ไทยได้ประโยชน์ของสหรัฐฯจากการขยายสมาชิกภาพของอียู

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 16, 2006 16:24 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          นางอภิรดี  ตันตราภรณ์  อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า  ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการที่สหรัฐฯประสบความสำเร็จในการเจรจาให้สหภาพยุโรป (อียู) ชดเชยผลกระทบจากการขยายสมาชิกภาพของอียู โดยมีสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์ คือ ไก่สด  แช่เย็นหรือแช่แข็ง ตัดเป็นชิ้น น้ำตาลดิบ อาหารปรุงแต่งทำจากธัญพืช  น้ำผลไม้  น้ำองุ่น  อาหารปรุงแต่งอื่นๆ และอาหารสำหรับสุนัขและแมว
ภายหลังจากการขยายสมาชิกภาพของอียูจากเดิม 15 ประเทศ เป็น 25 ประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 โดยประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ของอียู ได้แก่ ไซปรัส สาธารณรัฐเชก เอสโตเนีย ฮังการี แลตเวีย ลิธัวเนีย มอลตา โปแลนด์ สโลวาเกีย และสโลวีเนีย ส่งผลให้ภาษีนำเข้าสินค้าบางรายการที่ผู้ส่งออกต้องเสียต่อประเทศสมาชิกใหม่ทั้ง 10 ประเทศมีอัตราภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งตามระเบียบขององค์การการค้าโลก ประเทศผู้เสียหายมีสิทธิขอเจรจากับอียูเพื่อรับการชดเชยในสินค้าที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว
นางอภิรดี กล่าวว่า สหรัฐฯก็เป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน จึงได้เจรจาขอชดเชยผลกระทบจากการขยายสมาชิกภาพของอียู และประสบความสำเร็จได้รับการชดเชย โดยอียูได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2549 แจ้งให้ทราบถึงผลการชดเชยสินค้าต่างๆ จำนวน 50 รายการ ซึ่งบางรายการเปิดโควตาให้แก่สมาชิกองค์การการค้าโลกได้รับสิทธิประโยชน์เป็นการทั่วไป ในส่วนของไทยสินค้าที่ไทยน่าจะได้ประโยชน์ คือ
- ไก่สด แช่เย็นหรือแช่แข็ง ตัดเป็นชิ้น ขยายโควตาเพิ่มขึ้น 4,070 ตัน
- น้ำตาลดิบให้โควตาเพิ่มขึ้น 1,413 ตัน
- อาหารปรุงแต่งทำจากธัญพืช เปิดโควตาให้มีการนำเข้า 191 ตัน โดยเก็บภาษีในโควตา 33%
- น้ำผลไม้เปิดโควตาให้มีการนำเข้า 7,044 ตัน โดยเก็บภาษีในโควตา 20%
- น้ำองุ่นให้โควตาเพิ่มขึ้น 29 ตัน
- อาหารปรุงแต่งอื่นๆ เปิดโควตาให้มีการนำเข้า 921 ตัน โดยเก็บภาษีในโควตา 18%
- อาหารสำหรับสุนัขและแมว เปิดโควตาให้มีการนำเข้า 2,058 ตัน โดยเก็บภาษีอาหารสุนัขและแมวในโควตาในโควตา 7%
ทั้งนี้การชดเชยดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ 6 สัปดาห์ หลังจากที่อียูได้ออกประกาศแล้วหรือประมาณวันที่ 23 มิถุนายน 2549
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ