นายกสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออกไทย นายแพทย์อนันต์ ศิริมงคลเกษม ได้แสดงความกังวลถึงอนาคตอุตสาหกรรมการผลิตส่งออกไก่ไทย เนื่องจากสหภาพยุโรป (อียู) กำลังเตรียมที่จะประกาศปรับเพิ่มภาษีนำเข้าไก่ปรุงสุก โดยการจำกัดปริมาณการนำเข้าและนำระบบโควตาภาษีมาใช้ ด้วยการกำหนดภาษีในโควตาร้อยละ 10.9 และภาษีนอกโควตาสูงถึง 102 ยูโรต่อ 100 กิโลกรัม ทั้งนี้ประเทศไทยมีเวลาเจรจาเพื่อขอชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นภายในเวลา 90 วันนับจากวันที่ 15 มิถุนายน 2549
ผลจากการเจรจาชดเชยความเสียหายกับสหภาพยุโรปทั้ง 2 รอบของไทยสรุปว่าตัวเลขนำเข้าไก่ที่อียูเสนอมายังไม่เป็นที่น่าพอใจ ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการเจรจากับอียูเป็นรอบที่ 3 ซึ่งเดิมกำหนด ไว้ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2549 แต่อียูขอเลือนกำหนดการเจรจาออกไปก่อน และคาดว่าจะเจรจารอบที่ 3 ได้ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน โดยให้เหตุผลว่าอียูจะต้องเจรจาชดเชยกับบราซิล ซึ่งเป็นผู้ส่งออกไก่หมักเกลือมากที่สุดให้เรียบร้อยก่อน พร้อมกับแจ้งไทยว่าจะให้ข้อเสนอที่เท่าเทียมกันทั้งไทยและบราซิล
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ได้มีข้อสรุปผลการเจรจาระหว่างอียู กับบราซิล โดยมีรายละเอียด คือ
- ไก่หมักเกลือ ปี 2000-2002 = 35.04% จะได้โควตา 92,659 ตัน ซึ่งเป็นที่พอใจของบราซิล
- ให้โควต้าไก่ปรุงสุกปริมาณ 230,473 ตัน โดยใช้วิธีคำนวณโดยการนำปริมาณการนำเข้าไก่ของอียูปีล่าสุด (2005)+%Growth Rate ปีล่าสุด ซึ่งเมื่อคำนวณออกมาแล้ว บราซิลจะได้โควตา 72,529 ตัน ในขณะที่ไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกไก่ปรุงสุกเป็นอันดับหนึ่งในตลาดอียูได้โควตาเพียง 144,092 ตัน
จากข้อสรุประหว่างอียูและบราซิลในเรื่องโควตาการนำเข้าไก่ปรุงสุก เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าการส่งออกไก่ไทยไปอียูมีโอกาสขยายตัวได้อีกเพียง 1-2 ปีเท่านั้น เนื่องจากปริมาณโควตาที่จำกัด และปริมาณการนำเข้านอกโควตาซึ่งมีอัตราภาษีสูงถึง 1,024 ยูโร/ตัน หรือร้อยละ 53 นับเป็นอัตราภาษีนำเข้าที่สูงถึง 4 เท่าตัว ซึ่งในทางธุรกิจไม่สามารถจะทำได้ นอกเสียจากอียูจะเกิดปัญหาการขาดแคลนอาหารในประเทศอย่างรุนแรงจึงจะมีการนำเข้านายแพทย์อนันต์ นายกสมาคมฯ ได้ให้ความเห็นว่าหากไทยได้จำนวนโควตาตามที่อียูเสนอมา (1.4-1.5 แสนตัน/ปี) อุตสาหกรรมไก่ไทยจะถึงทางตันภายใน 1-2 ปี ข้างหน้าอย่างแน่นอนดังนั้นแนวทางการเจรจาของรัฐบาลไทยควรจะต่อรองให้อียูเพิ่มโควตาอย่างต่ำต้องไม่น้อยกว่า 2 แสน ตัน/ปี และในช่วงเวลานี้ไทยจะได้ปรับตัวหาช่องทางตลาดไก่ปรุงสุกในยุโรป เพื่อให้ปริมาณการส่งออกไก่ปรุงสุกเป็นไปตามเป้าหมาย
ประเด็นวิเคราะห์
เนื่องจากอียูต้องการปกป้องอุตสาหกรรมไก่ในประเทศ อียูจึงได้นำมาตรการโควตาภาษีมาบังคับใช้ เพราะหลังจากที่เกิดโรคไข้หวัดนกระบาดในประเทศไทย อียูจึงประกาศห้ามนำเข้าไก่สดจากไทยผู้ประกอบการจึงต้องหันมาผลิตไก่สุกกันมากขึ้น จนอัตราส่งออกเพิ่มสูงขึ้นถึงปีละ 30-40% จนอียูเกรงว่าจะไปกระทบกับผู้ประกอบการในประเทศ
ที่มา: http://www.depthai.go.th