจะเพิ่มขึ้น การค้าโลกจะหดหาย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 31, 2006 15:56 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          การเจรจารอบโดฮาของ WTO หยุดชะงักอย่างไม่มีกำหนด หลังจากการประชุมรัฐมนตรี กลุ่ม G-6 ล้มเหลว ไม่สามารถหาข้อสรุปในการเจรจาสินค้าเกษตรและการเปิดสินค้าอุตสาหกรรมได้ 
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การเจรจารอบโดฮาเข้าสู่ภาวะชะงักงันอีกครั้งหลังจากการประชุมรัฐมนตรีกลุ่ม G-6 ที่ประกอบด้วยสหรัฐฯ สหภาพยุโรป อินเดีย บราซิล ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ในระหว่างวันที่ 23 — 24 กรกฎาคม 2549 ที่เจรจากันข้ามคืนกว่า 14 ชั่วโมงล้มเหลว เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่ต้องการที่จะลดการอุดหนุนภายในสินค้าเกษตร และกลับอ้างว่าสหภาพฯ ญี่ปุ่น และ อินเดีย ไม่ปรับปรุงข้อเสนอเรื่องการเปิดตลาดสินค้าเกษตร และ บราซิลไม่ปรับปรุงข้อเสนอเรื่องการเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรม สาเหตุดังกล่าวทำให้ผู้อำนวยการใหญ่ WTO เสนอให้ระงับการประชุมไว้ชั่วคราวโดยไม่มีกำหนด
การเจรจารอบโดฮาที่หยุดชะงักไปนี้ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อระบบการค้าโลก โดยความเชื่อมั่นในระบบการค้าพหุภาคี หรือ WTO จะลดลงอย่างมาก ประเทศสมาชิกจะหันมาจัดทำ FTA มากขึ้น โดยเฉพาะ สหภาพฯ และ สหรัฐฯ ซึ่งมีอำนาจการต่อรองสูงกว่า และต้องการเปิดตลาดของประเทศคู่เจรจา แต่ไม่ต้องการปรับปรุงกฎเกณฑ์การค้าที่จะมีผลกระทบต่อกฎหมายภายในของตนและการค้าสินค้าเกษตรของโลกจะถูกบิดเบือนต่อไป กล่าวคือ จะยังมีอัตราภาษีสูง อัตราภาษีขั้นบันได ประเทศที่ร่ำรวยจะยังคงให้การอุดหนุนภายในและอุดหนุนการส่งออกต่อสินค้าเกษตรในอัตราสูงต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้การแข่งขันไม่เป็นธรรม ประเทศกำลังพัฒนาจะมีรายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรลดลง เนื่องจาก ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกจะตกต่ำ นอกจากนี้ จะมีการละเมิดกฎเกณฑ์ของ WTO และใช้มาตรการภาษีและที่ไม่ใช่ภาษีมากขึ้น เช่น มาตรการต่อต้านการอุดหนุน มาตรการสุขอนามัยพืช คน และสัตว์ มาตรการอุดหนุน และมาตรการปกป้อง เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศสมาชิกฟ้องร้องกันมากขึ้น
จากการคาดการณ์ของ World bank มูลค่าการค้าของโลกที่คาดว่าจะเติบโตถึง 3 แสนล้านสหรัฐฯ และมูลค่าการค้าของประเทศกำลังพัฒนาที่คาดว่าจะเติบโตถึง 9 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2015 หากการเจรจารอบโดฮาประสบความสำเร็จ จะหายไป
สำหรับผลกระทบโดยตรงต่อไทยที่ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตรนั้น คือไทยจะยังคงเผชิญกับมาตรการกีดกันและบิดเบือนทางการค้าสินค้าเกษตรต่อไป โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น ข้าว มัน ไก่ น้ำตาล ที่มีมูลค่าการส่งออกกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะยังคงเผชิญกับอัตราภาษีสูงในสินค้าข้าวของญี่ปุ่น 777 % เนื้อไก่แคนาดา 238 % มันสำปะหลังเกาหลี 887% และ การอุดหนุนภายในสินค้าข้าวของสหภาพฯ 556 ล้านยูโร ของสหรัฐฯ 607 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การอุดหนุนสินค้าน้ำตาลของสหภาพฯ 5,800 ล้านยูโร ของสหรัฐฯ 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมทั้งการอุดหนุนส่งออกสินค้าข้าวของสหภาพฯ 30 ล้านยูโร ของสหรัฐฯ 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การอุดหนุนส่งออกสินค้าน้ำตาลของสหภาพฯ 400 ล้านยูโร การอุดหนุนส่งออกสินค้าไก่ของสหภาพฯ และสหรัฐฯ 120 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจากรายงานของ OECD ระบุว่าการอุดหนุนส่งออกทำให้ราคาสินค้าข้าวในตลาดโลกต่ำกว่าราคาต้นทุนถึงร้อยละ 35
นอกจากนี้ ไทยจะยังต้องเผชิญกับการใช้มาตรการภาษีและที่ไม่ใช่ภาษีมากขึ้น เช่น การถูกเรียกเก็บอัตราภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดของสหรัฐฯที่ใช้วิธีการคำนวณที่ขัดกับกฎเกณฑ์ของWTO และกำหนดให้วางพันธบัตรค้ำประกันล่วงหน้าในอัตราสูง รวมทั้งมีความเป็นไปได้สูงที่ไทยจะสูญเสียตลาดใหม่ในกลุ่มอัฟริกา ลาตินอเมริกา และ เอเชีย ในการแข่งขันสินค้าอุตสาหกรรม เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เครื่องประดับ เป็นต้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ