ในปัจจุบันได้มีประเทศต่างๆ ได้บรรลุการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีเอฟทีเอแล้วกว่า 300 คู่ทั่วโลกและมีผลบังคับใช้ไปแล้วครึ่งหนึ่ง โดยในจำนวนนี้สหรัฐซึ่งเป็นมหาอำนาจของโลกได้จัดทำเอฟทีเอมากที่สุดโดยได้ลงนามแล้วกว่า 14 ประเทศคือ อิสราเอล แคนาดา เม็กซิโก จอร์แดน ชิลี สิงคโปร์ ออสเตรเลีย โม ร็อกโก เอลซัลวาดอร์ นิการากัว ฮอนดูรัส บาห์เรน โดมินิกัน และคอสตาริกา ในขณะเดียวกันจะพบว่าคู่แข่งของไทยในเวทีโลกกำลังเร่งเจรจาเพื่อจัดทำเอฟทีเอเป็นจำนวนมากซึ่งในหลายประเทศได้แซงหน้าไทยแล้ว เช่นในกลุ่มอาเซียนด้วยกันเอง มาเลเซียได้ลงนามกับญี่ปุ่นและกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากับสหรัฐและนิวซีแลนด์ ส่วนอินโดนีเซียและเกาหลีใต้อยู่ระหว่างการเจรจา
ขณะที่บรรยากาศการแข่งขันในการเจรจาเพื่อจัดทำเอฟทีเอของโลกกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น ในส่วนของไทยกลับอยู่ในภาวะซบเซาเนื่องจากการที่รัฐบาลได้ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งส่งผลกระทบชะงักงันของการเจรจาเอฟทีเอของไทย อย่างไรก็ดีภายใต้การชะงักงันของเอฟทีเอไทยจะพบว่าได้มีผลกระทบเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน เช่น สินค้าเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งตลาดหลักอยู่ที่สหรัฐกว่า 50% ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้การส่งออกขยายตัวเพียง 3% ในขณะที่ญี่ปุ่นลดลงหรือติดลบ 2.04% ด้านสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งเป็นสินค้าที่ใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี) ส่งออกไปสหรัฐมากที่สุด โดยล่าสุดในการพิจารณาให้จีเอสพีโครงการใหม่ของสหรัฐที่จะเริ่มขึ้นในเดือนมกราคม 2550 สหรัฐได้จัดให้ไทยอยู่ในกลุ่ม 13 ประเทศที่จะพิจารณาจำกัดหยุดพักหรือเพิกถอนการให้สิทธิพิเศษ เนื่องจากก่อนหน้านี้สหรัฐได้กดดันให้ไทยเร่งเจรจาเอฟทีเอให้แล้วเสร็จก่อนที่กฎหมายส่งเสริมการค้าของสหรัฐจะหมดอายุลงในเดือนมิถุนายน 2550 อีกทั้งรัฐบาลไม่ได้ติดตามเพื่อล็อบบี้ในเรื่องจีเอสพีจึงส่งผลกระทบความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดสหรัฐซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งอย่างรุนแรง
การชะงักงันของการเจรจาข้อตกลงเอฟทีเอได้ส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนญี่ปุ่นและสหรัฐที่จะเข้ามาลงทุนขยายธุรกิจหรือร่วมพัฒนาสินค้าในไทยเพื่อส่งออกไปยังญี่ปุ่นหรือสหรัฐ โดยก่อนหน้านี้นักลงทุนญี่ปุ่นได้ประกาศที่จะลงทุนในไทยไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาทหากทั้งไทยและญี่ปุ่นสามารถบรรลุข้อตกลงเอฟทีเอระหว่างกันได้แต่ในขณะนี้ได้มีข่าวว่านักลงทุนหลายรายได้เริ่มเตรียมแผนย้ายการลงทุนไปยังประเทศอื่นแล้ว
ประเด็นวิเคราะห์
จากวิกฤตทางการเมืองของไทยที่มีผลให้การจัดทำเอฟทีเอชะงักลงชั่วคราวซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่าได้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีโลกอย่างชัดเจน ขณะที่เอฟทีเอซึ่งถือได้ว่าเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งของไทย จำเป็นจะต้องรับไว้เพื่อใช้เป็นอาวุธหรือแต้มต่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก
ที่มา: http://www.depthai.go.th